ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
แคน เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์แห่งความบันเทิงของชาวลาวและชาวไทยภาคอีสาน “เสียงแคนลาว” ยังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ด้วย
ความเก่าแก่ของแคนนั้นเชื่อว่ามีพัฒนาการมาแล้วกว่า 3,000-4,000 ปี จวบจนยุคปัจจุบัน เสียงดนตรีที่บรรเลงจาก แคน ยังคงเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลายในทุกภูมิภาคของประเทศลาวและภาคอีสาน ซึ่งผู้คนนิยมเล่นกันตามเทศกาลต่าง ๆ ในชุมชน สมาคม หรือกลุ่มต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของ แคน มักถูกมองเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นของไทย เป็นของชาวลาว ชาวอีสาน ไม่ใช่ของชาวไทยภาคกลาง
แต่รู้หรือไม่ว่า แคน เคยเป็นส่วนหนึ่งในวงบรรเลงแห่งราชสำนักอยุธยามาก่อน ซึ่งประวัติศาสตร์ไทยนับเป็นต้นสายบรรพชนไทย หลักฐานยุคต้นกรุงศรีอยุธยาที่ยืนยันเรื่องดังกล่าว คือ อนิรุทธคำฉันท์ วรรณคดีไทยประเภท “กาพย์” ที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาในยุคสมัยข้างต้น มีการกล่าวถึง “แคน” ร่วมกับเครื่องดนตรีโบราณชิ้นอื่น ๆ ในราชสำนัก ดังนี้
“จำเรียงสานเสียง
ประอรประเอียง กรกรีดเพยียทอง
เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง
สำหรับลบอง ลเบงเฉ่งฉันท์”
“ระงมดนตรี
คือเสียงกระวี สำเนียงนิรันดร์
บรรสานเสียงถวาย เยียผลัดเปลี่ยนกัน
แลพวกแลพรรค์ บรรสานเสียงดูริย์”
ข้อความที่บอกว่า “ระงมดนตรี” และ “บรรสานเสียงดูริย์” ในอนิรุทธคำฉันท์ ก็คือชื่อ ดุริยดนตรี หรือเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประจำราชสำนัก หรือเครื่องมือที่มีหน้าที่ “สำหรับลบอง ลเบงเฉ่งฉันท์” สอดคล้องกับข้อความใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ว่า “ด้อมสงัดเสียงดุริยดั่งคม ด้อมสงัดสาวสนม อันจาวจำเรียงเสียงฉันท์” อันหมายถึง “การสวด” หรืออ่านฉันท์ เป็นทำนองเสนาะ โดยมีเครื่องดนตรีคอยบรรเลงคลอไปด้วยนั่นเอง
วรรณคดี อนิรุทธคำฉันท์ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เอ่ยถึงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. เพยีย หมายถึง เพียะ หรือ เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นล้านนา บ้างเรียกว่า เพลี้ย เป็นเครื่องดนตรีที่สามัญชนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นใช้ดีดระหว่างเกี้ยวพาราสีกัน ส่วนในพงศาวดารล้านช้างเรียก เพี้ยะ
2. ติง หรือ เต่งติง หมายถึง เครื่องดีดชนิดหนึ่ง แพร่หลายอยู่ในชนชาติต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีน
3. พิณ หมายถึง เครื่องดีดทั่ว ๆ ไป ทั้ง เพยีย และติง รวมทั้งในที่นี้อาจหมายรวมถึง กระจับปี่ และจะเข้
4. ปี่ หมายถึง เครื่องเป่า เช่น ปี่อ้อ ในท้องถิ่นล้านนา และในกฎมณเฑียรบาลกรุงศรีอยุธยายังมีคำว่า “เป่าขลุ่ยเป่าปี่” ขณะที่เอกสารจีนมีการกล่าวถึงเรียกปี่น้ำเต้า ซึ่งอาจจะหมายถึง เรไร
5. แคน หมายถึง เครื่องเป่าหลายเสียง อย่างที่ทราบกันว่าแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ และชาติพันธุ์ตระกูลไทย-ลาว มานานแล้ว และมีพัฒนาการอย่างน้อยคือ 3,000 ปีมาแล้ว
และ ทร ตรงกับ ซอ ซึ่งในกฎมณเฑียรบาลมีคำว่า “สีซอ” ที่หมายถึงเครื่องสี ส่วนใน นิราศหริภุญชัย เขียนว่า ทร้อ ตรงกับคำว่า “สะล้อ” ของฝั่งล้านนาด้วย เป็นไปได้ว่า “ปี่แคนทรลอง” อาจมีความหมายตามภาษาท้องถิ่นล้านนาว่า “ขับ” หรือ “ร้องเพลง” ก็ได้ ดังประเพณี ขับซอยอยศ ในลิลิตพระลอ ก็ให้ความหมายข้างต้นเช่นกัน
ภาษาไทยใหญ่เองก็มีคำว่า ซอ ที่แปลว่า “ร้องเพลง” นำหน้าชื่อเครื่องดนตรี เช่น ซอปี่ ซอซึง ซอเปียะ ฯลฯ แปลว่าร้องเพลงประกอบการเล่นเครื่องดนตรีนั้น ๆ และหากการ ซอ หรือ ร้อง มีการทำจังหวะประกอบโดยใช้ กรับ หรือ ฉิ่ง จึงจะเรียกว่า “ขับ” หมายถึง ร้องเพลงผลัดกัน
ทั้งนี้ นอกจากรายชื่อเครื่องดนตรีข้างต้น เป็นไปได้ว่ามีเครื่องมืออื่นประกอบการบรรเลง เช่น กรับคู่ ฉิ่ง หรือเครื่องประกอบจังหวะอย่างอื่น เพราะตอนท้ายของกาพย์บอกว่า “บรรสานเสียงดูริย์” แต่ที่ไม่กล่าวถึงทั้งหมดเพราะกวีไม่ไม่ความจำเป็นต้องไล่เรียงให้ครบ กวีไม่ได้เขียนตำราดนตรี แต่ประพันธ์เรื่อง อนิรุทธ นั่นเอง
กระนั้น อนิรุทธคำฉันท์ ทำให้เราทราบว่า แคน เคยมีบทบาทอยู่ในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมาก่อน จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แคนเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง หรือ เครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ สำหรับบรรเลงในเขตพระราชฐาน มาแต่อดีต ก่อนจะถูกผลักให้กลายเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น และสัญลักษณ์ของความเป็นลาวในสมัยหลัง
อ่านเพิ่มเติม :
- คนไทยสมัย ร. 4 หลงใหล “L-POP” หนักหนา เคยนิยมกันมาก่อน K-POP ฮิตกันสมัยนี้
- ตามหาร่องรอย “แคนพระปิ่นเกล้า” ที่ทรงเป่าให้เซอร์จอห์น เบาริ่งฟัง
- เมื่อฝรั่งอังกฤษคิดประดิษฐ์ “แคนแปด” ให้คนลาวและลาวอีสานเล่น
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2549). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.
มติชนออนไลน์ (วันที่ 11 ธันวาคม 2560) : ลาวเฮ! ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “เสียงแคน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566