22 มกราคม 1905 สังหารแรงงานผู้เรียกร้องการปฏิรูป จุดชนวนการปฏิวัติรัสเซีย

บาทหลวงกาปอน ปฏิรูปรัสเซีย จุดชนวน ปฏิวัติรัสเซีย
บาทหลวงกาปอนอ่านร่างฎีกาต่อที่ประชุมแรงงาน (ภาพโดยศิลปินไม่ทราบชื่อในช่วงต้นศตวรรษที่ 20)

22 มกราคม ค.ศ. 1905 สังหารแรงงานผู้เรียกร้องการปฏิรูป จุดชนวน “ปฏิวัติรัสเซีย”

เป็นระยะเวลาหลายปีนับแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวรัสเซียจากหลากหลายกลุ่มได้แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อสภาพสังคมและการเมืองของรัสเซีย โดยเฉพาะการทำสงครามรัสเซียญี่ปุ่น (ปี 1904-1905) นำไปสู่การประท้วง เดินขบวนหรือนัดหยุดงานหลายครั้งเพื่อให้ระบอบกษัตริย์ปฏิรูปการเมืองและสังคม

Advertisement

ในเดือนมกราคม ปี 1905 (พ.ศ. 2448) ได้เกิดการนัดหยุดงานภายใต้การจัดการของหนึ่งในองค์กรแรงงานตามกฎหมายสมัชชาคนงานรัสเซียในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ภายใต้การนำของ บาทหลวงจอร์จี กาปอน (Georgy Gapon) โดยหวังเรียกร้องให้ระบอบซาร์ปรับปรุงสภาพการจ้างงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม และลดระยะเวลาการทำงานต่อวันลง รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยุติสงครามกับญี่ปุ่น

การเดินขบวนของกลุ่มแรงงานนำที่โดย กาปอน มิได้เข้าข่ายเป็นขบวนการปฏิวัติ หรือเป็นกบฏต่อระบอบเดิม บาทหลวงรายนี้ยังเรียกร้องมิให้ผู้สนับสนุนรับฟังความเห็นของฝ่ายปฏิวัติที่ต้องการล้มระบอบกษัตริย์

บาทหลวงกาปอนนำการเดินขบวน โดยหวังยื่นฎีกากับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดยตรง ณ พระราชวังฤดูหนาวในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยได้แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงแผนการดังกล่าวล่วงหน้า

การเดินขบวนประท้วงเป็นไปอย่างสันติ และบรรดาผู้ร่วมการชุมนุมต่างก็ถือสัญลักษณ์ทางศาสนาและภาพของพระเจ้าซาร์นิโคลัส แสดงถึงความศรัทธาในระบอบเดิม โดยหวังว่าพระเจ้าซาร์จะช่วยพวกตนให้พ้นความยากลำบาก

อย่างไรก็ดี พระเจ้าซาร์มิได้พำนักอยู่ในพระราชวังในขณะนั้น และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจ แกรนด์ดยุควลาดิเมียร์ (Grand Duke Vladimir) พระปิตุลาของพระองค์ ได้เข้าขัดขวางการเดินขบวน และสั่งให้เจ้าหน้าที่สาดกระสุนปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย

เหตุดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ทำให้การประท้วงต่อต้านรัฐบาลแพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักร เรียกได้ว่าเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1905 เป็นการจุดชนวน “ปฏิวัติรัสเซีย” จนพระเจ้าซาร์ทรงยอมให้สัญญาว่าจะมอบรัฐธรรมนูญ และได้จัดตั้งสภานิติบัญญัติ (สภาดูมา) ขึ้น แต่สุดท้ายสภาแห่งนี้ก็ถูกยุบไป หลังสภาตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบซาร์ และฝ่ายปฏิวัติก็ถูกกำจัดโดยกองทัพซาร์อย่างทารุณ

การปฏิวัติครั้งแรกของรัสเซีย จึงจบลงด้วยชัยชนะของระบอบซาร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Bloody Sunday”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/event/Bloody-Sunday-Russia-1905>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2561