ทำไม “การทอดกฐิน” ที่วัดถึงมี “ธงจระเข้” ?

ธงจระเข้ ธงจระเข้ในงานทอดกฐิน
ธงจระเข้

ธงจระเข้ในงานทอดกฐิน ทำไมต้องปักธงนี้ในวัดเมื่อถึงการทอดกฐิน?

เมื่อถึงช่วงของการทอดกฐินจะเห็นว่าตามวัดต่าง ๆ นอกจากจะนำธงชาติและธงธรรมจักรไปติดไว้ที่วัดแล้ว ก็จะนำธงมัจฉา ธงตะขาบ หรือธงจระเข้ แขวนหรือปักไว้ที่วัดด้วย แล้วเพราะเหตุใดจึงติดธงเหล่านี้?

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดถึงคติความเชื่อเรื่องนี้ แต่กล่าวกันว่ามีอุบาสกคนหนึ่งไปทอดกฐินทางน้ำ ใช้ขบวนเรือแห่กฐิน ครั้งนั้นมีหมู่สัตว์น้ำทั้งหลายตามขบวนกฐินไปด้วย มีมัจฉา ตะขาบ จระเข้ เป็นต้น แต่ไม่สามารถจะตามขบวนกฐินไปถึงในวัดได้ ด้วยความเลื่อมใสในพระศาสนา จึงอ้อนวอนให้อุบาสกนั้น เขียนรูปตนเข้าในบริวารกฐินด้วย อุบาสกเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายก็อนุโมทนาบุญของตน จึงเขียนรูปไว้ แล้วเรื่องนี้จึงได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

Advertisement

โดยสำหรับธงจระเข้นั้น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ายาวประมาณ 2 ศอก กว้าง 1 ศอก ปลายทั้งสองข้างเย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้สำหรับผูกหรือแขวนตอนบนข้างหนึ่ง และถ่วงชายธงตอนล่างข้างหนึ่ง ในผืนธงจะเขียนรูปจระเข้คาบดอกบัว 3 ดอก ลำตัววางตามความยาวธง เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดลงไปทางปลายธง

ทอดกฐินทางน้ำวัดพ่อท่านจบ” (ภาพจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1692659)

ซึ่งตำนานธงจระเข้มีหลายเรื่องเล่า แต่ละเรื่องเล่าก็มีความคล้ายคลึงกับเรื่องข้างต้น ดังนี้

1. ในสมัยโบราณ การเดินทางต้องอาศัยการดูทิศทางจากดวงดาว เช่น ในการเคลื่อนขบวนทัพในตอนจวนสว่าง ต้องอาศัยดาวจระเข้ซึ่งขึ้นในช่วงนั้นพอดี การทอดกฐินในสมัยนั้นบางทีต้องไปทอดกฐิน ณ วัดซึ่งอยู่ห่างไกล จึงต้องอาศัยดูทิศทางจากดาวจระเข้ ซึ่งพอดาวจระเข้ขึ้นก็เริ่มเคลื่อนขบวนกฐิน และเดินทางไปถึงวัดเมื่อสว่างพอดี ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงประดับองค์กฐิน โดยถือว่าดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน

2. มีนิทานโบราณว่า เศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยคิดทำบุญสร้างกุศล นำสมบัติไปฝังไว้ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน ครั้นตายลงจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติของตน ได้รับความทุกขเวทนามาก จึงไปเข้าฝันภรรยาให้มาขุดสมบัติไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐิน จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายน้ำตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไป แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรงไปต่อไม่ไหว จึงบอกภรรยาให้วาดรูปจระเข้ใส่ในธงไปแทน

3. เป็นเรื่องเล่าคล้ายคลึงกับสองเรื่องก่อนหน้านี้ โดยเล่าต่างออกไปว่า มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือ มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอดกฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกว่า ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้ว เพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดกฐินด้วย อุบาสกทำตามคำขอของจระเข้ ธงจระเข้จึงปรากฏมานับแต่นั้น

4. เป็นกุศโลบายของคนโบราณ โดยการกฐินแห่ไปในขบวนเรือต้องเดินทางไปตามลำน้ำ ซึ่งมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่มบ้าง ขบกัดผู้คนบ้าง คนสมัยก่อนจึงหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนเรือ

(ภาพจาก : https://www.matichon.co.th/region/news_3020128)

ทั้งนี้ มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระไว้ 4 อย่างด้วยกัน ซึ่งเปรียบด้วยภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเล คือ

1. ภัยเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือน “คลื่น” เรียกว่า อุมฺมิภยํ

2. ภัยเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ ท่านเปรียบเสมือน “จระเข้” เรียกว่า กุมฺภีลภยํ

3. ภัยเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ 5 ท่านเปรียบเสมือน “วังน้ำวน” เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ

4. ภัยเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือน “ปลาร้าย” เรียกว่า สุสุกาภยํ

โดยหากพิจารณาธงที่นำมาติดที่วัดเมื่อถึงช่วงของการทอดกฐินจะเห็นว่ามีภัย 4 อย่างอยู่ครบ บางธงมีทั้งรูปคลื่นและรูปวังน้ำวน และบางได้ปรับธงรูปปลาร้ายมาเป็น “ธงมัจฉา” หรือ “ธงนางมัจฉา” หรือสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ 

ธงจระเข้หรือธงนางมัจฉานี้ ปักไว้ที่หน้าวัดเพื่อแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้มีการทอดกฐินแล้ว ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้พลอยอนุโมทนาด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการสารคดี. (ธันวาคม, 2539). ธงจระเข้ที่ปักหน้าวัดมีความหมายว่าอย่างไร. สารคดี. ปีที่ 12 : ฉบับที่ 142.

ธนากิต. (2539). ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2564