เผยแพร่ |
---|
รัฐประหาร 2490 สั่งปลดนายตำรวจสันติบาล โทษฐาน “ไม่รู้กาลเทศะ”
หลังการรัฐประหาร 2490 (8 พฤศจิกายน 2490) ที่ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน มีคำสั่งทหารแห่งประเทศไทย จากกระทรวงกลาโหม ลงนามโดย พล.ท. ผิน รองผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เรื่องให้นายตำรวจออกจากราชการ มีความว่า
“ให้นายตำรวจออกจากราชการ ดังมีรายนามต่อไปนี้ 1. พ.ต.ต. เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ ผู้กำกับกอง 2 กองตำรวจสันติบาล 2. ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์ สารวัตรแผนก 2 กองตำรวจสันติบาล”
แต่ในประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า นายตำรวจทั้งสองมีความผิดเรื่องใด
ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์ รับทราบคำสั่งข้างต้นจาก พ.ต.ท. จำรัส มัณฑุกานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจสันติบาลฝ่ายต่างประเทศ โดย พ.ต.ท. จำรัสกล่าวว่า “ผมรู้ว่าคุณทำงานดี แต่คุณไม่รู้จักกาลเทศะ…งานการเมืองไม่เหมือนงานอื่นๆ”
เมื่อ ร.ต.อ. เฉียบเข้าพบ พ.ต.อ. ขุนประสงค์สิทธิการ (ประสงค์ ลิมอักษร) ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล อธิบายเพิ่มเติมว่า
“เดิมคำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่ง ‘ไล่ออก’ แต่หลวงชาติฯ ท่านทักท้วงว่า ถ้าไล่ออกก็ไม่ได้บำนาญ กรณีนี้เป็นเรื่องการเมือง เมื่อจะให้ออกก็ขอให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ เพราะจะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆ จะเสียน้ำใจไม่เป็นอันทำงาน ทางฝ่ายทหารเขาก็เข้าไปปรึกษาหารือกันใหม่”
พ.ต.อ. ขุนประสงค์สิทธิการ ยังกล่าวย้ำว่า “คุณไม่มีความผิดสิ่งใด เขาก็ยังเอาคุณออกได้ ไม่ช้าเขาก็คงปลดผมเหมือนกัน”
ซึ่งก็เป็นจริงดังนั้น เพราะในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารก็มีคำสั่งย้าย พ.ต.อ. ขุนประสงค์สิทธิการออกจากตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจสันติบาล แล้วให้ พ.ต.อ. เนื่อง อาขุบุตร เข้าดำรงตำแหน่งแทน
ย้อนกลับดูว่า ร.ต.อ. เฉียบ กันต่อว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น อัมพุนันท์) จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกสายตํารวจแล้ว เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตํารวจตรี รองสารวัตรในกองตํารวจภูธร จากนั้นก็ย้ายมาเป็นรองสารวัตรในกองกํากับการตํารวจสันติบาล กอง 2 ซึ่งถือเป็นกองหัวใจของงานสันติบาล ในปี 2485 เป็นสารวัตร แผนก 4 กองตํารวจสันติบาล กอง 2, ปี 2486 เข้าร่วมเป็นเสรีไทย ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งรองผู้กํากับการตํารวจภูธร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อปฏิบัติงานเสรีไทยที่นั่น, ปี 2488 ย้าย กลับมาเป็นสารวัตร กองตํารวจสันติบาล กอง 2 เช่นเดิม จนกระทั่งถูกให้ออกจากราชการ
ร.ต.อ. เฉียบติดตามข่าวการเคลื่อนไหวของคณะรัฐประหารมาทุกระยะ
นับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์) ในเดือนพฤษภาคม 2490 แล้วเสียงรัฐประหารก็หนาหูขึ้นเรื่อยๆ จนหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับประจําวันที่ 11 กรกฎาคม 2490 เสนอบทนําว่า “ปฏิวัติออกจะเป็นคําที่หวนกลับมาหนาหูหน่อยในระยะนี้” ช่วงเวลาดังกล่าวจนถึงวันที่มีการรัฐประหารเขาได้นําเสนอรายงานถึงผู้บังคับบัญชาเป็นระยะๆ จนถึงขนาดขออนุมัติจับผู้ต้องหาด้วยข้อหากบฏ
ทว่าการรายงานข่าวของเขาไม่บังเกิดผลอย่างใด เพราะไม่มีผู้ใดสนใจจะปกป้องรัฐบาล
นอกจากนี้ เขายังถูก พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส (หลวงอดุลเดชจรัส อดีตอธิบดีกรมตํารวจ) ผู้บัญชาการทหารบกตําหนิอย่างรุนแรงผ่านนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทําเนียบท่าช้างว่า ตํารวจสันติบาลเข้าไปสืบข่าวทหาร โดยหาว่า “มันต้องการรู้อะไร ทําไมไม่ถามผู้บัญชาการทหารบก”
ในเดือนตุลาคม ร.ต.อ. เฉียบได้ทํารายงานการเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐประหารถึง พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ) อธิบดีกรมตํารวจหลายครั้ง แต่ทุกครั้งอธิบดีกรมตํารวจก็เซ็นกลับลงมาว่า “ทราบ-เก็บ” หรือไม่ก็ว่า “ทราบ-รวมเรื่อง” เมื่อเขารายงานว่า จะมีการยึดอํานาจในเดือนพฤศจิกายน แต่ยังไม่อาจระบุวันและเวลาอันแน่นอนได้ ผลก็คงเป็นเช่นเดิม
เมื่อเขาทราบข่าวว่า พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ บุตรเขย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ กําลังจะเดินทางไปนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งอํานาจของ พล.ท. ผิน ก็ทําให้เขามั่นใจว่าการรัฐประหารจะต้องเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า จึงได้เสนอรายงานขออนุมัติทําการจับกุมผู้ต้องหา “กบฏ” แต่อธิบดีกรมตํารวจก็ยังเพิกเฉย เมื่อเขาขอเข้าพบท่านอธิบดีที่บ้าน ท่านอธิบดีก็ตอบว่า
“เราเป็นข้าราชการประจํา ไม่เกี่ยวกับข้าราชการการเมือง ทหารเขาจะยึดอํานาจก็เพื่อจะเปลี่ยนตัวพวกการเมือง เราก็ไม่เกี่ยวข้องอะไร”
ร.ต.อ. เฉียบยังสนทนากับ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตํารวจเขต 9 เรื่องจะมีการกบฏ พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ก็ตอบว่า “เรื่องกบฏกะแบฏผมรู้สึกเฉยๆ เพราะคนที่จะก่อการเช่นนั้นก็เป็นคนไทยที่รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน”
เมื่อ ร.ต.อ. เฉียบ กับ พ.ต.ต. เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ รายงานเรื่องนี้กับ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่บ้านพักว่าจวนจะเกิดรัฐประหารแล้ว ท่านก็แบมือแล้ว กล่าวว่า “ลื้อจะให้อั๊วทํายังไง เมื่อฝ่ายค้านต้องการให้เปิดอภิปรายทั่วไป อั๊วก็เปิดแล้ว อั๊วก็ยังได้รับความไว้วางใจในรัฐสภา แม้กระนั้นอั๊วก็ลาออก แล้วมาตั้งอั๊วเป็นนายกอีก แล้วจะปฏิวัติกัน อั๊วก็ไม่รู้จะทําอย่างไร”
สุดท้าย เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ร.ต.อ. เฉียบ ตัดสินใจเผาเอกสารคํารายงานทั้งหมดทิ้ง เพราะเห็นว่านอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจเกิดโทษตามมา
วันที่ 11 พฤศจิกายน ร.ต.อ. เฉียบ และ พ.ต.ต. เชาวน์ ได้รับคําสั่งให้ออกจากราชการ ดังกล่าว
ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์ กล่าวถึงการที่เขาต้องถูกให้ออกจากราชการครั้งนี้ว่า
“…นายทหารกองหนุนลุกขึ้นทําการรัฐประหาร แล้วสั่งปลดนายตํารวจประจําการโดยไม่มีความผิดแต่ประการใด นี่คือความเป็นธรรมที่ข้าพเจ้าได้รับคําสั่งนี้มิได้ผ่าน ก.พ. มิได้ผ่านเจ้ากระทรวง หรือมีคําสั่งของเจ้ากระทรวงออกทับสั่งการมาภายหลังแต่อย่างใด”
นักสังเกตการณ์หลายท่านลงความเห็นว่า ขณะที่เขารายงานการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามก็เห็นการเคลื่อนไหวของเขาเช่นกัน จึงไม่แปลกอะไรที่เขาจะต้องออกจากราชการภายในเวลาเพียง 2-3 วันหลังการรัฐประหารเสร็จสิ้นลง
อ่านเพิ่มเติม :
- ตร.รถถัง “ผาด ตุงคะสมิต” เมาช่วงรัฐประหาร 2490 และเหตุถูกถอด “รถเกราะถูกทหารยึดไปหมด”
- สาเหตุ “รัฐประหาร 2490” จากปัญหานานัปการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ
- ทำไม พลโท ผิน ผู้นำรัฐประหาร 2490 ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 21 พฤศจิกายน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563