สมาคมลับคนจีนระดมชัตดาวน์กทม. ผละงานทั่วเมืองล้มหมดท่า จุดจบอั้งยี่ในไทยหลังร.6

เยาวราชในอดีต

ชาวจีนเข้ามาในไทยและตั้งรกรากในสยามกันมาช้านาน ครั้นเมื่อมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์เชื่อว่าเป็นช่วงที่กลุ่มชาวจีนเริ่มตั้งสมาคมลับหรือที่เรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้น และมีบทบาทในประเทศไทยหลายด้าน จนมาถึงช่วง พ.ศ. 2453 ซึ่งเริ่มเข้าสู่จุดเสื่อมของสมาคมลับอันสืบเนื่องมาจากหลายเหตุการณ์ โดยกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อที่ทางของสมาคมลับในไทยคือเมื่อครั้งสมาคมลับรณรงค์ให้คนจีนผละงานทั่วเมืองช่วงกลางปี พ.ศ. 2453

ชาวจีนจากภาคใต้ของประเทศเดินทางอพยพเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 และเชื่อว่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาวจีนเริ่มก่อตั้งสมาคมลับกันแล้ว การศึกษาของศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ชี้ว่า สมาคมลับก่อตั้งอย่างช้าที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352-2367) บทบาทของกลุ่มสมาคมลับดำเนินเรื่อยมาจนถึงช่วงสำคัญคือ พ.ศ. 2452-2453

พ.ศ. 2452 มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกการเสียภาษีผูกปี้ทุก 3 ปี ทำให้ชาวจีนทุกคนต้องเสียภาษีรายหัวประจำปีเหมือนพลเมืองอื่นๆ ในประเทศ ครั้นถึง พ.ศ. 2453 เมื่อชาวจีนรู้ว่าจะต้องเสียภาษีอีกก็เกิดแสดงปฏิกิริยาต่อต้านอย่างมาก วิลเลียม สกินเนอร์ ผู้เขียนหนังสือ “สังคมจีนในไทย” บรรยายว่า ไม่สามารถระบุสาเหตุความไม่พอใจอย่างกระช่างชัด อาจเป็นด้วยว่าถึงกำหนดเวลาที่ชาวจีนต้องเสียภาษีผูกปี้ 3 ปี มาประจวบเหมาะพอดีในปี 2452 หรือเรื่องรายละเอียดเสียภาษีรายหัวไม่เป็นที่แน่ชัดก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่เป็นที่พอใจสำหรับชาวจีน ซึ่งสกินเนอร์ อธิบายว่า คนจีนธรรมดามักมีกรอบมาตรฐานว่าจะต้องเสียภาษีใหม่ ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีละไม่ถึง 1.50 บาทเป็น 6 บาทต่อปี ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการถึงสถานการณ์ บริบทเหล่านี้ทำให้นำมาสู่การแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก

ชัตดาวน์โดยคนจีน (ผละงานทั่วเมือง)

สกินเนอร์ บรรยายว่า พวกหัวหน้าสมาคมลับคิดว่าจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบสนองสมาชิก ผลคือการร่วมมือกันประสานวางแผนปฏิบัติการนัดผละงานในวันที่ 1 มิถุนายน ขณะที่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมก็เริ่มแจกใบปลิวภาษาจีนทั่วกรุงเทพฯ แล้ว เนื้อหาในใบปลิวเรียกร้องให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ส่งคำเตือนถึงพ่อค้าให้ปิดร้าน มิเช่นนั้นจะเจอการปล้นสะดมและวางเพลิง

เมื่อถึงวันที่นัดหมายตามแผนการ สมาชิกสมาคมลับแบ่งเป็นกลุ่มกระจายตัวไปทั่วเมืองและตามจุดสำคัญต่างๆ ย้ำ ข่มขู่ และบังคับให้เป็นไปตามคำเรียกร้อง บรรยากาศช่วงเวลานั้น ร้านค้าของคนจีนต่างปิดกันหมด ทั้งที่ตำรวจและทหารสัญญาว่าจะคุ้มครองสำหรับร้านที่เปิดจำหน่าย การปิดร้านค้าวิสาหกิจและบริการของชาวจีนดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่อาหารเป็นของหายากและราคาแพงไปทันที ขณะที่ธุรกิจและการขนส่งก็ชะงักตามไปด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีการจลาจลร้ายแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เสริมกำลังเข้ามาก็ทำหน้าที่ได้ดี ในช่วงเวลานั้นมีผู้ถูกจับกุมประมาณ 400 ราย ด้วยข้อหาวิวาทในที่สาธารณะ เมื่อมาถึงเย็นของวันที่ 3 ก็เริ่มมีร้านค้าเปิดให้บริการ และในวันที่ 5 ทุกอย่างก็เป็นปกติ

“การผละงานครั้งนี้ประสบความล้มเหลวและเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์สำหรับชาวจีน มันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความหมดท่าของหัวหน้าสมาคมลับ” สกินเนอร์ นิยามเหตุการณ์ครั้งนั้น

ความล้มเหลวครั้งนี้ทำให้เห็นว่าสมาคมลับไม่สามารถใช้อำนาจของตนเข้ากับอำนาจรัฐ แม้ว่าจะขู่และกดดันคนในสังคมจีนได้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม ตามมาด้วยอคติของคนไทยธรรมดาต่อคนจีน และบทเรียนว่าพวกเขาพึ่งพาคนจีนในเรื่องการค้าและธุรกิจได้แค่ไหน เรียกได้ว่า กรุงเทพฯ ไม่เป็นอัมพาตแบบเต็มขั้น เนื่องเพราะมีลูกจ้างบริษัทรถรางและโรงไฟฟ้าเป็นคนไทย เช่นเดียวกับร้านค้าอาหารอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทย

ภาพสะท้อนที่สำคัญจากเหตุการณ์นี้คือ ชาวจีนที่พำนักในสยามส่วนหนึ่งมาเพื่อกอบโกย และไม่ต้องการจ่ายเงินช่วยประเทศไทยตามสัดส่วนที่สมควรจ่าย ซึ่งทำให้ชาวจีนถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรอย่างมาก

หลังจากชาวจีนผละงานไม่กี่เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นเสวยราชสมบัติ และในวโรกาสพิธีราชาภิเษก พ.ศ. 2454 หัวหน้าชุมชนจีนพยายามอย่างมากที่จะลบล้างความล้มเหลวเมื่อครั้งเกิดปฏิบัติการผละงาน ทางราชสำนักถูกขอร้องให้ขบวนแห่เสด็จเลียบพระนครผ่านเข้าไปในย่านคนจีน และจะมีพิธีแสดงความจงรักภักดีของชาวจีน อันจะเน้นว่าลูกหลานคนจีนจำนวนมากกลายเป็นคนไทย รวมถึงตัวแทนของกลุ่มชนมีท่าทียอมรับความยุติธรรมเสียภาษีเท่าเทียมกัน

ท่าทีที่เปลี่ยนไป และการควบคุมของรัฐ

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติการถือสัญชาติไทยฉบับแรก (พ.ศ. 2456-7) ยืนยันหลักการถือสัญชาติตามสายโลหิต อันบ่งชี้ว่า “ทุกคนที่มีบิดาเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเกิดในแผ่นดินไทยหรือเกิดในต่างแดน” ก็เป็นคนไทยทั้งสิ้น และ “คนจีนทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย” มีสัญชาติไทย เท่ากับว่ายุติข้อโต้แย้งเรื่องสัญชาติคนจีนในสยาม

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ปัญหาของอั้งยี่เริ่มเบาบางลง นับตั้งแต่การยกเลิกระบบนายอากรธุรกิจผูกขาด ที่เริ่มราว พ.ศ. 2443 สั่นคลอนเสาทางเศรษฐกิจของหัวหน้าสมาคมที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ รัฐเข้ามาควบคุมการเล่นพนันและการสูบฝิ่น การแย่งชิงกันภายในของชาวจีนเพื่อผูกขาดสิ่งเหล่านี้สิ้นสุดลง

ความมุ่งหมายทางการเมืองของสมาคมลับชาวจีนก็เริ่มเบาบางลง เมื่อราชวงศ์แมนจูถูกโค่นอำนาจลงใน พ.ศ. 2454 สกินเนอร์ อธิบายว่า ความกระตือรือร้นทางการเมือง ความรักชาติ ความรู้สึกไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตนถูกขบวนการจีนชาติช่วงชิงไป ประกอบกับความรับผิดชอบต่อกรณีการผละงานเมื่อ พ.ศ. 2453 ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มปราบปรามและควบคุมอย่างจริงจัง

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล อธิบายนโยบายของรัฐที่ใช้แก้ปัญหานี้โดยคร่าวมี 3 ประการ คือ อนุเคราะห์แก่ชาวจีน, ป้องกันเหตุร้าย และควบคุมการตั้งอั้งยี่ จนในที่สุดสมาคมลับนี้ก็ถูกรัฐบาลล้มล้างในช่วงต้นรัชกาลที่ 6

อย่างไรก็ตาม ในแง่การรวมกลุ่มของชาวจีนก็ไม่ได้หายไป องค์กรสังคมชาวจีนเริ่มเปลี่ยนลักษณะจากการดำเนินงานใต้ดินมาเป็นการดำเนินงานที่ถูกกฎหมายแทนที่บทบาทบางประการที่เป็นของสมาคมลับมาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเป็นการสื่อถึงความเสื่อมของกลุ่มสมาคมลับที่เริ่มเสื่อมทั้งอิทธิพลและอำนาจ ความหมายของคำว่า “อั้งยี่” ในแง่สมาคมลับก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย คำว่า “อั้งยี่” ถูกใช้ในสำนวนไทยโดยไม่ได้หมายถึงสมาคมลับชาวจีนที่มีบทบาทด้านดีและลบ

หลังจากสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา “อั้งยี่” หมายถึง การรวมตัวหรือการสมาคมใดที่ทำการไม่ต้องตามกฎหมาย โดยไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นการรวมตัวของชนชาติใด ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สกินเนอร์, จี วิลเลียม. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. มูลนิธิโตโยต้า, 2548

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล. “สมาคมลับอั้งยี่ ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2528)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2562