“ความอาย” กับ “ความใคร่” ของ “พระเพื่อนพระแพง” แห่งลิลิตพระลอ

ลิลิตพระลอ พระเพื่อน พระแพง
"พระเพื่อนพระแพง" พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปรษยกฤต (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)

ลิลิตพระลอ เรื่องราวความรักของ พระลอ กับสองนาง คือ พระเพื่อนพระแพง มีปูมหลังคือความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เกิดเป็น “รักต้องห้าม” ท่ามกลางเพลิงแค้น แต่ด้วยความปรารถนาอันรุนแรงของพระ-นาง ทำให้พวกเขามีห้วงเวลาที่ได้เสพสมอารมณ์หมาย ก่อนจะจบด้วยความตายตามแบบฉบับงานประพันธ์ “โศกนาฏกรรม” ที่ตราตรึงใจผู้อ่าน

นอกจากบทอัศจรรย์อันตระการตาจนถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง อีกความงดงามของวรรณคดีเรื่อง ลิลิตพระลอ คือ ผู้ประพันธ์สามารถสื่อ “อารมณ์ด้านลึก” ของจิตใจมนุษย์ออกมาอย่างแยบคาย คู่พระ-นางที่แม้จะเป็นชนชั้นกษัตริย์ แต่ยังเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ กิเลส ตัญหา และความอยากมีอยากได้เป็นเครื่องนำทาง ก่อนจะถูกสิ่งเหล่านั้นเล่นงานจนมีจุดจบน่าอดสูใจในตอนท้าย 

ความแยบคายดังกล่าวปรากฏให้เห็นตั้งแต่ตอนต้นเรื่องจาก พระเพื่อนพระแพง ที่มักถูกจดจำด้วยภาพลักษณ์ของสตรีที่แสดงความต้องการในตัวพระลออย่างชัดแจ้ง พร้อมใช้สารพัดวิธีเพื่อให้พระลอเสด็จมาสู่ตน

หากพินิจดูให้ดี พระเพื่อนพระแพง มีความเพียรไม่น้อยเพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของสตรีชั้นสูง เพราะเมื่อทั้งคู่เกิดความลุ่มหลงในตัวพระลอจากคำเล่าลือหรือ “ขับซอยอยศ” สองนางหาได้แสดงความปรารถนาโดยตรงต่อนางรื่นนางโรยผู้เป็นพี่เลี้ยง ว่าต้องการพระลอมาครองคู่ แต่เป็นการแสดงออกอย่างอ้อม ๆ สะท้อนถึง “ความอาย” ของทั้งคู่ ขณะเดียวกันก็เป็น “ความกล้า” ที่จะสื่อสาร ซึ่งกวีถ่ายทอด “อารมณ์ด้านลึก” นี้ไว้อย่างซับซ้อนและวิจิตรงดงาม 

ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงในบทความวิจารณ์วรรณคดี โดย นิพัทธ์ แย้มเดช เรื่อง “ความอาย ความรัก และความตายของพระเพื่อนพระแพง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565) ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

“ความอายใครช่วยได้ นะพี่” : กล้าได้ อายอด กลวิธีสื่อรักซับซ้อน

ความอายของ พระเพื่อนพระแพง สืบเนื่องจากอาการลุ่มหลงเสียงเล่าลือโฉมกษัตริย์หนุ่มที่งามราวพระอินทร์ ไม่มีผู้ใดในสามโลกทัดเทียมได้ ความอายถูกกระตุ้นด้วยสัญชาตญาณหรือแรงขับความใคร่หลง (Passion) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแรงดึงดูดทางเพศ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ดังกล่าวเป็นไปตามวัยพระเพื่อนพระแพง ที่เติบกล้าเป็นสาวสะพรั่งโดยธรรมชาติของวัยรุ่น ย่อมเร่งเร้าให้แสวงหาคู่ครองอยากรู้อยากลอง กระหายจะสัมผัสและลิ้มรสความเย้ายวนทางเพศ

พระเพื่อนพระแพง มิใช่หญิงสาวไร้เดียงสาหรือเคร่งครัดกับวาทกรรมกุลสตรีศรีสยามที่ไม่รู้สึกรู้สากับความรัญจวนของบุรุษ ดังนั้น เมื่อเสียงเล่าลือชมโฉมพระลอ ซึ่งนักขับลำนำต่างพากันกล่าวยกย่องโฉมกันทั่วบ้านทั่วเมือง “ขจรข่าวถึงหูสอง พี่น้อง” อาการพระนางทั้งสองจึงหมกมุ่นอยู่กับเสียงเล่าลือจิตใจอ่อนระทวยเหมือนเถาวัลย์ จิตใจจดจ่อ คอยเงี่ยโสตฟังเรื่องราวของพระลออยู่ในห้อง ดังที่กวีกล่าวว่า “รทวยดุจวัลย์ทอง ครวญใคร่ เห็นนา โหยลห้อยในห้อง อยู่เหยี้ยมฟังสาร”

พระเพื่อนพระแพงนึกพิศวงรูปโฉมพระลอตามคำขับซอทุกขณะจิต จนอาจกล่าวได้ว่าพระนางทั้งสองตกเป็นทาสความงามของบุรุษเพศไปเสียแล้ว พลังความงามแทรกซึมลึกไปถึงอารมณ์ที่สองนางใคร่พบเห็นพระลอ เปลี่ยนความสดใสกลายเป็นความเศร้าตรม เปลี่ยนพระพักตร์ของพระนางทั้งสองงามกระจ่างใสดุจดวงเดือน ให้เศร้าสลดหมองมัว

…เมื่อกวีเปิดฉากชีวิตพระเพื่อนพระแพงราชธิดาของท้าวพิไชยพิษณุกร โดยแสดงอาการลุ่มหลงความงามของพระลอแล้ว ตัวบทก็ส่งต่อให้พี่เลี้ยงคู่ใจเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะอาการพระเพื่อนพระแพงหลงใหลพระลอ หาได้รอดพ้นสายตาและความช่างสังเกตของนางรื่นนางโรยแต่อย่างใดไม่ นางพี่เลี้ยงจึงแบ่งรับความทุกข์ของเจ้านายตนมาใส่ไว้เหนือหัว โดยอาสาแก้ไขสถานการณ์ให้ทุกอย่างคลี่คลายอย่างที่จะทะนุถนอมเจ้านายให้มีความทุกข์น้อยที่สุด

“พระเพื่อนพระแพง” พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปรษยกฤต

ในชั้นแรก นางรื่นนางโรยไม่เข้าใจว่าเหตุไฉนเจ้านายตนมีอาการเหมือนเป็นไข้ เศร้าหมองเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งที่นางทั้งสองทำได้ก็คือ “หมองดั่งนี้ข้าไหว้ บอกข้าขอฟังหนึ่งรา” นั่นก็คือ การได้รับฟังความทุกข์ของเจ้านาย เป็นสิ่งที่พี่เลี้ยงทั้งสองใคร่รับรู้

ฝ่ายพระเพื่อนพระแพงกล่าวตอบนางรื่นนางโรยทันที ร่ายดำเนินเรื่องตอนนี้ ชี้ให้เห็นวาจาพระเพื่อนพระแพงแฝงเร้นอาการร้อนรัก นางมีความฉลาดหลักแหลมที่จะกล่าวอ้อม ๆ ไม่เปิดเผยความผิดปกติที่เกิดขึ้น ดังที่นางกล่าวว่าป่วยเป็นไข้ กินยาก็หาย ไข้ต่าง ๆ ใคร ๆ ก็รักษาให้หายได้ แต่ทว่า “ไข้ใจแต่จักตาย ดีกว่า ไส้นา สองพี่นึกในไว้ แต่ถ้าเผาเผือ” นั่นก็คือ เมื่อตัวนางเป็นไข้ใจแล้ว ก็มีแต่จะตาย ขอให้พี่เลี้ยงทั้งสองคิดไว้เลยว่าจะเผาศพแน่แท้

ข้างนางรื่นนางโรยไม่เข้าใจว่าพระธิดาทั้งสองเอ่ยตรัสเป็นเงื่อนงำด้วยเหตุใด นางพี่เลี้ยงจึงเอ่ยปากวิงวอนเจ้านายให้เล่าเรื่องราวให้ฟัง โดยขอรับเป็นภาระจะจัดการให้ เนื้อความต่อไปนี้ เป็นบทพูดพระเพื่อนพระแพงระบายความอัดอั้นด้วยเพลิงความใคร่สุมแน่นในอก ดังความว่า

เจ็บเผื่อเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในเหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไส้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผือเหลือแห่งพร้อง โอ้เอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำ จำตาย หนึ่งรา

วาทศิลป์ข้างต้น ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมราชธิดาทั้งสองระบายความอัดแน่นในอารมณ์ด้วยคำว่า “เจ็บ” “อาย” และ “รังเกียจตัว” (แหนงตัว) จนอยากตาย ความรู้สึกดังกล่าว มีความรุนแรงอย่างยิ่ง เพราะเป็นความเจ็บสุดพรรณนา คือ อัดแน่นเต็มไปทั้งแผ่นดิน เป็นความเจ็บไม่เหมือนเรื่องอื่นใด ในโลก ถ้าบอกเรื่องนี้แก่ผู้อื่นจะเอาหน้าไปไว้แห่งใด แถมยังอับอายคนอื่นจะหัวเราะเยาะ เรื่องเช่นนี้แม้ตัวพระนางก็นึกรังเกียจจนอยากตาย พระนางออกคำสั่งพี่เลี้ยงว่าอย่าได้ถามอีก เพราะเจ็บจนจะกล่าวได้อีก และตอนท้ายยังสำทับอีกด้วยว่าหากเอ็นดูรักพระนางก็อย่าถามซ้ำให้ต้องตายเลย

… ฉะนั้น ความเจ็บอายจนอยากตายของพระเพื่อนพระแพงในชั้นแรกนี้ จึงเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกธรรมชาติส่วนลึกของมนุษย์ปะทะกับจารีตสังคมที่พระนางแบกรับ กล่าวคือ

ในแง่อารมณ์ความรู้สึก ใจพระเพื่อนพระแพงหลงใหลบุรุษที่ไม่รู้จัก และไม่เคยพบเห็นมาก่อน พระลอที่ใคร ๆ พากันยกย่องว่ารูปงามราวกับเทพก่อรูปในมโนนึกของพระนาง ยิ่งเสียงเล่าลือความเลอเลิศของพระลอตอกย้ำในใจพระนางหลายครั้งหลายหน ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าบุรุษนี้เหมาะสมแล้วที่สองนางใฝ่ปอง ความใฝ่ปองพระลอเสริมความมั่นใจในความงามของพระนางเองด้วย เพราะถ้าจะกล่าวถึงความงามของพระเพื่อนพระแพงก็ล้ำเลิศเช่นเดียวกัน ดังที่กวีกล่าวว่า “งามถี่พิศงามถ้วน แห่งต้องติดใจ บารนี”

ความใฝ่ปองที่พระนางคิดหมายว่าคู่ควรสำหรับกษัตริย์หนุ่ม ทำให้เกิดความปรารถนาทางเพศ เมื่อความปรารถนาทางเพศอันแน่นสุมทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายหญิงแอบรักฝ่ายชาย จึงกลายเป็นความอายและความเจ็บที่ปล่อยใจตกเป็นทาสอารมณ์ลุ่มหลง

ในแง่จารีตทางสังคม สถานะทางสังคมอันสูงส่งของพระนางเป็นกรอบบีบรัดอยู่ เรื่องมิบังควรที่เกิดขึ้นในโลกก็ได้เกิดขึ้นแก่พระนางแล้ว นั่นคือธิดากษัตริย์ ผู้ดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองสรอง เป็นที่รักยิ่งขอท้าวพิไชยพิษณุกร พระนางดาราวดี และเจ้าย่า ได้ตกเป็นทาสรักรูปโฉมบุรุษที่ไม่ใช่คู่อภิเษก แม้ชื่อบุรุษผู้นั้น พระนางก็มิได้ตรัสแก่นางรื่นนางโรย ปล่อยให้นางพี่เลี้ยงเข้าใจเอง ซึ่งก็เท่ากับนางพระนางพยายามรักษาเกียรติยศ ธำรงสถานะเชื้อสายกษัตริย์ รักษาความเป็นลูกที่แสนดีของพ่อแม่ และรักษาความเป็นเด็กน้อยที่น่าเอ็นดูให้ย่าชื่นใจ

กวีผู้รจนาลิลิตพระลอ เข้าใจจารีตทางสังคมรัดรึงใจพระนางดังกล่าว จึงเปิดช่องให้นางพี่เลี้ยงคู่ใจรับอาสาชักนำบุรุษที่เจ้านายหลงใหลให้มาสู่สมถึงที่ โดยไม่ให้ความผิดจารีตและความอับอายขายหน้าตกแก่เจ้าเหนือหัวของตน อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีนางรื่นนางโรย เป็นตัวเดินเรื่อง เราคงนึกไม่ออกเลยว่าพระเพื่อนพระแพงจะดำเนินกลรัก ชักนำพระเอกของเรื่องให้มาสมใจปองได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของพระเพื่อนพระแพงที่หลงใหลพระลอ หาได้ท่วมท้นในใจเป็นเวลานานไม่ ปฏิกิริยาอารมณ์พระเพื่อนพระแพง คือ ความอาย ความเจ็บ ความรังเกียจตัว ค่อย ๆ เปลี่ยนมาสู่ความหวัง การรอคอย และความชื่นบาน โดยมีตัวแทนผู้สนองอารมณ์พระนาง คือ นางพี่เลี้ยงทั้งสอง และอำนาจลึกลับทางกามเป็นแรงเหนี่ยวรั้งบุรุษที่พระนางทั้งสองใฝ่ปอง

ทันทีที่นางรื่นนางโรยรบเร้าให้เจ้านายบอกแจ้งความรู้สึกให้ฟัง ก็เข้าทางฝ่ายพระเพื่อนพระแพง ที่ระบายความนัยให้รับทราบว่า “เสียงเล่าลือ” เป็นที่มาของความทุกข์ โคลงสี่สุภาพต่อไปนี้ เป็นอมตะวาจาในโลกวรรณศิลป์ไทย เป็นบทสรุปที่เปิดเผยความรู้สึกของพระเพื่อนพระแพง ให้สองพี่เลี้ยงรับทราบ และถือเป็นบทวาทะศิลป์แยบคายมากที่สุดในลิลิตพระลอ ดังความว่า

เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง   อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร   ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหล   ลืมตื่น ฤๅพี่

สองพี่คิดเองอ้า   อย่าได้ถามเผือ

วาจาพระเพื่อนพระแพงเย้ยหยันนางรื่นนางโรยให้ได้อาย คือ มัวนอนหลับจนลืมตื่นอยู่ดอกหรือ ถึงไม่สดับเสียงเล่าลือยศใครผู้นั้น ทำให้นางรื่นนางโรย ตื่นรู้ เข้าใจความคิดเจ้านายทันทีว่าเสียงเล่าลือโฉมดังทั่วหล้า คือผู้ใด นางพี่เลี้ยงจึงกล่าวปลอบประโลมพระเพื่อนพระแพงไปว่า “สิ่งนี้น้องแก้วอย่าโศกา ณแม่ เผือจักขออาสา จุ่งได้”

ความรักและจงรักภักดีในเจ้าเหนือหัว ซึ่งอาจรวมถึงการตามใจพระเพื่อนพระแพงทุกสิ่งทุกอย่าง มีพลังมากพอที่กระตุ้นให้นางรื่นนางโรยสนองงานรับใช้โดยมิได้ยั้งคิด หรือไตร่ตรองแก้ไขปัญหาและผลกระทบให้รอบคอบ ขอเพียงแค่จะทำอย่างไรให้พระลอเสด็จมา “สมสู่ สองนา” เพื่อคลายความเศร้าหมองของพระธิดาเท่าน้้น

ครั้นนางรื่นนางโรยขันรับอาสาแล้ว พระเพื่อนพระแพงผ่อนคลายความเศร้าหมองได้มากทีเดียว พระนางเปิดใจยอมสารภาพความคิดผิดจารีต อันทำให้เกิด “ความอาย พี่เอย หญิงสื่อชักชวน สู่หย่าว” การชักชวนผู้ชายให้เดินทางมาถึงที่อยู่ทำให้เกิดความอาย และเป็นครั้งแรกที่พระเพื่อนพระแพง เอ่ยคำว่า “รัก” ต่อบุรุษที่รักเขาฝ่ายเดียว “เผือหากรักท้าวท้าว ไปรู้จักเผือ”

ความอายของพระเพื่อนพระแพงที่จะชักนำให้พระลอมาหา ในความคิดของนางรื่นนางโรย กลับเป็นเรื่องไม่ควรหวาดวิตก และไม่ใช่สิ่งผิด นางพี่เลี้ยงทั้งสองมีความฉลาด เจ้าอุบาย และสนองงานรับใช้เจ้านายทันใจ เมื่อนางรู้ความทุกข์ของเจ้านายก็ไม่ตักเตือน นางไม่ตำหนิ นางเป็นผู้สนับสนุนความเห็นดีเห็นงามไปกับเจ้านาย และแผนการที่จะชักนำพระลอมาหา จำเป็นต้องอาศัยพลังลึกลับเหนือธรรมชาติ นั่นคือ การพึ่งพาหมอทำเสน่ห์

เนื้อหาลิลิตพระลอแสดง “กลวิธีสื่อรักขั้นแรก คือ การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ” เป็นการโต้กลับเพลงขับซอยอโฉมพระลอที่เกิดขึ้นก่อน โดยนางรื่นนางโรยให้นางรับใช้ที่สนิทสนม ไปเที่ยวค้าขายแล้วให้ “สรรเสริญโฉมศรี ทั่วบุรีพระลอ”

“กลวิธีสื่อรักขั้นที่สอง คือ อาศัยเวทมนตร์เหนือธรรมชาติ”  คือ ปู่เจ้าสมิงพราย หรือ “เทพเจ้าแห่งขุนเขา” ดำรงสถานะสูงส่ง เพราะ “ทั่วแหล่งหล้า ผู้ใด ใครจักเทียมจักคู่” ไม่มีหมอทำเสน่ห์ผู้ใดทัดเทียมปู่เจ้าสมิงพราย…

ดังที่พระเพื่อนพระแพงกล่าวกับนางรื่นนางโรย เมื่อเกิดความพึงพอใจพระลอ “ความอายใครช่วยได้นะพี่” ก็เป็นสิ่งที่พระนางทั้งสองยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ใครเล่าจะช่วยบรรเทาความอายนี้ได้ มีแต่พระนางเท่านั้น ที่จะจัดการปลดเปลื้องอารมณ์ปรารถนาด้วยตนเอง…ถ้าจะกล่าวให้เห็นภาพ พระเพื่อนพระแพงเป็นผู้เล่นเกมหมากรุกในกระดาน ตัวหมากที่พระนางเล่นคือนางรื่นนางโรยและปู่เจ้าสมิงพราย ผู้ควบคุมตัวหมากคือพระนางเอง ฝ่ายตรงข้ามที่ต้องชนะคือบุรุษที่พระนางหมายปอง

อาจกล่าวได้ว่า “ความกล้า” ของพระเพื่อนพระแพงที่ (มุ่งหวัง) จะได้พระลอเป็นคู่ครอง ทำให้ “ความอาย” (หลบซ่อน) อยู่เบื้องหลังรูปโฉมอันงดงาม แม้เย้ายวนชวนฝัน แต่ภายในใจมุ่งมั่นที่ “หลอกล่อ” อีกฝ่ายให้ตกอยู่ในเงื้อมมืออย่างราบคาบ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566