ก่อนยุคอั้งยี่ มีจีน “ตั้วเหี่ย” วิวาท-ปล้นชิง ก่อเรื่องวุ่นวายใหญ่โตสมัยรัชกาลที่ 3

ภาพพ่อค้าชาวจีน (ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย)

ตั้วเหี่ย เป็นคำที่ชาวจีนคุ้นหูกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปรากฏหลักฐานความวุ่นวายอันเกิดจากกลุ่มชาวจีนที่รวมตัวกันปล้นสะดม คุกคามเรือสินค้าและชุมชนต่าง ๆ ในดินแดนสยาม มีระดับความรุนแรงถึงขั้นทางการต้องส่งกำลังเข้ามาปราบปราม โดยขณะนั้นยังไม่มีนิยามคำว่า “อั้งยี่” หรือ อั้งยี่ซ่องโจร แต่อย่างใด โดยชาวจีนเหล่านี้มีผู้นำคือ “ตั้วเหี่ย” อันเป็นชื่อตำแหน่ง

สถานการณ์ความวุ่นวายดังกล่าว นนทพร อยู่มั่งมี กล่าวไว้ใน “ล้อมกรอบ ล้อมปราบ เผาบ้านเผาเมือง จลาจลโรงน้ำตาล : กรณีจีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา สมัยรัชกาลที่ 3” จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2554 ดังนี้


 

ชาวจีนที่อพยพเข้าไปในต่างถิ่นมักมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การป้องกันภัยให้แก่กลุ่ม การช่วยเหลือสงเคราะห์กันในยามเกิดภัยพิบัติ ไปจนถึงการต่อต้านขุนนางท้องถิ่นและเจ้าที่ดินซึ่งกดขี่ข่มเหง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมื่ออยู่ในประเทศจีนซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล อำนาจของรัฐบาลกลางไปไม่ถึง ราษฎรชาวจีนจึงจำเป็นต้องดูแลตนเองและพวกพ้องภายในกลุ่ม และคงลักษณะเช่นนี้ยามเมื่อยู่ต่างแดน [30]

ชาวจีนในไทยก็มีการรวมกลุ่มกันตามชาติพันธุ์และภาษาอันบ่งบอกถึงถิ่นฐานที่จากมาทั้ง จีนกวางตุ้ง และไหหลำ และแต้จิ๋ว โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือระหว่างกันในหมู่แรงงานเป็นหลัก และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า “ตั้วเหี่ย” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “ตั้วก่อ” ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า “พี่ใหญ่” ซึ่งคำนี้ใช้กันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำ “อั้งยี่” ในสมัยรัชกาลที่ 5 [31]

บรรดากลุ่มตั้วเหี่ยในสมัยรัชกาลที่ 3 มักกระจายอยู่ตามพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำดังกล่าวมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ ดังนั้นจึงพบว่า ปัญหาที่เกิดจากจีนตั้วเหี่ยมักเกิดในบริเวณเหล่านี้

การที่วัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การเน้นการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มพวกพ้องอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของภาครัฐ เนื่องจากหลายครั้งจีนตั้วเหี่ยดำเนินการไปเพื่อปกป้องผลกระโยชน์ของกลุ่มตนจนกระทบกระทั่งกับกลุ่มอื่น กลายเป็นการวิวาทระหว่างกันทำให้ทางการต้องปราบปราม เช่นกรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2367 ที่เมืองจันทบุรี เกิดการวิวาทระหว่างจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว [32]

อีกหลายครั้งจีนตั้วเหี่ยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ดังในปี พ.ศ. 2385 เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองนครชัยศรีและเมืองสาครบุรี มีสมัครพรรคพวกประมาณ 1,000 คน เที่ยวตีชิงเรือลูกค้า และเมื่อปี พ.ศ. 2388 จีนตั้วเหี่ยบริเวณหัวเมืองตะวันตกรวมตัวกันเป็นโจรสลัดตีชิงเรือลูกค้าสัญจรระหว่างเมืองปราณบุรี ถึงเมืองหลังสวนจนไม่มีเรือลำใดกล้าแล่นผ่านบริเวณนี้ แต่ภายหลังทั้ง 2 กลุ่มถูกทางการปราบปรามในที่สุด [33]

ขณะเดียวกันปัญหาการค้าฝิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บรรดาจีนตั้วเหี่ยเข้าไปพัวพัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของแรงงานชาวจีน ทางราชการได้ปราบปรามอย่างหนักดังในปี พ.ศ. 2382 มีการยึดฝิ่นจากหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกจำนวนกว่า 3,700 หาบ ก่อนส่งมาเผาทำลายทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อีกทั้งทางการได้ปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่ค้าฝิ่นด้วย เช่น การปราบปรามกลุ่มชาวจีนที่ปากน้ำบางปะกงเมื่อปี พ.ศ. 2387 และในปี พ.ศ. 2390 เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรี ครั้งนั้น พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นแม่ทัพถูกปืนถึงแก่อนิจกรรม ส่วนฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกปราบปรามอย่างราบคาบเสียชีวิตกว่า 300 คน [34]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[30] ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล. สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453. น. 39.

[31] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. (พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2511), น. 263.

[32] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. น. 5.

[33] เรื่องเดียวกัน, น. 107, 116-117.

[34] เรื่องเดียวกัน, น. 81, 114, 127-129.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2566