ชัยชนะของประชาชนในการปฏิวัติต่อการปกครองระบอบซาร์แห่งรัสเซีย

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ในรัสเซีย ค.ศ. 1917

การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 เกิดขึ้นสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิทินเก่า (ช้ากว่าปฏิทินเกเกอเรียนหรือปฏิทินสากล) ซึ่งเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย (Tsar Nicholas II of Russia) และการปฏิวัติครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม (ประมาณเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งเป็นปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคในการสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการปฏิวัติตามทฤษฎีมาร์กซ์

สงครามก่อเกิดการปฏิวัติ

การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เป็นผลสืบเนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วง ค.ศ. 1914-1918 ซึ่งรัสเซียต้องต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี และตุรกี แม้รัสเซียจะมีกองทหารจำนวนมากแต่มีอุปสรรคหลายประการที่ทำให้การรบแนวหน้าไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการขนส่งกำลังสนับสนุนทั้งเสบียงอาหารและอาวุธ ทำให้รัสเซียต้องเพลี่ยงพล้ำจนเกิดความสิ้นหวังในกองทัพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่ได้เป็นคู่แข่งขันทางทหารที่สำคัญของฝ่ายเยอรมนีอีกต่อไป

สงครามส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายรัสเซียถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารและสินค้าถีบตัวสูงขึ้น และจํานวนคนว่างงานก็เพิ่มสูงขึ้นตาม จึงก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านการดื้อดึงจะทำสงครามต่อไป อย่างไรก็ตาม ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงยืนยันที่จะทำสงครามต่อไปและเสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เองในกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1915

ซารีนา อะเล็กซานดรา (Tsarina Alexandra) ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซารีนาทรงเชื่อคําแนะนําของรัสปูติน (Rasputin) ในการแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดของเขาที่ไร้ความสามารถให้ดํารงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทำให้การปกครองยิ่งไร้เสถียรภาพ จึงเริ่มเกิดเสียงเรียกร้องจากสภาดูมาให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลอย่างหนัก นอกจากนั้นยังปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รัสเซียรอดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ภาพการ์ตูนล้อเลียนราชวงศ์โรมานอฟที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูติน

ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลโดยเดินขบวนชุมนุมประท้วงและก่อจลาจลตามเมืองต่าง ๆ เพราะไม่สามารถอดทนกับสภาวะตกงานและอดอยากได้อีกต่อไป กรรมกรกว่า 142,000 ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) จัดชุมนุมในวาระครบรอบเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday ค.ศ. 1905 คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่) ไม่นานการชุมนุมเดินขบวนก็ขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ ฝ่ายปฏิวัติจึงปลุกระดมทางการเมืองและนําไปสู่การเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ค.ศ. 1917

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

ประชาชนชาวรัสเซียไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ทหาร ตำรวจ กรรมกร นักศึกษา ปัญาชน รวมกันชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้ในที่สุด ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ (27 กุมภาพันธ์ตามปฏิทินสากล) เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าพบนายทหารแทรกซึมปะปนกับฝูงชนที่ประท้วงต่อต้านสงคราม ในการนี้อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky) นักกฎหมายและหนึ่งในนักวิชาการที่อยู่ข้างประชาชนได้ฉวยโอกาสในการโจมตีและชี้ให้เห็นโทษของระบอบซาร์

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เริ่มต้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ (3 มีนาคมตามปฏิทินสากล) จากการนัดหยุดงานและชุมนุมใหญ่ของกรรมกรโรงงานพติลอฟ (Puitoy) ซึ่งไม่เพียงเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเปโตรกราด ตามมาด้วยการเดินขบวนของกรรมกรหญิง ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ (8 มีนาคม ตามปฏิทินสากล) จากนั้นก็ตามมาด้วยการนัดหยุดงานจากทุกอาชีพทั่วทั้งประเทศ คนงานหลายพันคนหลั่งไหลไปตามถนนในกรุงเปโตรกราดเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาล

ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียเริ่มใช้มาตรการปันส่วนอาหาร โดยเฉพาะแป้งและขนมปัง ทำให้เกิดข่าวลือเรื่องการขาดแคลนอาหารจึงยิ่งทำให้เกิดการจลาจลที่เกิดขึ้นทั่วกรุงเปโตรกราด แรงงานจากหลายแห่งเริ่ม “สไตร์ค” เพื่อมาร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุม ประชาชนชาวรัสเซียทั้งชายหญิงเดินขบวนชุมนุมเรียกร้องให้ยุติภาวะขาดแคลนอาหาร เรียกร้องให้ยุติสงคราม ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ (9 มีนาคมตามปฏิทินสากล) ก็มีประชาชนมาร่วมชุมนุมกว่า 200,000 คน

รัฐบาลพยายามใช้กองกําลังเพื่อแยกสลายการชุมนุมแต่ยิ่งกลับทำให้เหตุการณ์ปานปลาย มีการชูคําขวัญ “ชาร์จงพินาศ” “สงครามจงพินาศ” และ “ขนมปัง” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ (11 มีนาคมตามปฏิทินสากล) ทหารบางส่วนเริ่มขัดคำสั่งผู้บัญชาการและเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน

ในคืนนั้นซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีพระราชบัญชาให้รีบสลายการชุมนุมประท้วง ฝ่ายรัฐบาลได้จับกุมสมาชิกพรรคบอลเชวิค ทางพรรคบอลเชวิคจึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อต่อต้านระบอบซาร์และเรียกร้องให้สถาปนารัฐบาลปฏิวัติ

อำนาจในระบอบซาร์ล่มสลาย

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ (12 มีนาคม ตามปฏิทินสากล) สมาชิกในสภาดูม่าบางส่วนไม่สามารถทนดูเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการชั่วคราวแห่งสภาดูมาขึ้นมา นำโดย มิคาอิล โรดเซียนโก (Mikhail Rodzianko) ประธานสภาดูมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจรายใหญ่ในมอสโคว์และนายธนาคารในกรุงเปโตรกราด

เวลาต่อมาประชาชนบุกยึดสถานีรถไฟ คลังอาวุธ จุดยุทธศาสตร์ และเผาสถานที่ราชการสําคัญ ๆ ในกรุงเปโตรกราด เช่น ศาลแขวง สำนักงานใหญ่ของหน่วยตำรวจลับ รวมทั้งปลดปล่อยนักโทษการเมืองให้เป็นอิสระ ในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กรุงเปโตรกราดก็ตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายปฏิวัติและมีการจัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหาร (Petrograd Soviet of Worker’s and Soldiers Deputies)

ประชาชนออกมาเผา “สัญลักษณ์” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ (12 มีนาคมตามปฏิทินสากล)

มิคาอิล โรดเซียนโกได้โทรเลขถึงซาร์นิโคลัสที่ 2 ทูลแจ้งเรื่องความวุ่นวายโกลาหลที่เกิดขึ้นในกรุงเปโตรกราดเพื่อขอให้พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารประเทศ แต่พระองค์ไม่สนพระทัยโทรเลขของมิคาอิล โรดเซียนโก และโปรดให้ถอนกําลังบางส่วนจากแนวหน้าไปสมทบ รัฐบาลส่งทหารหน่วยคอซแซค (Cossack) ที่ว่ากันว่าเป็นทหารที่จงรักภักดีต่อซาร์มาควบคุมและปราบปรามประชาชน แต่ทหารกลุ่มนี้เห็นใจชาวรัสเซียและเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนประชาชน สัญลักษณ์ของระบอบการปกครองของซาร์ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ (13 มีนาคมตามปฏิทินสากล) ซาร์นิโคลัสที่ 2 เดินทางออกจากแนวหน้าในสมรภูมิเพื่อมุ่งกลับกรุงเปโตรกราด ในตอนเย็นของวันที่ 1 มีนาคม (14 มีนาคมตามปฏิทินสากล) ซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จฯ โดยรถไฟมาถึงเมือง ปัสคอฟ (Pskov) ในขณะเดียวกันนั้นหน่วยพิทักษ์พระราชวังอะเล็กซานเดอร์ ที่ซาร์สโกเอเซโล (Tsarskoe Selo) ได้ “ประกาศความเป็นกลาง” หรือบางส่วนก็หนีออกจากกรุงเปโตรกราดซึ่งเป็นการละทิ้งราชวงศ์ของซาร์

ฝ่ายปฏิวัติที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการชั่วคราวแห่งสภาดูมาและสภาโซเวียตเปโตรกราดจึงประกาศการสิ้นสุดอํานาจของรัฐบาลซาร์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1917 และปกครองในระบอบสาธารณรัฐ

นิโคไล รุซสกี ผู้นำกองทัพ (Nikolai Ruzsky) วาซิลี โชล์กิน (Vasily Shulgin) และอะเล็กซานเดอร์ กุชคอฟ (Alexander Guchkov) สมาชิกสภาดูมา ถวายคำแนะนำซาร์นิโคลัสที่ 2 ว่าการสละราชย์เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยกอบกู้ประเทศได้ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ให้แก่ชาเรวิช อะเล็กเซย์ (Tsarevich Alexei) พระราชโอรสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม (15 มีนาคมตามปฏิทินสากล) แต่ในเย็นวันเดียวกันนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระทัยและแก้ไขคําสั่งโดยประกาศมอบราชบัลลังก์ให้พระอนุชาแกรนด์ ดุกไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Grand Duke Michael Alexandrovich)

อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมาแกรนด์ดุกไมเคิลทรงปฏิเสธราชบัลลังก์ การปฏิเสธที่จะสืบราชสมบัติของแกรนด์ถูกไมเคิลจึงทําให้ราชวงศ์ โรมานอฟซึ่งปกครองรัสเซียกว่า 300 ปีสิ้นสุดลง ซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์ในเวลาต่อมาทรงถูกจับและกักบริเวณที่พระราชวังอะเล็กซานเดอร์ ที่ซาร์สโกเอเซโล (Tsarskoe Selo) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเปโตกราดประมาณ 27 กิโลเมตร

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปราถนาที่จะให้มกุฎราชกุมารอเล็กซิสขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์ต่อจากพระองค์

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยได้มีการวางแผน และเตรียมการกันมาก่อนสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของประชาชนและนับเป็นการปฏิวัติที่นองเลือดน้อยมาก ข่าวชัยชนะของการปฏิวัติในกรุงเปโตรกราดที่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศทําให้เกิดการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่นครมอสโก ครอนด์สตัดท์ (Kronstadt) และเมืองอื่น ๆ และต่างมีชัยชนะทั้งทําให้นักปฏิวัติรัสเซียที่ลี้ภัยนอกประเทศเร่งรีบกลับสู่รัสเซีย

เมื่อเยอรมนีในเวลาต่อมาได้จัดขบวนรถไฟตู้ปิดให้เลนินและแกนนําของบอลเชวิคอีก 18 คน เดินทางกลับรัสเซียโดยใช้เส้นทางผ่านเยอรมนีและฟินแลนด์ เยอรมนีคาดหวังว่าการกลับเข้าประเทศของเลนินจะช่วยทําให้สถานการณ์ภายในรัสเซียเลวร้ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวรบในสงครามของฝ่ายเยอรมนี เลนินเดินทางถึงรัสเซียในวันที่ 3 เมษายน แล้วเสนอรายงานซึ่งเรียกกันว่า “นิพนธ์เดือนเมษายน” (April Thesis) ว่าด้วยการก้าวจากการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน เลนินชูคําขวัญว่า “สันติภาพ ที่ดิน และขนมปัง” และได้รับความนิยมจากประชาชนสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลังจากนั้นรัสเซียก็ตกอยู่ในสภาวะความผันผวนทางอำนาจ ระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลที่ได้รับการตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการชั่วคราวแห่งสภาดูมากับพรรคบอลเชวิค ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติครั้งที่สองของปี ค.ศ. 1917 ในเดือนตุลาคม (ประมาณเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งเป็นปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคในการสืบทอดเจตนารมแห่งการปฏิวัติตามทฤษฎีมาร์กซ์ และในที่สุดก็นำรัสเซียเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมได้สำเร็จ


อ้างอิง:

สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2555). ทรรปณะประวัติศาสตร์ ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20.  กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.

Russian Revolution of 1917 (2019), from www.britannica.com

1917 February Revolution begins in Russia. (2019), from www.history.com


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 13 ตุลาคม 2562