พิธีลับอั้งยี่รับสมาชิกใหม่ในไทย ดูความหมายของขั้นตอนพิสดาร ห้ามเล่าให้คนนอก

ชาวจีนในประเทศไทย ชาวจีนก็ใช้ผ้าขาวม้าคาดพุงเช่นกัน (ภาพจาก www.sohu.com)

อั้งยี่ คือชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยแล้วตั้งสมาคมลับ เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มชาวจีนเริ่มตั้งสมาคมลับเหมือนเช่นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงในแผ่นดินจีน แต่อาจมีสาเหตุและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปจากการตั้งสมาคมลับในจีน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลงเหลือไว้คือ พิธีกรรมรับสมาชิกใหม่

ชาวจีนอพยพมาในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24-25 สำหรับประเทศไทย ชาวจีนอพยพเข้ามาจำนวนมากเช่นกัน จากการศึกษาของพรพรรณ จันทโรนานนท์ ระบุว่า ชาวจีนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาในไทยนั้นเข้ามาจากเรือสินค้า และส่วนมากเป็นชาวจีนที่อาศัยทำกินอยู่ในดินแดนทางใต้แถบชายทะเลมาก่อน

ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยตั้งสมาคมลับที่ทางการไทยเรียกว่า “ตั้วเหี่ย” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า “อั้งยี่” ซึ่ง ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล นักวิชาการ บรรยายว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคาดว่า อย่างช้าที่สุดน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352-2367) หากพิจารณาตามเอกสารรายงานของเจ้าหน้าที่อังกฤษในเกาะปีนัง ซึ่งรายงานว่า ประมาณ 2342 ชาวจีนในปีนังมีสมาคมลับของตนแล้ว

สมาคมเริ่มเคลื่อนไหวในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นสลายตัวในตอนปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มสมาคมที่ว่านี้มีช่วงชีวิตยาวนานต่อเนื่องเกือบ 90 ปี และส่งผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยสมาคมอั้งยี่ในไทยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนจีนด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มักเกี่ยวพันกับอาชีพที่ผิดกฎหมาย และหลายครั้งที่แต่ละกลุ่มก็ต่อสู้กันเอง

รายละเอียดเกี่ยวกับสมาคมอั้งยี่มีนักวิชาการศึกษามากมาย แต่ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ยังคงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักคือข้อมูลเรื่องพิธีกรรมในการรับสมาชิกใหม่ซึ่งเรียกกันว่า “การเข้าอั้งยี่” ด้วยเหตุผลว่า ระเบียบของสมาคมระบุชัดเรื่องห้ามบอกเล่าเรื่องราวและพิธีกรรมของกลุ่มให้ผู้ใดทราบ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้มีไม่มากนัก

เอกสารของทางการจากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ซึ่งระบุถึงเรื่องนี้ บรรยายเกี่ยวกับพิธีกรรม “การเข้าอั้งยี่” ว่า

“…ข้าพเจ้า (จีนโป๊) ก็ยกโต๊ะไปตั้งนอกโรงกลางแจ้ง เอาถังใส่ข้าวสาร เอาชามใส่น้ำมันตามตะเกียงไว้กลางถังข้าวสาร ตั้งไว้บนโต๊ะ เอาถังใส่น้ำ เอาไก่มาเชือดคอเอาโลหิตปนกับสุรา เทลงในถังน้ำ ตั้งไว้หน้าโต๊ะถังหนึ่ง แล้วให้จีนยืนถือดาบ 2 คนเอาปลายดาบจดกันไว้เป็นประตู จีนสินทองเป็นตั้วเหี่ย (ตั้วเฮีย – หัวหน้าใหญ่ของสมาคม) ข้าพเจ้าเป็นยี่เหี่ย (ยี่เฮีย – รองหัวหน้าหรือหัวหน้าสาขา) จีนฮกเกาแต้จิ๋วแซ่อึ้ง เป็นเฉาเอย 1 (เฉาเอ๊ย – เจ้าพนักงานทั่วไป)

แล้วจีนสินทองตั้วเหี่ยจุดธูปลอดประตูดาบไปก่อน เอาธูปปักไว้ที่ถังข้าวสาร ไปยืนอยู่ข้างโต๊ะข้างหนึ่ง แล้วยี่เหี่ย ซาเหี่ย เฉาเอยลอดประตูดาบตามตั้วเหี่ยเข้าไปไหว้ตรงถังข้าวสารตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วไหว้ตั้วเหี่ยด้วย พวกที่เข้าตั้วเหี่ยลอดประตูดาบเข้าไปไหว้ถังข้าวสาร ไหว้ตั้วเหี่ย ยี่เหี่ย ซาเหี่ย เฉาเอย ด้วยกันทุกคน

แล้วเอาถ้วยตักสุรากับน้ำเลือดไก่ปนกันในถัง กินคนละถ้วยทุกคน จีนที่ยืนถือดาบเป็นประตูนั้นร้องว่าให้ซื่อ ให้สัตย์ต่อกัน ถ้าไม่ซื่อ ไม่สัตย์ต่อกัน ให้คอขาดตาย เหมือนไก่ ได้คน 200 คน เศษ…”

ขณะที่เอกสารจากรายงานของพระอธิกรณ์ประกาศ อีกแห่งหนึ่งบรรยายว่า

“…อนึ่งการเข้าอั้งยี่ก่อนๆ มีข้อพิสดารมาก มีฆ่าไก่ มีเขา แลซักถามกันเป็นกฤษณา (ปริศนา) หลายอย่าง ความในข้อนี้เหลือที่จะชี้แจงโดยละเอียดได้ โดยผู้เข้าอั้งยี่ต้องคำสาบานไม่บอกกล่าวผู้ใด ข้าพเจ้า (พระอธิกรณ์ประกาศ) ได้ทราบเป็นเค้าๆ เท่านั้น….”

หรือในเรื่องที่ระบุเกี่ยวกับ “อ้ายชิก” ในวิธีเข้าอั้งยี่ เรียบเรียงโดย พลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จากการสอบถามจีนย่องหลี หัวหน้าอั้งยี่เก่าในชลบุรี สมัยรัชกาลที่ 5 ว่า

“…วิธีเข้าอั้งยี่ 1) ต้องลงชื่อ แลแซ่ วันเดือนปี แลตำบลที่เกิด

2) ตงกุนถือธงพาเดินรอบที่ทำพิธี แลไปมอบให้ซินแส

3) ต้องสาบานทุกประตูที่เข้า (ประตูมีคนยืนถือมีดคู่ ประมาณ 2 คนทำท่าจะฟันคอ)

4) แทงปลายนิ้วกลางมือซ้าย เอาเลือดปนสุรา กินคนละจิบ

5) แล้วลอดโต๊ะ (หมายความว่าออกจากท้องพ่อแม่เดียวกัน)

6) ข้ามกองไฟ (หมายความว่าเกิดใหม่)

7) ข้ามสะพาน (มีอิฐหรือหิน 3 ก้อนวางเหยียบไป)

8) ไปฟันไก่ (ไก่ หมายความแทน อ้ายชิก ฟัน หมายความว่า ฟันอ้ายชิก อ้ายชิกคนนี้มีประวัติว่าเอาความลับอั้งยี่ไปเปิดเผย (หมายถึงความลับของสมาคมความกลมกลืนแห่งองค์สามในประเทศจีน) ภายหลังจับได้จึงตัดศีรษะเสีย แล้วเอามาทำให้เห็นว่าถ้าใครทำผิดอย่างอ้ายชิก จะต้องถูกลงโทษเหมือนอ้ายชิก) [อ้างอิงเรื่องอ้ายชิก ใน “ตำนานประวัติความเป็นมาของสมาคมความกลมกลืนแห่งองค์สาม”]

9) แล้วอ่านประกาศแสดงความประสงค์ของคณะอั้งยี่ให้ฟัง…”

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล อธิบายว่า แบบแผนโดยคร่าวเกี่ยวกับการเข้าอั้งยี่ในไทยคล้ายกับ พิธีกรรมรับสมาชิกใหม่ ของสมาคมความกลมกลืนแห่งองค์สาม (The Triad Society San Ho Hui) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พวกกบฏล้มล้างราชวงศ์ชิงก่อตั้งในจีน เพื่อเป็นแกนกลางต่อต้านราชวงศ์ชิงอย่างลับๆ เมื่อ พ.ศ. 2217

สมาคมแห่งนี้มีสาขากระจายในหลายแห่งของจีน โดยเฉพาะในมณฑลทางใต้ แต่เชื่อว่าลักษณะพิธีในไทยตัดทอนรายละเอียดบางอย่างออกเพื่อความสะดวก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หวญ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เลขที่ 155 จ.ศ. 1210.

หจช. ร.5 น.33/71 รายงานพระอธิกรณ์ประกาศที่ 341/125, 5 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124.

หจช. ร.6 ม.8/3 อั้งยี่มณฑลปราจีนบุรี (พ.ศ. 2485) วิธีเข้าอั้งยี่ เรียบเรียงโดยพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สอบถามจากจีนย่องหลี หัวหน้าอั้งยี่เก่าในเมืองชลบุรี สมัยรัชกาลที่ 5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562