“ตั้วเหีย”-“อั้งยี่” ในสยามมาจากไหน? จากพระนิพนธ์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ชายชาวสยามกำลังดื่มด่ำอยู่กับพิษของฝิ่นที่กำลังออกฤทธิ์

มีบันทึกเกี่ยวกับพวก ตั้วเหีย หรือ อั้งยี่ ไว้ว่าเป็นชาวจีนที่ตั้งสมาคมลับปรากฏมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อย่างไรก็ตาม พวกตั้วเหียยังคงก่อความวุ่นวายในสยามเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ข้อความในที่นี้คัดมาจาก “พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


 

เรื่องจีน ตั้วเหีย เป็นเรื่องที่เกิดในรัชกาลอื่น มีกรณีสืบต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 5 และยังจะปรากฏกลายเป็นเรียกว่า อั้งยี่ มีเรื่องในตอนหนึ่งอีก แต่มูลเหตุที่เกิดตั้วเหียและอั้งยี่ในประเทศสยามยังไม่เห็นอธิบายในหนังสืออื่น จึงได้ตรวจเรื่องเดิมเก็บเนื้อความมาเรียบเรียงลงไว้ในหนังสือนี้ พอให้ผู้อ่านทราบเหตุการณ์ในเรื่องตั้วเหียและอั้งยี่ชัดเจนขึ้น

อันคำที่เรียกกันแต่ก่อน “ตั้วเหีย” ก็หมายความอย่างเดียวกับที่เรียกกันภายหลังว่า “อั้งยี่” นั้นเอง คือสมาคมลับซึ่งพวกจีนคิดตั้งขึ้น เรื่องตำนานของสมาคมนั้นมีปรากฏทางเมืองจีนว่า

จำเดิมแต่ประเทศจีน ต้องตกอยู่ในอำนาจของพวกเม่งจูตั้งแต่ พ.ศ. 2187 มา ก็มีพวกจีนเข้าเป็นสมาคมลับ เพื่อจะพยายามกำจัดพวกเม่งจู แล้วเชิญเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ไต้เหมง อันเป็นกษัตริย์จีนขึ้นครองแผ่นดินดังเก่า การที่พวกจีนตั้งสมาคมลับ ชั้นเดิมมีแต่ในเมืองจีน เพราะเหตุเป็นดังกล่าวต่อนานมา พวกจีนที่อยู่ในประเทศอื่น จึงเอาแบบสมาคมนั้นไปตั้งขึ้นในประเทศอื่น ด้วยเหตุอย่างอื่น และความประสงค์เป็นอย่างอื่น หาได้เกี่ยวแก่เรื่องกำจัดพวกเม่งจูไม่

ประเทศสยามนี้ จีนนิยมกันแต่ไรมา ว่าเป็นที่หาทรัพย์ได้ง่าย ทั้งรัฐบาลและชาวเมืองก็ไม่รังเกียจจีน เพราะฉะนั้นพวกจีนชาวเมืองทางฝ่ายใต้ที่อัตคัดขัดสน จึงมักพากันมาหากินในประเทศสยาม ที่มาหาทรัพย์สินพอแก้อัตคัดได้แล้วกลับไปก็มี บางคนมาได้ความสุขสบายเกินคาดหมาย เลยทิ้งเมืองจีนมาตั้งภูมิลำเนาเป็นชาวสยาม ได้ไทยเป็นภรรยา เกิดลูกหลานในเมืองไทยก็มี จีนในประเทศสยามจึงผิดกันเป็น 2 ชนิด

๑ พ่อค้าข้าวชาวจีน, ๒ ย่านการค้าบริเวณถนนเจริญกรุง และเวิ้งนาครเขษม ในสมัยรัชกาลที่ ๕, ๓ โรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน คอยรับซื้อข้าวที่ล่องมาทางเรือ, ๔ ร้านค้าชาวจีนในย่านสำเพ็ง

คือจีนซึ่งแรกไป ๆ มา ๆ ไม่อยู่ประจำ เรียกว่า “จีนใหม่” ชนิดหนึ่ง จีนซึ่งมาตั้งภูมิสถานอยู่ในประเทศสยามเป็น “จีนเก่า” ชนิดหนึ่ง ก็ธรรมดาของชนชาติจีนนั้นย่อมมีอุปนิสัยฉลาดในการหาทรัพย์สินยิ่งกว่าคนไทย หรือจะว่าฉลาดในการนั้นยิ่งกว่ามนุษย์ชาติอื่น ๆ หมดก็ว่าได้ จีนที่เข้ามาอยู่เป็นชาวสยามจึงมักได้เป็นคฤหบดีหรือแม้อย่างต่ำ ก็สามารถทำมาหากินเป็นอิสระแก่ตนได้โดยมาก พวกจีนที่เข้ามาใหม่ ยังไม่รู้เบาะแสและขนบธรรมเนียมบ้านเมือง ก็อาศัยหากินกับพวกจีนเก่า จึงมีจีนทั้งสองอยู่ด้วยกันทุกตำบลที่จีนตั้งทำมาหากิน ทั้งที่ในกรุงเทพและหัวเมือง เป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ

การที่จีนตั้งสมาคมลับเป็นตั้วเหียในประเทศสยาม ปรากฏขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 พิเคราะห์ดูเหตุการณ์ในสมัยนั้น เหตุว่าน่าจะเป็นด้วยเรื่องรัฐบาลจับฝิ่น เป็นมูลเหตุให้พวกจีนตั้วเหีย คือเดิมพวกจีนเอาฝิ่นเข้ามาสูบ แล้วพาให้ไทยแอบสูบฝิ่นขึ้นบ้าง จึงมีพระราชกฤษฎีกาตั้งไว้แต่โบราณ ห้ามมิให้ใครสูบปิ่นหรือเอาฝิ่นเข้ามาในประเทศสยาม แม้เช่นนั้นจีนก็ยังลักลอบเอาฝิ่นเข้ามา และไทยที่สูบฝิ่นก็มีอยู่เสมอ แต่ไม่สู้มาก

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อทางเมืองจีนเกิดมีพวกฝรั่งกับจีนคบคิดกันค้าฝิ่นแพร่หลาย พวกจีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย เป็นคนสูบฝิ่นติดมาจากเมืองจีนมากขึ้น หรือถ้าพูดกันอีกนัยหนึ่ง คือความต้องการฝิ่นเกิดมีมากขึ้นในประเทศนี้ ก็มีจีนเอาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เลยเป็นปัจจัยชักจูงให้ไทยทั้งที่บรรดาศักดิ์สูงและต่ำพากันสูบฝิ่นมากขึ้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับพวกค้าฝิ่น เอาตัวมาลงพระราชอาญา กวดขันตั้งแต่ปีกุน พ.ศ. 2382

ก็แต่ธรรมดา การสูบฝิ่นนั้นเมื่อสูบติดแล้วยากที่จะละได้ และการค้าฝิ่นพวกจีนก็ได้กำไรมาก ครั้นมีการตรวจจับกวดขัน จะเอาฝิ่นซ่อนในเรือสำเภามาในกรุงเทพฯ ไม่ได้สะดวกดังแต่ก่อน จีนจำพวกที่ค้าฝิ่นก็ไปคบคิดกับพวกจีนซึ่งออกไปตั้งหากินอยู่ตามหัวเมือง ทางปากอ่าวและชายทะเล ให้เป็นลูกช่วงรับฝิ่นขึ้นจากสำเภาตามชายทะเลแล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ

สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น

การที่ทำอย่างนั้น จำต้องลักลอบซ่อนเร้น และต้องมีสมัครพรรคพวกที่ไว้วางใจช่วยกันทุกระยะทาง จึงเอาวิธีตั้วเหียมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับสำหรับค้าฝิ่น หัวหน้ามักเป็นจีนเก่า มีจีนใหม่เป็นพรรคพวกมากบ้างน้อยบ้างทุกแห่ง

ครั้นตั้วเหียมีกำลังมากขึ้นก็กำเริบ บางแห่งเลยประพฤติเป็นโจรสลัด ตีเรือและปล้นสะดม บางแห่งก็ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งไปตรวจจับฝิ่นจนเป็นการใหญ่โต ถึงต้องรบกันที่เมืองนครไชยศรี เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2390 ครั้นหนึ่งและในปีต่อมาพวกจีนตั้วเหียที่เมืองฉะเชิงเทรากำเริบ ถึงเป็นกบฏยิงผู้ว่าราชการเมืองตาย แล้วเข้ายึดป้อมไว้เป็นที่มั่น ต้องยกกองทัพออกไปปราบปราม แต่การปราบปรามครั้งนั้น ฆ่าจีนเสียมาก แต่นั้นพวกจีนตั้วเหียก็เข็ดขยาด ไม่กล้าสู้อำนาจรัฐบาล เป็นการสงบมาคราวหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2545). พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2562