เบื้องหลัง “รัฐประหารด้วยน้ำตา” พลโท ผิน ชุณหะวัณ ชวนจอมพล ป. มาร่วมได้อย่างไร

ผิน ชุณหะวัณ

เป็นที่ทราบดีว่า “รัฐประหาร 2490” รัฐประหารครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของไทยกระทำโดย “คณะทหาร” มีพลโท ผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) นายทหารนอกราชการเป็นผู้นำ ซึ่งภายหลังได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นผู้นำคณะ และเบื้องหลังการชักชวนครั้งนี้มีวิธีการเจรจาเฉพาะตัวประกอบกับเรื่องราวในการชักชวนด้วย

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารนำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารซึ่งเคยถูกสื่อเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “รัฐประหารด้วยน้ำตา” และเมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลโท ผิน หัวหน้าคณะทหารแถลงต่อหน้าสื่อ รายงานข่าวในสมัยนั้นบรรยายว่า “เป็นถ้อยแถลงที่เต็มไปด้วยอารมณ์…กระทั่งมีการหลั่งน้ำตาประกอบการแถลงด้วยเพราะความสงสารประชาชน!” ซึ่งเป็นเหตุให้สื่อสิ่งพิมพ์ตั้งสมญานามในภายหลังได้เป็นจอมพลแล้วว่า “จอมพลเจ้าน้ำตา”

วลีหนึ่งในการแถลงต่อหนังสือพิมพ์คือ

“ที่ต้องทำงานครั้งนี้ก็เพราะสุดที่จะทนทานได้ เมื่อยึดการปกครองได้แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป”

หากจะกล่าวถึงเบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้คงต้องย้อนไปกล่าวถึง “สาเหตุที่มา” อันนำมาซึ่งความรู้สึก “สุดทนทาน” ต่อกลุ่มคณะทหาร กระทั่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

ภายหลังพลโท ผิน ถูกออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2488 ท่านพาครอบครัวอพยพไปอยู่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในบันทึกเรื่อง “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ” ซึ่งเป็นผลงานการเขียนโดยพลโท ผิน เอง บรรยายเหตุผลไว้ว่า เนื่องจากสถานการณ์สงคราม (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) ยังคุกรุ่น ข้าศึกทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯเสมอ จึงเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัย และตั้งใจว่าจะปักหลักอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต โดยพลโท ผิน เริ่มทำสวนครัวเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายของรัฐบาล

แต่เมื่อไปใช้ชีวิตแล้วจึงประสบเห็นการเอาเปรียบจากพ่อค้าจีนที่เอากำไรเกินควร เห็นภาพราษฎรที่ยากจน และพยายามแก้ไขปัญหา ขณะที่คิดว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหมดแล้ว กลับมีเรื่องเดือดร้อนขึ้น โดยกำนันมาแจ้งข่าวว่า มีกลุ่มผู้ร้ายเตรียมวางแผนปล้นบ้านด้วยอาวุธที่ทันสมัยเนื่องจากเห็นว่าเป็นบ้านแม่ทัพเมื่อครั้งมีสงครามน่าจะมีฐานะร่ำรวย กำนันยอมรับว่าเกินกำลังจะคุ้มกันได้ ครอบครัวของพลโท ผิน จึงตัดสินใจกลับเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นจึงเข้าสู่การเริ่มต้นความคิดรัฐประหาร

ในบันทึก “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ” อธิบายช่วงต้นเหตุก่อนการก่อหวอดรัฐประหารว่า

“เมื่อข้าพเจ้ากลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีข่าววิพากษ์วิจารณ์แต่เรื่องอกุศลต่างๆ คือเมืองเราเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวแท้ๆ แต่ต้องเข้าคิวซื้อข้าวกิน และข้าวที่ได้มานั้นก็มีคุณภาพเลวที่สุด เครื่องนุ่งห่มขาดแคลนลงทุกๆ วัน ชาวจีนก่อการวิวาทตำรวจต้องทำการปราบปราม เราได้ยินแต่เสียงปืนไม่เว้นแต่ละวัน…ประชาชนในพระนครเกิดอลเวงคล้ายบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ตามร้านขายอาหารขายกาแฟ และโรงมหรสพ กล่าวติเตียนรัฐบาลไปหมดเหลือที่จะฟังได้…”

ภายหลังจากรับฟังไปนานวันเข้า พลโท ผิน ยอมรับว่า “ทำให้จิตใจของข้าพเจ้าฟุ้งซ่านขึ้น ใจหนึ่งก็ใคร่จะได้ทำการแต่อีกใจหนึ่งก็ท้อถอย แบ่งรับแบ่งสู้อยู่หลายเดือน ในที่สุดจิตใจก็ชักเอนเอียงไป 75% จึงเริ่มเดินทางไปตามร้านกาแฟ โรงมหรสพ รถยนต์ รถเมล์ประจำทาง และในขบวนรถไฟแทบทุกสาย เพื่อฟังมติมหาชนและฟังมติของนายทหารผู้คุมกำลังในพระนครและหัวเมือง ก็ปรากฏว่าเกือบ 100% ที่จะให้ล้มล้างรัฐบาลนี้”

หลังจากวิเคราะห์ ทบทวน การคิดหาวางแผนการต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็เชิญตัวหัวหน้าผู้คุมกำลังทหารในพระนครมาเจรจาหารือด้วย พลโท (จอมพล) ผิน เล่าว่า ส่วนใหญ่เต็มใจร่วมทุกราย ยกเว้นเพียงแต่ผู้บังคับกองทหารสื่อสารและผู้บังคับการกรมการขนส่งทหารบก ซึ่งพลโท ผิน เล่าในบันทึกว่า “ข้าพเจ้าขู่ว่าถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้นิ่งเสียขืนปากบอนต้องตาย”

เมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้วพบว่า ผลได้ผลเสียนั้น เป็นผลได้สำหรับประชาชน 100% ของผู้ควบคุมกำลังทหาร 90% ซึ่งเป็นผลพอจะดำเนินการได้ จึงนำข้อความนี้เสนอต่อ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสถานะนอกราชการเช่นกัน

ในตอนแรกนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีท่าทีไม่ให้ความร่วมมือ โดยบันทึกของพลโท ผิน เล่าปฏิกิริยาของจอมพล ป. ตอนหนึ่งว่า

“ครั้งแรกไม่ได้ผล รู้สึกว่าท่านหัวเสียขึ้นทันที พูดเสียงดังคล้ายไม่พอใจข้าพเจ้า และกล่าวว่าป๋าจะมาชักชวนให้ผมติดตะรางอีกหรือ ผมคิดตะรางมาครั้งหนึ่งแล้วเพราะการเมือง ครั้งต่อไปอาจจะถูกลงโทษยิ่งกว่าคราวที่แล้ว ขอให้หยุดพูด ข้าพเจ้าก็ลากลับบ้านและพิจารณาดูว่า ขณะนี้ท่านกำลังชอบเล่นต้นไม้ จึงนำต้นวันด้า 1 มัดไปให้ท่านและช่วยท่านปลูกด้วย กำลังช่ายท่านปลูกต้นไม้อยู่นั้นก็พูดถึงความปั่นป่วนของบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ ท่านก็นิ่งเฉย และพูดอ่อนลงบ้างว่า ชาติไม่ใช่ของเราคนเดียว คนอื่นเขาช่วยได้ถมไป

ครั้งที่ 2 นี้ข้าพเจ้าเห็นจะกรำแดดมากเกินไป พอกลับถึงบ้านก็เป็นไข้ไป 3-4 วัน เมื่อไปพบท่านครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าพูดเป็นครั้งสุดท้ายว่าได้ตกลงกับผู้ควบคุมทหารในพระนครหมดแล้ว เสียแรงท่านสร้างบ้านเมืองเจริญมาถึงเพียงนี้ จะไม่สร้างต่อไปอีกหรือ ท่านก็นิ่งตามเคยและเดินขึ้นบ้านทันที

ข้าพเจ้าเกือบเสียมารยาทไม่ได้ลาใครรีบเดินออกจากบ้าน ทันใดนั้นท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม รีบเดินมายึดแขนข้าพเจ้าไว้ และกล่าวว่าป๋าทำไปเถิด ท่านไม่ทอดทิ้งดอกเล่นตัวไปอย่างนั้นเอง แล้วข้าพเจ้าก็ลาท่านกลับบ้าน

ข้าพเจ้าทบทวนคำพูดของท่านหญิงฯ อยู่หลายวัน และปรึกษากับพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเคยได้รับใช้ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คงได้ความว่าถ้าสิ่งใดท่านต้องการมักจะพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาคล้ายไม่เอาใส่ใจเป็นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตกลงใจจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้…”

การทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2490 สำเร็จลุล่วง ในเวลา 9.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน วันต่อมาคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐประหาร ที่ประชุมคณะรัฐประหารที่มีจอมพล ป. เป็นประธาน ยังแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (นายควง มีบทบาทสำคัญในการขย่มเก้าอี้นายกฯของ พล.ร.ต. ถวัลย์ อาทิ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 7 วัน 7 คืน และถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรก)

ในหนังสือ “กองทัพบกกับประเทศไทย” โดย เสถียร จันทิมาธร และขรรค์ชัย บุนปาน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “รัฐประหารจะสำเร็จได้จึงนอกจากบารมีทางการทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือทหารประจำการ” โดยบรรดาทหารทหารที่โดดเด่นคือ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และพันเอกถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายร้อย

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปจากเอกสารและบันทึกประวัติศาสตร์ว่า สาเหตุของการทำรัฐประหารครั้งนั้นคือกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8, การคอร์รัปชั่น, ปัญหาเศรษฐกิจ, รัฐธรรมนูญ และตัวนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐประหารแล้ว พลโท ผิน ก็ไม่ได้รับเป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า ไม่คุ้นเคยกับข้าราชการทหาร ไม่สนใจและไม่มีความรู้ทางการเมือง ความรู้ด้านภาษาอังกฤษไม่ดี และเหตุผลประการสำคัญจากการอธิบายของท่านเองคือ

“ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้ความยุติธรรมต่อข้าพเจ้าหลายครั้ง…การทำรัฐประหารข้าพเจ้ามีความประสงค์อันแน่วแน่ที่จะให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมและเพื่อจรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่นำโดยนายควง ดำเนินมาเพียงไม่ถึง 3 เดือน คณะทหารก็ส่งจดหมายขอให้นายควง ลาออกจากตำแหน่ง และจัดตั้งการเลือกตั้ง ระหว่างช่วงเวลาหลังจากรัฐประหารมาจนถึงช่วงรัฐบาลนายควง ลาออก เริ่มมีใบปลิว(เถื่อน) แจกจ่ายหลายแห่ง มีเนื้อหาเรียกร้องให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดความเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ สนับสนุนให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี

และแล้วในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยวันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า

“…(ข้าพเจ้า) เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ามิได้บังคับให้พระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าขึ้นมา”

วันที่ 15 พฤษภาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้พลเอก ผิน ชุนหะวัณ


อ้างอิง:

ขรรค์ชัย บุนปาน, เสถียร จันทิมาธร. กองทัพบกกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2526

ผิณ ชุณหะวัณ, จอมพล. “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ”. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2562