จอมพลผิน ชุณหะวัณ เล่าปมโกง-ใต้โต๊ะ ซื้อ-ประมูลเครื่องสนามทหาร ร่มชูชีพยันผ้าเครื่องแบบ

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ภาพต้นฉบับจาก หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516

ที่ใดมีผลประโยชน์ที่นั่นย่อมมีการควบคุมดูแลระเบียบเพื่อความเรียบร้อย ตีกรอบป้องกันคนไม่ดีแสวงหาทรัพย์สินเข้าตัว นี่ย่อมเป็นหลักสากลทั่วไปในการบริหารจัดการ แต่ดูเหมือนว่า การนำหลักการมาประยุกต์ปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในหลายยุคสมัย แม้แต่ในช่วงที่บุคคลอย่างจอมพล ผิน ชุณหะวัณ สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทศวรรษที่ 2491 ยังต้องปวดหัว

พลโทผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษเจ้าน้ำตา” หรือบางแห่งก็ว่า “จอมพลเจ้าน้ำตา” ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ช่วงเวลานั้น ท่านเล็งเห็นความจำเป็นต้องปรับปรุงกองทัพ แต่งตั้งกองทัพ และกองพล เนื่องจากประสบการณ์ในคราวสงครามอินโดจีน และสงคราม “มหาบูรพาเอเชีย” (เขียนตามบันทึกส่วนตัวของจอมพล ผิน) ท่านพบเห็นปัญหาหลายประการ ดังที่บันทึกประวัติส่วนตัวที่ท่านเป็นผู้บันทึกเล่าด้วยตัวเองมีใจความว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกสำหรับอ่านในระบบออนไลน์)

“…ยังจำได้จนบัดนี้ว่าคราวสงครามอินโดจีน และสงครามมหาบูรพาเอเชีย ซึ่งกองทัพบกได้ยุบกองทัพกองพลเสียหมดสิ้น คงมีเพียงมณฑลทหารบกและจังหวัดทหารบก เท่านั้น เมื่อเกิดสงครามที่จะจัดกําลังทําการสู้รบให้เข้มแข็งขึ้นเป็นกองทัพกองพลก็ต้องโยกย้ายสับเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ตั้งปกติและออกทําการในสนามรบ รู้สึกว่าสับสนอลหม่านไป ทุก ๆ หน่วย

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่เคยประสบภูมิประเทศในสนามรบนั้น ๆ เลย ก็ส่งไปเป็นแม่ทัพและผู้บัญชาการกองพล บางท่านไม่เคยปกครองหน่วยรบมาเลย ก็ส่งไปเป็นแม่ทัพ บางกองทัพแม่ทัพกับรองแม่ทัพไม่ถูกกันอย่างร้ายแรง นับว่าผิดหลักในการจัดหน่วยทหารในสนามรบ ซึ่งเวลาปกติหน่วยกองพัน กรมและกองพล และกองทัพ ต้องมีการฝึกซ้อมในสนาม ให้เคยทางวินัย ทางจิตใจ ในระหว่างผู้บังคับบัญชาด้วยกันและเข้มแข็งอดทนเป็นการประจําปีละหลาย ๆ ครั้ง จึงจะนับว่าเป็นนักรบที่แท้จริง สัมมหาอะไรในเวลาสงคราม แม้เวลาปกติเพียงซ้อมการตรวจพลสวนสนาม เวลาทหารใหม่กระทําสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพลยังต้องซ้อมแล้วซ้อมเล่าเป็นหลายครั้ง หากเวลาสงครามไม่มีการซ้อมเลยสมรรถภาพของหน่วยทหารจะเป็นอย่างไร ขอให้พี่น้องทหารจงนำไปพิจารณาด้วย…”

จอมพล ผิน ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก จึงเสนอต่อรัฐบาลให้ออกกฎหมายแต่งตั้งกองทัพ กองพลต่างๆ อีกทั้งการวางแผนกำลังพล ฝึกซ้อมยุทธวิธี และส่งกำลังบำรุง เมื่อกระทำการไปยังได้ประสบเรื่อง ดังที่ท่านเล่าไว้ว่า

“ด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ อันเกิดจากบทเรียนคราวสงครามทั้ง 2 ครั้ง ก็บังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สมควรขึ้น คือการซื้อผ้าสำหรับตัดเย็บเป็นเครื่องแบบของทหาร ซึ่งทำการประมูลได้ราคาเมตรละ 10 บาท ครั้นถึงเวลาส่งผ้าพ่อค้านำส่งผ้าบางคล้ายเย็บเป็นมุ้งราคาเมตรละ 4 บาท มาส่งให้ ข้าพเจ้าได้นำผ้าตัวอย่างครั้งแรกเก็บไว้ 1 ชิ้นนำมาเปรียบเทียบดูนับว่าผิดตัวอย่างมาก จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญทำการสอบสวน

ปรากฏว่าผ้า 25,000 เมตร ถูกโกงไป 1,500,000 บาท โดยทําการโกงกินกันเป็นทีม ในที่สุดก็ลงโทษตามโทษานุโทษ ผู้เก็บผ้าตัวอย่างถูกจําคุก 3 ปี

เรื่องที่ 2 การซื้อเครื่องสนามของทหาร คณะกรรมการได้เสนอการประมูลของเจ้าหน้าที่ ราคาที่ถูกเครื่องละ 1,600 บาท ข้าพเจ้ายังไม่อนุมัติ ให้ผู้อํานวยการ อ.จ.ส. สืบราคาดูก่อนว่ามีราคาเท่าใดกันแน่ ได้ความว่าร้านแห่งเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นบอกราคา เครื่องสนามชุดละ 800 บาทเท่านั้น จึงสั่งให้ อ.จ.ส. ซื้อต่อไป ถ้าไม่รอบคอบอาจสูญเลือดเนื้อ ทหารไป 40 ล้านบาท ในจํานวนเครื่องสนาม 50,000 เครื่อง เรื่องนี้ภายหลังแม่ค้าผู้ส่งเครื่องสนามร้องไห้มาหาข้าพเจ้าที่บ้านว่าให้เงินล่วงหน้าแก่กรรมการไปแล้วสามแสนบาท ถ้าคราวนี้ไม่ได้ส่งราคาเดิมต้องเป็นหนี้เขาแย่ ข้าพเจ้าตอบไปว่า ที่ไม่นำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องศาลในฐานให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่ก็ดีแล้ว แกก็รู้สึกตกใจและลากลับทันที

เรื่องที่ 3 การซื้อผ้าขาวม้าอาบน้ำของทหาร ซึ่งพ่อค้าส่งมาไม่เหมือนตัวอย่างเช่นเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างไม่กล้าเปลี่ยน แต่พ่อค้านําผ้าขาวม้าอาบน้ำไปส่งยังคลังกรมยกกระบัตรหมดแล้ว แต่เห็นว่าราคาไม่มากนักจึงสั่งให้ขนกลับคืนไป

เรื่องที่ 4 การซื้อร่มชูชีพสําหรับนําสิ่งของไปทิ้งให้กับทหารในสนามรบ ซึ่งคณะกรรมการสืบราคาและประมูลเสร็จแล้วได้ราคาชุดละ 200 ดอลล่าร์ ข้าพเจ้าให้ผู้อํานวยการ อ.จ.ส. สืบราคาใหม่ภายใน 7 วัน ก็ทราบว่า เป็นร้านเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นขายให้ ในราคา 47 ดอลล่าร์ ทําให้ข้าพเจ้าเกิดโทโสจัดตวาดออกไปอย่างแรงว่า จะโกงกินกันไป ถึงไหน และตกลงซื้อได้ในราคาชุดละ 48 ดอลล่าร์ นับว่าได้ลดงบประมาณ 304,000 ดอลล่าร์ ในจํานวนที่กองทัพบกต้องซื้อ 2,000 ชุด”

จอมพล ผิน บันทึกต่อไปถึงเหตุผลของการให้เสนาธิการทหารบก และกรมต่างๆ วางแผนซื้อของไว้นั้น ก็เพราะมาจากประสบการณ์เรื่องการสงคราม เมื่อถึงคราวสงครามก็ย่อมมีจ่ายได้ทันที ไม่ถึงกับ “ทหารในสนามรบต้องนุ่งผ้าขาวม้า และนุ่งผ้าดังที่เป็นมาแล้ว”

ย้อนกลับไปในบริบทช่วง พ.ศ. 2490 ในแวดวงสื่อปรากฏคำว่า “กลุ่มซอยราชครู” ซึ่งตามการอธิบายของ เสถียร จันทิมาธร และขรรค์ชัย บุนปาน ผู้เขียนหนังสือ “กองทัพบกกับประเทศไทย” ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึง “ทหารตำรวจที่เป็นใหญ่ขึ้นมาทางการเมืองภายหลังรัฐประหาร 2490 กลุ่มนี้มีพลเอกผิน ชุณหะวัณ (ยศสมัยนั้น-กองบก.ออนไลน์) หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้นำ กำลังสำคัญได้แก่ พันเอกเผ่า ศรียานนท์, พันเอกประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นลูกเขย”

ที่เรียกกันว่าเป็น “กลุ่มซอยราชครู” นั้น เป็นเพราะบ้านของพลเอกผิน อยู่ในซอยราชครู ขณะที่ลักษณะฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มนี้อยู่ที่บริษัททหารสามัคคี และบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ เสถียร จันทิมาธร อธิบายว่า การดำเนินงานของบริษัททั้งคู่ได้รับคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐ ให้ความช่วยเหลือในรูปเงินกู้ การตั้งราคาสินค้า จำหน่ายและให้สิทธิผูกขาด

บทความเรื่อง “ทุนนิยมขุนนางไทย 2475-2503” โดยสังศิต พิริยะรังสรรค์ แห่งสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า กลุ่มซอยราชครูเข้าควบคุมสถาบันการเงินของประเทศซึ่งสมัยนั้นเป็นธนาคารสำคัญแห่งต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ขรรค์ชัย บุนปาน, เสถียร จันทิมาธร. กองทัพบกกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2526

ผิณ ชุณหะวัณ, จอมพล. “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ”. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563