ผู้เขียน | สนอง คลังพระศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้นว่าองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียน “เสียงแคนลาว” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่พี่น้องหมอแคน หมอขับ หมอลำ ช่างแคน และผู้ฟัง สองฝั่งโขงโดยถ้วนหน้า แต่ในความดีงามทั้งหลายนั้น ควรต้องปรบมือยกย่องฝรั่งอังกฤษท่านหนึ่งด้วย ท่านชื่อ นายเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ (Herbert Warrington Smyth) เป็นผู้คิดประดิษฐ์ “แคนแปด” (คู่) ขึ้นใช้เป็นคนแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5
นายเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ นักธรณีวิทยา รับราชการเป็นเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (Royal Department of Mines and Geology) หรือกรมเหมืองแร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2434-2439 ที่มาของการคิดประดิษฐ์ เกิดขึ้นจากการที่ก่อนหน้านั้นแคนที่นิยมเล่นกันทั่วไปมีเพียง 14 ลูก หรือ 7 คู่ (แคนเจ็ด) แต่นายสมิธได้ให้ช่างชาวเวียงจันทน์เพิ่มเสียงคู่เสพขึ้นมาอีก 1 คู่ ดังที่เขาบันทึกไว้ว่า
“…รูปร่างของแคนที่ใช้เป็นแม่แบบกันอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้เห็นถึงความยากลำบากที่ข้าพเจ้าประสบมาในการขอให้ใครสักคนช่วยทำแคนแบบ 16 ปี่ให้สักตัวหนึ่ง คำตอบที่ได้รับเสมอคือ ไม่ได้ ซึ่งก็คือ เป็นไปไม่ได้ หรือ ไม่โก้ ซึ่งก็คือมันไม่ได้เป็นแคนอย่างที่เห็นธรรมดาทั่วไป แต่ในที่สุดข้าพเจ้าก็หามาได้ตัวหนึ่ง โดยความร่วมมือของชายชาวเวียงจันทน์คนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพทำแคนจำนวนมากไว้ขาย แต่เป็นแคนขนาด 4 ศอก (6 ฟุต 8 นิ้ว) ซึ่งคนเป่าต้องมีปอดที่แข็งแรงมาก คนรูปร่างเล็ก ๆ อย่างเขา คงจะเป่าแคนขนาดนี้ไม่ไหวแน่ จะเห็นได้ว่า แคนชนิดนี้สามารถเล่นเสียงเมเจอร์แบบมาตราเสียงในระบบดนตรีสากลปัจจุบัน โดยเริ่มจากเสียงในคีย์ไมเนอร์ที่ต่ำกว่าในระดับที่ไล่เลี่ยกันและไต่ขึ้นไปจนถึงระดับเสียงที่สี่ จะเห็นว่าสามารถเล่นในระดับที่หลากหลายกว่าในแคนชนิดปี่ 5 เลา และ 6 เลา บางทีอาจจะเป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวของชาวอินโดจีนที่สามารถสร้างคอร์ดหรือเชื่อมประสานระดับเสียงดนตรีได้มากกว่าที่เคย…”
ทั้งนี้ มีหลักฐานเป็นโน้ตในหนังสือห้าปีในสยาม เล่ม 1 (Five Years in Siam Vol.1) แคนแปดคู่จึงเป็นแคนที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะภาคอีสาน เพราะเหมาะแก่การเป่าเดี่ยวและเป่าประกอบการขับลำ
เรื่อง “แคน” นี้ นอกจากบันทึกหนังสือห้าปีในสยามแล้ว เขายังบันทึกไว้ในหนังสือ “บันทึกการเดินทางสู่แม่น้ำโขงตอนบนประเทศสยาม (Notes of a Journey on the Upper Mekong Siam) พ.ศ. 2435 นางพรพรรณ ทองตัน แห่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เป็นผู้แปลเรียบเรียง ด้วย
จะเห็นได้ว่า นอกจากความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจตรวจสอบแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลสยามนั้น ความรู้เรื่องดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจเรื่องแคนของนายสมิธอยู่ในระดับดีมาก จึงไม่แปลกใจที่เขาคิดการเกี่ยวกับเสียงแคนแปดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และยังนิยมใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
นายสมิธ นับว่าเป็นข้าราชการชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสนใจเรื่องดนตรีของชาวสยามเป็นอย่างดี ดังปรากฏในบันทึกเรื่องนี้ และในหนังสือห้าปีในสยามที่มีทั้งภาพที่เขาเขียนและโน้ตประกอบเรื่องเล่า ราวกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีชาติพันธุ์วิทยา (Ethnomusicology) ปานนั้น
บันทึกนี้ทำให้เข้าใจเรื่องแคน สุนทรียรสทางเสียงของคนสมัยเก่า (นิยมแคนใหญ่เสียงทุ้มต่ำ) เรื่องเพลงแคนที่เล่น (เพลงม้าวิ่งและเพลงเดิน) วิถีชีวิตของคนลาวที่ผูกพันกับแคน และน้ำใจที่มีต่อคนต่างชาติที่สนใจดนตรีของตน ดังนี้
บันทึกเรื่องแคน
แคนเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป่า นิยมเป่าเล่นกันในหมู่ชนชาวลาวทางตอนเหนือ จุดเด่นของเพลงแคนอยู่ที่มีท่วงทำนองที่ไพเราะ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือการบรรเลงและหยุดเป็นช่วง ๆ ให้ถูกต้องตามจังหวะดนตรีที่เราคิดขึ้นนั่นเอง ส่วนระดับเสียงของดนตรีจะมีเสียงสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความยาวของแคนดังนี้ แคนห้าศอก (ยาว 9 ฟุต 4 นิ้ว) เป็นแคนที่มีเสียงสูงกว่าระดับเสียงจี (G) ครึ่งระดับเสียง แคนสี่ศอก (ยาว 6 ฟุต 8 นิ้ว) เป็นแคนที่มีเสียงสูงกว่าระดับเสียงดี (D) สองระดับเสียง แคนสองศอก (ยาว 3 ฟุต 4 นิ้ว) เป็นแคนที่เสียงสูงกว่าระดับเสียงเอฟ (F) ครึ่งระดับเสียง
ที่กล่าวมาเป็นความยาวของแคนทั่ว ๆ ไป แต่บางครั้งก็มีการเล่นแคนหกศอกบ้างเหมือนกัน แคนประเภทนี้มีระดับเสียงต่ำที่ไพเราะ แม้ว่าจะมีท่วงทำนองที่เกิดจากแรงบันดาลใจและแรงลมเป่าของผู้บรรเลงเอง แต่ก็ต้องอาศัยปอดที่แข็งแรงและมีกำลังเสียงอย่างมากด้วย
แคนแต่ละเต้า [1] ประกอบด้วยปี่ [2] ไม่เกิน 14 เลา จัดเรียงเสียงดนตรีตามจำนวนปี่เป็นคู่ ๆ นับจากคู่ที่ใช้ปากเป่าเรียงไปตามท่อสำหรับเป่าลม [3] ดังนี้
ปี่คู่แรก คู่ที่ 1 บังคับด้วยนิ้วหัวแม่มือ ปี่เลาที่ 1 ทางซ้าย เป็นระดับเสียงหลัก เลาที่ 2 ทางขวา เป็นเสียงต่ำคู่แปดของเสียงหลัก เสียงคู่แปดจะไล่ไปตามลำดับจากขวามือเลาที่ 2, 3, 4, 5, และเลาที่ 6 ทางซ้าย (หรือเลาที่ 3 ทางขวา ซึ่งมีเสียงเหมือนกัน) ต่อไปถึงเลาที่ 4, 5 และเปลี่ยนนิ้วกลับมาใช้หัวแม่มือบังคับบนเลาที่ 1 ทางซ้ายมือ
ปี่เลาที่ 2 ทางขวามือมีเสียงต่ำกว่าระดับเสียงหลัก ถึงปี่เลาที่ 2 ทางซ้ายมือ และเลาที่ 1 ทางขวามือ เหนือระดับเสียงช่วงบนขึ้นไปเป็นเลาที่ 6 เลาที่ 7 ทางขวา และเลาที่ 7 ทางซ้าย แสดงภาพการบรรเลงเพลงระดับเสียง D โดยใช้แคน 4 ศอก (โน้ต)
แคนไม่สามารถบรรเลงระดับเสียงชาร์ปหรือแฟลต และไม่สามารถเป่าให้ลมเข้าไปเพียงครึ่งเสียงเหมือนการเป่าขลุ่ยผิวได้เช่นกัน เสียงดนตรีเกิดขึ้นจากการสั่นไหวของลิ้นโลหะเล็ก ๆ ที่ติดไว้ข้างในปี่ ด้วยเหตุนี้ แคนจึงให้เสียงดนตรีที่มีลักษณะ “ซ้ำซาก” และโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่เป่าแคนเก่งและชำนาญก็มีแคนกันมากกว่าหนึ่งเต้า
เพลงที่บรรเลงจากแคนมีความรวดเร็วและไพเราะจับใจ แม้ว่าในระยะแรก ๆ อาจจะฟังไม่ทันและเข้าใจยากอยู่บ้างก็ตาม ส่วนของแคนบริเวณที่จดริมฝีปากเวลาเป่า ทำมาจากผลของไม้ละมุด [4] (mai lamut) ซึ่งแข็งมาก นำมาเจาะรูให้ข้างในกลวงตามขั้นตอนและวิธีการที่ยุ่งยากอย่างยิ่ง ส่วนด้านนอกทาด้วยน้ำมันชักเงาและเจาะเป็นช่องยาวสองแถวขนานกัน ทั้งด้านบนและด้านล่างของไม้เต้าแคน สำหรับสอดปี่ไม้ไผ่เข้าไปทั้งสองแถว แล้วใช้ขี้ผึ้ง [5] (beeswax) อุดช่องอากาศระหว่างเต้าแคนกับปี่ไม้ ส่วนวิธีที่จะทำให้ปี่เลาใดเลาหนึ่งหลุดออกมาก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยดึงแถบหญ้า [6] (grass bands) ที่มัดไว้รอบ ๆ ปี่ออก และการใช้นิ้วดีดปี่เบา ๆ ก็จะช่วยให้ลิ้นโลหะข้างในสั่นเป็นปกติอีกครั้งหากมันหยุดสั่นไปชั่วขณะหนึ่ง เมื่อนำปี่ไปอังไว้เหนือไฟ จะทำให้ไม้มีรอยไหม้เป็นลวดลายดูสวยงาม
เรามักไม่ค่อยพบเห็นแคนในสยามนัก เว้นแต่ในแหล่งที่มีชนชาวลาวตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน
ประชาชนชาวลาวทั่วทั้งราชอาณาจักรเป็นนักผลิตและเป่าแคนที่ยอดเยี่ยมมาก นับตั้งแต่เมืองหลวงพระบางถูกบุกรุกทำลายจนชาวลาวต้องแตกกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ และถูกขับไล่ลงไปทางใต้ ซึ่งจะพบเห็นชุมชนของพวกเขาอยู่หลายแห่งในกรุงเทพ ฯ ข้อมูลในเรื่องที่ชาวลาวมีความรักเครื่องดนตรีประเภทนี้มากที่สุดในภูมิภาคอินโดจีน คู่กับซากโบราณสถานที่งดงามของเมืองหลวงนับเป็นปัจจัยสนับสนุนข้อคิดเห็นที่ว่า เมืองเวียงจันทน์มีอารยธรรมและรสนิยมด้านดนตรีสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ในบริเวณแวดล้อมสถานที่นี้
ในเรื่องดนตรีนั้น หากไม่ศึกษาฝึกฝนมาเป็นเวลานานก็คงไม่สามารถเล่นได้ดี นอกจากนั้นพวกเขาก็ชอบดนตรีที่มีระดับเสียงต่ำ จึงใช้เสียงคู่แปดกันมากในการบรรเลงเพลง และมักจะได้ยินดนตรีระดับเสียงต่ำเป็นเวลานาน จังหวะที่เราได้ยินอยู่ทั่วไปได้แก่จังหวะม้าวิ่งหรือเพลงเดินเร็ว ๆ ที่หนองคายข้าพเจ้าได้ยินชายสองคนเล่นเพลงเดินในระดับเสียงสูงได้ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง จนผู้ฟังถึงกับขนลุกทีเดียว และในบางท่อนก็ทำให้หวนรำลึกถึงเพลงเดินที่มีชื่อเสียงเพลงหนึ่งที่เคยฟังมา ชายคนหนึ่งในสองคนนั้นเป่าแคนหกศอกด้วย จึงทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจที่ไม่เคยได้ยินเพลงลักษณะเช่นนั้นที่นี่มาก่อน ข้าพเจ้าไปพบพวกเขาในถนน กำลังเดินไปงานพิธีแต่งงาน และเป่าแคนเป็นเพลงโดยไม่ใช้ซอหรือขลุ่ยร่วมด้วยเลย มีผู้คนจำนวนมากเดินตามจังหวะเข้าขบวนมา พวกเขาหยุดเดินด้วยความเต็มใจ นั่งลงกับพื้นและบรรเลงเพลงให้ข้าพเจ้าฟังใต้ร่มไม้นานถึงครึ่งชั่วโมง
ด้วยจิตคารวะผลงานของ นายเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ (Herbert Warrington Smyth) เจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (Royal Department of Mines and Geology) หรือกรมเหมืองแร่ แห่งสยามประเทศ
เชิงอรรถ :
[1] คำลักษณะนามของแคนคือดวงหรือเต้า (ตามที่อธิบายไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2535 เล่ม 7) -สวป.
[2] ต้นฉบับใช้คำว่า reeds หมายถึงไม้ลูกแคน คือไม้ที่นำมาประกอบเป็นตัวแคน มักทำจากไม้ในตระกูลไม้ไผ่ ไม้ลูกแคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไม้กู่แคน – สวป.
[3] ต้นฉบับใช้คำว่า Air – Chamber คือเต้าแคน เป็นไม้ที่มีลักษณะกลม หัวท้ายสุ้มเจาะทะลุกลางเพื่อเสียบไม้ลูกแคนและเจาะรูกลมทางด้านยาวทะลุเป็นรูใหญ่สำหรับจดริมฝีปากเวลาเป่าแคน – สวป.
[4] สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2535 เล่ม 7 ให้รายละเอียดว่า เต้าแคนทำมาจากไม้หลายชนิด เช่น ไม้พยุง ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ เป็นต้น แต่ส่วนมากมักใช้ไม้ประดู่และนิยมใช้ส่วนราก เพราะมีเนื้ออ่อน สะดวกในการเจาะ – สวป.
[5] วัสดุที่ใช้ติดแคน เพื่อให้เต้าแคนกับลูกแคนติดกันสนิท และกันไม่ให้มีลมรั่วออกมาตามร่องเสียบลูกแคนขณะเป่าแคนนั้น มิได้ใช้ขี้ผึ้งดังที่ผู้เขียนระบุไว้แต่ใช้ชันนะรง ซึ่งได้มาจากรังของแมลงชนิดหนึ่ง เรียกว่า ตัวขี้สูดมีลักษณะเหนียวข้น ต้องนำมาทุบผสมกับผงถ่ายที่เผาจากไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น หรือถ่านใบกล้วยแห้งเพื่อให้ส่วนผสมลื่น ไม่ติดมือเวลาจับ – สวป.
[6] คือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า เถาย่านาง หรือใช้เส้นตอกที่ทำจากผิวไม้คล้า (ไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นและใบคล้ายต้นข่า มีผิวคล้ายหวาย ใช้ผิวสานเสื่อ) นำมามัดลูกแคนเป็นเปลาะ ๆ ตอนใต้เต้าแคนลงไปประมาณสองเปลาะ และเหนือเต้าแคนขึ้นไปประมาณสามเปลาะ เพื่อช่วยตรึงลูกแคนไม่ให้เคลื่อน – สวป.
หนังสือประกอบการเขียน :
กรมศิลปากร. 2544. บันทึกการเดินทางสู่แม่น้ำโขงตอนบนประเทศสยาม (Note of a Tourney on the Upper Mekong Siam) (พรพรรณ ทองตัน, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป.
________. 2544. ห้าปีในสยาม เล่ม 1 (FIVE YEARS IN SIAM VOL.1) (เสาวลักษณ์ กีชานนท์, ผู้แปล) กรุงเทพมหานคร: อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป.
________. 2558. ประวัติและชีวิตผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพมหานคร : สำนัก วรรณกรรม และประวัติศาสตร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2565