ย้อนอดีต จลาจลจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา สมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนล้มตายกว่า 3,000

ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดขึ้นโดยมีชาวจีนเป็นจักรกลสำคัญ แต่เวลาเดียวกันทางการต้องประสบปัญหาจากบรรดาจีนตั้วเหี่ยเกือบตลอดรัชกาล และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. 2391 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่าครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ข้อมูลของเหตุการณ์นี้พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ระบุว่า อ้ายจีนเสียงทอง จีนบู๊ คบคิดกันตั้งตัวเป็นจีนตั้วเหี่ยเข้าปล้นเมืองฉะเชิงเทรา สังหารพระยาวิเศษฦๅไชย เจ้าเมืองตายในที่รบ ก่อนจีนกลุ่มนี้จะถูกทางการปราบปรามในที่สุด [35] โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุของเหตุการณ์ไว้ แต่จากวิทยานิพนธ์ของ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล เรื่อง สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453 อาศัยข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 [36] ช่วยเติมเต็มลำดับเหตุการณ์จากพระราชพงศาวดารให้สมบูรณ์มากขึ้น

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเมืองกาย อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดเสรีทางการค้าของกรุงสยามที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากชนวนความบาดหมางระหว่างจีนเสียงทองและแขวงจันเมื่อปี พ.ศ. 2390 ครั้งนั้นอำแดงส้มจีนจัดงานศพนายเที่ยงสามี จีนเสียงทองเอาคณะงิ้วไปแสดงช่วยในงาน เมื่อชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทราทราบข่าวจึงพากันไปดูงิ้ว ขณะเดินทางมาถึงหน้าบ้านแขวงจัน จะข้ามสะพานตรงไปยังวัด บริวารของแขวงจันออกมาชักไม้กระดานสะพานออกเสีย พวกคนจีนไม่ยอมจึงพากันไปหยิบไม้มาทอดสะพานข้ามอีกครั้ง แต่บริวารของแขวงจันรีบเข้ามาแย่งไม้กระดานนั้นจนเกิดการวิวาทกันขึ้น เหตุการณ์สงบลงเบื้องต้นเนื่องจากหลวงยกกระบัตรซึ่งเข้ามาช่วยงานศพได้มาไกล่เกลี่ยจนเลิกรากันไป

ต่อมานายลอย บุตรแขวงจันเข้าฟ้องร้องต่อพระยาวิเศษฦๅาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวหาจีนเสียงทองและพรรคพวก 2 ประการ คือ จีนเสียงทองและพรรคพวก 60 คน วิวาททุบตีพวกแขวงจัน อีกทั้งจีนเสียงทองและพรรคพวกเป็นตั้วเหี่ยมีสมาชิกประมาณ 190 คน ส่วนทางฝ่ายพระยาวิเศษฦๅไชย มีคำสั่งให้จับจีนเสียงทองและพรรคพวกอีก 100 คน แต่จีนเสียงทองไม่อยู่ จึงส่งหลานชายมาแทน ในบรรดาชาวจีนที่ถูกจับนั้นบางคนไม่ได้รู้เห็นกับการวิวาทเลย ปรากฏว่าพระยาวิเศษฦๅไชยและกรมการกลับใช้อำนาจเรียกขู่เอาเงินจากชาวจีนที่ถูกจับมาคนละ 5-10 ตำลึง ชาวจีนที่เสียเงินให้ก็จะถูกปล่อยตัว ส่วนที่ไม่มีเงินจะเสียก็ถูกจำตรวนกักขัง จีนเสียงทองต้องเสียเงินจากคดีครั้งนี้ไปถึง 4 ชั่ง [1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตำลึง หรือ 80 บาท – กองบก. ออนไลน์] จึงยุติคดี 

จีนเสียงทองและพรรคพวกโกรธแค้นการกระทำของพระยาวิเศษฦๅไชยจึงไปเกลี้ยกล่อมชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าร่วมต่อต้านขุนนางเหล่านี้ ดังในคำพูดกล่าวว่า “กรมการข่มเหงหนักเหลือทน จะเป็นตายอย่างไรก็ตามทีเถิด เรามาคิดกันทำตั้วเหี่ยหาพวกให้มาก เล่นกับกรมการสักครั้งหนึ่ง” ปรากฏว่าจีนเสียงทองสามารถชักชวนจีนทุกกลุ่มภาษาในเมืองฉะเชิงเทราทั้งจีนแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ มาเป็นกำลังของตน หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการทันที

ตอนเช้าวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน  พ.ศ. 2391 จีนเสียงทองให้จีนลูกน้องคนสนิทคุมชาวจีนประมาณ 540 คน เข้าตีโรงน้ำตาลของหลงจู๊ฮี สังหารจีนฮอซึ่งมีตำแหน่งทางราชการที่ขุนกำจัดจีนพาล และเป็นพี่ชายของหลงจู๊ฮี และตอนเย็นของวันเดียวกันจีนเสียงทองสั่งให้จีนเอียง จีนตู จีนบู๊ จีนเสง และจีนซุนเตีย เป็นหัวหน้าคุมกำลังพลจำนวน 1,200 คน เข้าตีเมืองฉะเชิงเทรา ในเวลานั้นพระยาวิเศษฦๅไชยกับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ติดราชการที่เมืองกระบิล เหลือแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองไว้แต่แพ้พวกจีนตั้วเหี่ยจึงหลบหนีทิ้งเมืองไป

ภาพพ่อค้าชาวจีน (ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย)

เมื่อจีนตั้วเหี่ยเข้าเมืองได้แล้วก็จุดไฟเผาบ้านหลวงยกกระบัตร กรมการ และเผาบ้านเรือนราษฎรอีกหลายหลัง จากนั้นหัวหน้าจึงจัดกองลาดตระเวนทั้งสี่มุมเมือง พอวันรุ่งขึ้นจีนเสียงทองได้เข้าเยี่ยมบรรดาลูกน้องของตนพร้อมกับให้จัดกองกำลังไปป้องกันเมืองด้านนอก บริเวณบ้านบางคล้าและบ้านสนามจัน และสั่งให้จีนบู๊นำปืนใหญ่จำนวน 35 กระบอก มาติดตั้งบนกำแพงเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังส่งลูกน้องที่เหลือไปประจำการตามโรงหีบอ้อยต่าง ๆ นอกกำแพงเมือง ไม่เพียงเท่านั้น จีนเสียงทองยังมีแผนการที่จะหาคนมาเพิ่มขึ้นอีก จากนั้นจะไปตีเมืองชลบุรีเพื่อใช้เป็นทางหลบหนีออกท้องทะเลหากทางกรุงเทพฯ ส่งกองทัพมาปราบปราม

การบุกโจมตีเมืองครั้งนี้ราษฎรชาวไทยหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ตามป่าเป็นอันมาก แต่มีราษฎรบางส่วนที่บ้านไทรมูลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา นำกำลังเข้าโจมตีจีนตั้วเหี่ย สามารถเผาโรงน้ำตาลของหลงไตและหลงจู๊ตั้วเถา จนกระทั่งพวกจีนบริเวณนี้บ้างต้องหลบหนีไปอยู่ในเมือง บางส่วนก็หลบหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของเมือง

ทางฝ่ายรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มีคำสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นติดราชการที่เมืองสาครบุรีดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งให้พระอินทรอาสา เจ้าเมืองพนัสนิคม นำไพร่พลล่วงหน้าไปก่อนและได้ปะทะกับฝ่ายของจีนเสียงทอง และสามารถขับไล่พวกจีนเหล่านี้ได้พร้อมกับเผาโรงงานน้ำตาลบางส่วนของพวกจีนตั้วเหี่ยไปด้วย แต่ทางทัพของพระอินทรอาสาก็ถูกฝ่ายหลงจู๊อะหนึ่งในจีนตั้วเหี่ยนำกำลังเข้าโจมตีจนต้องถอยหนีไปตั้งมั่นที่โคกพนมดีที่เมืองพนัสนิคม ส่วนทางฝ่ายจีนเสียงทองได้เตรียมรับมือกองทัพของทางการด้วยการขุดสนามเพลาะในเขตเมืองฉะเชิงเทรามีความยาวประมาณ 10 เส้น [1 เส้นยาวเท่ากับ 40 เมตร – กองบก.ออนไลน์] พร้อมทั้งตระเตรียมอาวุธเป็นอย่างดี

ต่อมากองทัพของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกออกจากเมืองสาครบุรีในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 มาถึงนอกเมืองฉะเชิงเทราอีก 2 วันต่อมา และเข้าปราบปรามจีนตั้วเหี่ยจนแตกทัพกระจัดกระจาย ทำให้จีนเสียงทองหาทางผ่อนหนักเป็นเบาด้วยการซัดทอดความผิดให้จีนบู๊ว่าเป็นตัวการแต่ผู้เดียว ดังนั้นตอนเย็นของวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 จีนเสียงทองกับพรรคพวกจึงจับกุมจีบู๊นที่เมืองฉะเชิงเทรา แล้วนำมากักขังที่โรงน้ำตาลของหลงจู๊โป๊ที่บ้านใหม่

วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จีนเสียงทองได้วานให้ท่านหญิงหุ่น ภรรยาพระศรีราชอากร มากราบเรียนต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า จะนำตัวจีนบู๊ตั้วเหี่ยใหญ่มาให้ลงโทษ ภายหลังจีนเสียงทองได้นำจีนบู๊มาส่งมอบให้ตามที่กล่าวไว้ เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) คุมตัวจีนบู๊ พร้อมกับจับกุมจีนตั้วเหี่ยระดับหัวหน้าคือ จีนเสียงทอง หลงจู๊โป๊ หลงจู๊ตัด หลงจู๊ยี่ หลงจู๊ชี ลงเรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยาพระคลังคงอยู่ในพื้นที่เพื่อปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่หลบซ่อนอยู่ต่อไป

ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากราชการทางเมืองเขมรได้ผ่านมายังเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 จึงช่วยเจ้าพระยาพระคลังปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ส่วนพระยาวิเศษฦๅไชยซึ่งไปราชการที่เมืองกระบิล ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็รีบเดินทางมาช่วยปราบจลาจล และถูกพวกจีนตั้วเหี่ยสังหารระหว่างการสู้รบที่บางคล้า

ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยเมื่อสูญเสียแกนนำแล้วก็พากันหลบหนีออกจากเมืองฉะเชิงเทราในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 5 กองทัพไทยได้เข้าโจมตีและสามารถจับกุมหัวหน้าระดับรองได้หลายคน เช่น จีนห้วยเสียว จีนเน่า จีนเสง จีนตู จีนเกา จีนกีเฉาเอย จีนโผ จีนหลงจู๊อะ จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อย และจีนลก เป็นต้น ฝ่ายราษฎรชาวไทยที่หลบหนีอยู่ตามป่าได้ออกมาช่วยต่อสู้กับพวกจีนตั้วเหี่ยและสังหารพวกจีนเหล่านี้เป็นอันมาก รวมทั้งเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้เคียง คือ เมืองพนัสนิคมและเมืองชลบุรี ได้เข้าช่วยปราบปราม ระหว่างที่พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหนี ประมาณกันว่ามีชาวจีนเสียชีวิตกว่า 3,000 คน

ผลกระทบของเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายหลายประการกับชาวจีนโดยตรง โดยบรรดาผู้ก่อความไม่สงบนั้นทางการได้กำหนดโทษไว้ 3 ระดับ คือ ระดับหัวหน้าให้เฆี่ยน 100 ที แล้วประหารชีวิต ส่วนแกนนำที่ไม่ได้ออกรบกับชาวจีนที่เข้าร่วมนั้นให้เฆี่ยน 100 ที แล้วขังไม่มีกำหนด สำหรับชาวจีนที่เข้าร่วมกับจีนตั้วเหี่ยแต่ไม่ได้ร่วมรบให้เฆี่ยน 50 ที แล้วสักแก้มเพื่อให้รู้ว่าเป็นพวกกบฏ จากนั้นจึงปล่อยตัวไป ภายหลังพวกจีนที่ถูกกักขังได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี พ.ศ. 2394 ในสมัยรัชกาลที่ 4 [37]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[35] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2547), น. 129-130.

[36] ศุภรัตน์ เลิศพาญิชย์กุล. สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524, น. 101-111.

[37] เรื่องเดียวกัน, น. 110.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ล้อมกรอบ ล้อมปราบ เผาบ้านเผาเมือง จลาจลโรงน้ำตาล : กรณีจีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา สมัยรัชกาลที่ 3” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2564