ผู้เขียน | พล อิฏฐารมณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การชู “นิ้วกลาง” โดยกำนิ้วที่เหลือไว้ ถือเป็นสัญลักษณ์แทนองคชาติซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน รวมถึงในประเทศไทยซึ่งรับเอาวัฒนธรรมดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงหลายสิบปีมานี้ แต่สัญลักษณ์นี้ถูกใช้มานานแล้วในพื้นที่อื่นๆ ของโลก
“มันถือเป็นหนึ่งในท่าทางแห่งการดูหมิ่นที่เก่าแก่ที่สุด… นิ้วกลางคือองคชาติ และนิ้วที่งอทั้งสองด้านคือลูกอัณฑะ การที่คุณทำแบบนี้เป็นการแสดงสัญลักษณ์ขององคชาติต่อผู้อื่น เพื่อสื่อว่า นี่คือองคชาติที่คุณมอบให้กับพวกเขาซึ่งเป็นการแสดงออกที่มีความเก่าแก่มากๆ” เดสมอนด์ มอร์ริส นักมานุษยวิทยา ว่าไว้
ย้อนไปสมัยโรมัน นิ้วกลาง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “digitus impudicus” หรือ นิ้วแห่งความหยาบคาย ไร้ยางอาย โดย มาร์เทียล (Martial) นักประพันธ์ในศตวรรษที่หนึ่ง เคยเขียนให้ตัวละครของเขาชูนิ้วกลางใส่หมอมาแล้ว และ ทาชิตุส (Tacitus) นักประวัติศาสตร์ของโรมันก็เคยบันทึกว่า ชนเผ่าเยอรมันได้ชูนิ้วกลางให้ทหารโรมันที่กำลังเคลื่อนทัพเช่นกัน
ก่อนหน้านั้นในยุคกรีก เมื่อราวสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล อริสโตฟาเนส (Aristophanes) ได้เขียนบทละครคอเมดี (Comedy) เรื่อง The Clouds โดยให้หนึ่งในตัวละครของเขานับจังหวะดนดรีด้วยการใช้นิ้วกลางและอวัยวะเพศของตน
คาดกันว่า การใช้นิ้วกลางเผยแพร่เข้าสู่ทวีปอเมริกาพร้อมกับผู้อพยพชาวอิตาลี มีบันทึกการใช้นิ้วกลางเก่าแก่ที่สุดย้อนไปถึงปี 1886 เมื่อพิชเชอร์ (มือขว้างเบสบอล) ของทีมบอสตันบีนีตเตอร์ส (Boston Beaneaters) ชูนิ้วกลางขึ้นมาระหว่างการถ่ายรูปหมู่ร่วมกับนิวยอร์กไจแอนท์ (New York Giant)
อย่างไรก็ดี ไอรา รอบบินส์ (Ira Robbins) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยอเมริกันในวอชิงตันดีซี ซึ่งศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของการแสดงออกของท่าทางกับอาชญวิทยาในทฤษฎีทางกฎหมาย ก็บอกว่า ทุกวันนี้นิ้วกลางมิได้สื่อถึงอวัยวะเพศหรือการดูหมิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อต้าน ประท้วง หรือแสดงถึงความตื่นเต้น สะใจ จนทำให้มันแทบไม่เหลือความหมายที่แจ่มชัด และบางคนไม่ถือว่ามันเป็นสิ่งที่หยาบโลนอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม:
- ทำไมเปรียบ “หม้อ” เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง หรือแท้จริงแฝงนัยยะการกดทับทางเพศ?
- ข้อสันนิษฐาน สำนวน “นกสองหัว” มาจากตราแผ่นดินของรัสเซีย หรือสัญลักษณ์ของฟอลคอน?
อ้างอิง :
“When did the middle finger become offensive”. BBC. Online. <http://www.bbc.com/news/magazine-16916263>
ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อ 30 มีนาคม 2562