กลรบเจ้าพระยาบดินทร์ หลอกญวนระหว่างถอยทัพโดยวิธีอันแยบคาย

เวลาท่านไปสำเพ็ง หากมีโอกาสก็ควรแวะเข้าไปกราบรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดจักรวรรดิ์หรือวัดสามปลื้ม สักครั้ง

เพราะท่านผู้นี้ได้ออกรบกรำศึกกับญวน+เขมร นานมาก (แค่เล่าสู่กันฟังเป็นบทเรียนว่าสมัยก่อนเขารบกันอย่างไร ไม่ได้ประสงค์จะให้ชิงชังเพื่อนบ้าน เดี๋ยวนี้ต่างเป็นมิตรกันหมดแล้ว รบกันไป ต่างบาดเจ็บล้มตายกันทรมาน ไม่ดีเลย)

ท่านและเหล่าทหารต้องเสี่ยงคมหอกคมดาบและความเจ็บไข้มาสารพัด เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่คิดทำร้ายบ้านเมือง จะโดยวิธีใดก็ตาม ขอได้โปรดสงสารบรรพบุรุษบ้าง ท่านอุตส่าห์เอาเลือดเนื้อเข้าแลกเพื่อรักษาเขตแดนบ้านเมืองไว้ ขอให้ช่วยกันรักษาสร้างสรรค์ประเทศดีๆ เถิด

เจ้าพระยาบดินทร์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2320 ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ.2392 อายุ 72 ปี

รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่พระพุฒาจารย์(มา) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาสหล่อขึ้นประดิษฐานไว้ที่เก๋งข้างพระปรางค์ เมื่อ พ.ศ. 2441 ภาพจากหนังสือ ลำดับวงศ์สกุลสิงหเสนี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2481

เริ่มออกรบเมื่อ พ.ศ. 235 3 อายุ 33 ปี ด้วยต้องออกไปปราบเขมรที่คิดฝักใฝ่ไปฝากตัวแก่พระเจ้ามินมางเดือดว่างเด้ พระเจ้าแผ่นดินกรุงเว้ประเทศญวนหรือเวียดนาม

สามารถโจมตีข้าศึกจนแตก จับทหารทั้งนายและไพร่ถึง 164 คน

อายุใกล้ 50 ปี ออกไปปราบกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ จนราบคาบ

หลังจากนั้นจึงออกไป ทำศึกปราบปรามเขมรและญวน มีเรื่องราวพิสดารอยู่ในหนังสือชื่อ อานามสยามยุทธซึ่งนายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นผู้เรียบเรียง (อานาม หรืออันนัม ก็คือญวน)

พ.ศ.2376 ไทยเริ่มระหองระแหงกับญวนซึ่งพยายามเบียดเบียนบ้านเมืองปลายเขตแดนของไทยไปหลายตำบล

ไม่ช้า ร. 3 ก็โปรดให้ทำศึกกับญวน ไทยต้องทำศึกกับญวนนานถึง 14 ปี จึงได้เลิกรบกัน

ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาบดินทร์ได้คิดกลหลอกญวนระหว่างถอยทัพจากเมืองโจดก ไปเมืองเขมร โดยวิธีอันแยบคาย

คือให้พระพรหมบริรักษ์ บุตรคนหนึ่งไปทำกลอุบายไว้ 4 ตำบล

พร้อมกันนั้นก็ให้กำลังทหารอีกกองหนึ่งคอยป้องกันคนที่ทุพพลภาพป่วยไข้ให้เดินล่วงหน้าไปก่อน อย่าให้เป็นอันตรายกลางทางได้

จากนั้นท่านก็ให้ทำลายกำแพงเมืองและป้อมหอรบเมืองโจดกเสีย ให้เอาไฟจุดเผายุ้งฉางกับให้ลากกลิ้งปืนใหญ่ทิ้งน้ำให้หมด

พอเดินทางถึงหนองปรือท่านก็ตรวจดูกลอุบาย ที่ให้ลูกทำไว้

คือให้ขุดหลุมตามทางใหญ่น้อยราว 10 หลุม ลึก 3 ศอก 4 ศอก ให้นำแหลนหลาวหอกปักไว้ในนั้นให้เต็มทุกหลุม

จากนั้นก็นำไม้ไผ่ขัดแตะปิดปากหลุม ให้คนเอาหญ้ามาปิดปากหลุมเป็นการอำพราง ตกกลางคืนท่านก็ยกทัพต่อไป

12 วันต่อมา แม่ทัพญวนมาถึงเมืองโจดกเห็นไฟไหม้เมือง ก็ให้แม่ทัพใหญ่ 2 คนชื่อ องกวางโดย กับองลำโดย คุมทหาร 1,600 คนรีบติดตามไปตีกองทัพไทย

ฝ่ายทหารหน้าของญวนเดินทัพมาถึงหนองปรือ ก็ตกลงในหลุมของเจ้าพระยาบดินทร์ ถูกแหลนหลาวเสียบตายถึง 100 เศษ

ฝ่ายนายทัพนายกองเมื่อเห็นเช่นนั้นก็นำความไปแจ้งองลำโดยและองวางโดย 2 แม่ทัพ

พอ 2 แม่ทัพ ได้ฟังความก็กลับหัวเราะเยาะว่าไทยทำกลอุบายดังนี้เหมือนความคิดเด็กทารก

จากนั้นก็สั่งให้กองหน้าตัดไม้ที่เป็นง่ามยาว 10 ศอก 100- 200 อันคอยสักหรือค้ำไปตามทางข้างหน้าเพื่อจะได้รู้ว่ามีหลุมตรงไหนบ้าง

ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทร์ เดินทางไปถึง จุดอุบายที่ 2 คือลำลาดป่าตะโก

ณ จุดนี้ ไม่มีไม้แหลมปักอย่างจุดแรก

มีแต่รังต่อรังแตนรังผึ้งเต็มไปทุกหลุม เมื่อให้ทหารหุงหาอาหารเสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปยังจุดที่ 3

ฝ่ายองลำโดยกับองกวางโดย เดินทางมาถึงลำลาดป่าตะโก พบกองทัพไทยส่วนหนึ่งซึ่งถูกสั่งให้เดินล้าหลังคอยฟังข่าว ก็เข้าต่อสู้กัน

พระยาอัษฎา นายทัพไทย ต้องพลีชีพไปคนหนึ่ง แต่ทหารไทยใช้ดาบยาว ฆ่าญวนตายไป 60 คนเศษ

ในครั้งนั้น หมื่นหาญ หัวหมื่นพระตำรวจฝ่ายวังหน้าได้รบกับญวนเป็นสามารถ

หมื่นหาญทำทีเป็นไม่สู้ แต่พอได้จังหวะก็ชักดาบฟาดนายม้าญวนถูกบ่าซ้ายขาดตลอดไปถึงใต้ราวนม ตายอยู่บนหลังม้า

จากนั้นหมื่นหาญก็โดดลงจากหลังม้าเข้าตัดหัว นายญวนทหารม้า เอาผ้าแพรที่โพกอยู่บนหัวทหารญวน ห่อศีรษะศพผูกอานม้าควบกลับมาหาพลทหารไทย และสั่งให้พลทหารไปตามจับม้าของทหารญวนมาได้

ได้รบพลางถอยพลาง ทั้งกลางวันกลางคืนจนมาถึงทัพของเจ้าพระยาบดินทร์

เจ้าพระยาบดินทร์เดินทัพต่อไม่หยุดหย่อน 3 คืน 4 วันก็บรรลุถึงตำบล โคกต้นสะแก จุดอุบายที่ 3

ท่านได้ตรวจค่ายไม้ไผ่ที่ทำอุบายเอาไว้คือ ใต้ค่ายให้ขุดเป็นรางโดยรอบ

แล้วนำถังดินปืนลงฝังรอบค่าย เอาปืนใหญ่ที่บรรทุกหลังช้างมาฝังใต้แผ่นดินรอบค่าย ให้บรรจุลูกดินเกินสัดส่วน หากดินระเบิดถูกไฟเข้าเมื่อไร ปืนใหญ่จะแตก กระเด็นเป็นระเบิดใหญ่

ติดตั้งทุกอย่างเสร็จก็ล่ามสายชนวนขึ้นมาบนพื้นค่าย ที่ให้ตั้งเตาไฟหุงข้าวเก่าๆ ไว้

อนึ่งในค่ายที่ 3 นี้ ท่านให้นำรังแตนรังต่อรังผึ้งมาซุ่มซ่อนไว้ตามหลุมต่างๆ ด้วย

เมื่อทำเสร็จ ก็ให้ทำ จังหันเกราะ” (กังหันหมุนไปเคาะไม้ไป) และผูกหุ่นเป็นรูปทหารคอยรักษาประตูรอบค่าย

ฝ่ายพวกญวน เมื่อเห็นหมื่นหาญหนีไปแล้วก็เดินทางต่อไปโดยเอาไม้ง่ามคอยสักแผ่นดินเป็นแถวๆ ไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน

จนมาถึงลำลาดป่าตะโก จุดอุบายที่ 2 ญวนสักพบหลุมอีกก็นำความไปแจ้งสองแม่ทัพๆก็หัวเราะเยาะสั่งให้เปิดหลุมดู คราวนี้ไม่พบแหลนหลาว แต่เจอผึ้งบินขึ้นมาต่อยแทน

ทหารญวนโดนผึ้งต่อย เจ็บป่วยไปเป็นร้อย เมื่อสองแม่ทัพทราบก็ยังดูถูกว่ากลแม่ทัพไทยคราวนี้ต่ำกว่าเด็กอมมือเสียแล้ว สติปัญญาได้แค่เด็กในครรภ์เท่านั้น

ดูสิ ไม่มีแรงจะไปเกณฑ์คน ต้องมาเกณฑ์ต่อแตนให้มาช่วยรบญวน

ในครั้งนั้น เมื่อทหารญวนพบทหารไทยที่นอนป่วยไข้อยู่ตามทาง ก็เอาดาบฟันแทง และผ่าอก ตัดแขนตัดขาด้วยความแค้น

มีคนบอกว่า บัดนี้รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทร์ดังกล่าวถูกทาทองทับไปทั้งตัวแล้ว (ซีดี เอนก 01065-005-พฤ12พย2552)

เดินมาใกล้จุดที่ 3 (โคกสะแก) ญวนเข้ารบกับกองหลังของไทย แล้วรีบตามมาจนถึงค่ายกล

กองหลังไทย นำโดยพระยารามกำแหง แกล้งทำเป็นคนขลาด ล่าถอยทัพเข้าค่าย แล้วปิดประตูค่ายจนสิ้น

ส่วน จังหันเกราะพอโดนลมพัดมากระทบก็ดังเหมือนคนตีเกราะนั่งยาม ทหารไทยแกล้งก่อไฟขึ้นให้ญวนเห็น พอทำทุกอย่างเสร็จ พระยารามกำแหงนายทัพก็รีบยกทหารถอยหนี

ฝ่ายทัพหน้าของญวนพอเดินทัพถึงค่ายไม้ไผ่ ไม่เห็นทหารไทย มีแต่เสียงเกราะตี ก็สำคัญว่าไทยแกล้งปิดประตูทำกลอุบายไว้ ก็รั้งรออยู่ ไม่ยอมเข้าค่าย

พอสองแม่ทัพตามมาถึงก็ด่าว่าอ้ายพวกขี้ขลาดตาขาว มึงเป็นแม่ทัพหน้าเสียเปล่าๆ…ฯลฯ ด่าจนพอสมควรแล้วก็ให้ทัพหน้ายกเข้าไป

ทหารญวน เที่ยวเก็บหาเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารที่ไทยแกล้งทิ้งเอาไว้ จากนั้นก็เอาหม้อมาหุงข้าวบนเตาไฟเก่า บางพวกได้ยินเสียงต่อแตนใต้ดินก็เอาไม้และเหล็กไปสัก

พอพบต่อแตนก็ไปแจ้งแก่ องกวางโดยๆ หัวเราะจนกล้องยาสูบหลุดจากปาก จากนั้นก็สั่งให้เอาไฟทิ้งลงไปในหลุมเสาต่อแตนให้ตายเสีย

พอเชื้อไฟลามลงไปถึงก้นหลุม ไฟก็ติดชนวนดินปืนใต้หลุม แล้วแล่นขึ้นมาถูกดินปืนหลายร้อยถัง พร้อมปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนดินเกินส่วนไว้

ทันใดนั้นก็เกิดเสียงระเบิดดังกึกก้องกัมปนาทราวฟ้าผ่า ได้ยินไปไกลหลายร้อยเส้น…

ขอตัดภาพและจบกลอุบายการรบของเจ้าพระยาบดินทร์ลงเพียงแค่นี้ก่อน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2562