ทำไม “พลโท ผิน” ผู้นำรัฐประหาร 2490 ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำ รัฐประหาร 2490
จอมพลผิน ชุณหะวัณ

ภายหลัง รัฐประหาร 2490 (8 พฤศจิกายน 2490) พลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการ สังกัดกองบังคับการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหัวหน้านำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของ พล ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้ว พลโท ผิน ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เสียเอง ซึ่งเหตุผลที่ไม่รับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” นั้น พลโท ผิน อธิบายไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยผู้เขียน]

“อนึ่ง มีบุคคลเป็นส่วนมากวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวข้าพเจ้าว่า เป็นผู้นําทําการรัฐประหารแล้ว เหตุใดจึงไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง เรื่องนี้ไม่มีผู้อื่นใดทราบความเป็นอยู่ของตัวข้าพเจ้าเอง เพราะมีเหตุผลอยู่หลายประการ กล่าวคือ :

ตั้งแต่ออกรับราชการครั้งแรก ก็อยู่แต่หัวเมือง ไม่คุ้นเคยกันข้าราชการทหารมากนัก ยิ่งข้าราชการพลเรือนก็คุ้นเคยแต่เฉพาะจังหวัดที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่เท่านั้น ตลอดจนเจ้านายไม่เคยรู้จักข้าพเจ้าเว้นแต่ พลโท พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ราชบุรี และ พลตรี หม่อนเจ้าทองฑีฆายุ ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ปราจีนบุรี ซึ่งข้าพเจ้าเอะอะก็จะขึ้นบริหารประเทศชาติรู้สึกว่าจะไปไม่ได้กี่วันเป็นประการแรก

ประการที่ 2 การเมืองมีการสลับซับซ้อนกันมาก ซึ่งเห็นตัวอย่างมาแล้วได้แก่พวกก่อการ 2475 พอทําการเป็นผลสําเร็จก็มีกบฏเกิดขึ้นเป็น 2-3 ครั้ง ทั้งพวกก่อการด้วยกันเองก็แตกแยกเป็นหลายก๊กหลายพวก ถึงกับจะควบคุมพรรคพวกรบกันเองเพื่อจะครองอํานาจเป็นใหญ่ก็มีหลายครั้ง ยิ่งข้าพเจ้าไม่สนใจและไม่มีความรู้ ตลอดจนไม่ได้ศึกษาเรื่องการเมืองแม้แต่น้อยเท่ากับมีฐานะอยู่เพียงพื้นราบจะกระโดดทีเดียวให้ถึงยอด อาจจะตกลงมาคอหักตายด้วยกลไกวิถีทางการเมืองก็เป็นได้

ประการที่ 3 สมัยนี้โลกคับแคบด้วยความเจริญทางวิทยาศาสตร์ การสัญจรไปมาระหว่างประเทศซึ่งสมัยก่อนใช้เวลาไปมาตั้งแต่เดือน มาสมัยนี้ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ย่อมจะมีประมุขของประเทศต่างๆ มาเยี่ยมเยือนไม่เว้นแต่ละเดือน ถ้าถูกนายกรัฐมนตรีอย่างข้าพเจ้า โดย เอ บี ไม่กระดิกหูเพียงจะคุยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไปไม่ไหวเสียแล้ว จะเอาหน้าของประเทศชาติไปไว้ที่ไหน ทั้งสมองที่จะพลิกแพลงทางการเมืองก็เข็นไปไม่ไหว ได้แต่มีกําลังใจกําลังกายในการเสียสละเพื่อประเทศชาติเท่านั้น ฉะนั้น จึงเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้

ประการที่ 4 ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ความยุติธรรมต่อข้าพเจ้าหลายครั้ง คือ ครั้งแรกมีผู้ก่อการด้วยกันมียศพันโทไม่เต็มขั้นอยู่ 2 นาย และข้าพเจ้ายังมีเงินเดือนไม่เต็มขั้นชั้นพันโทเช่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าได้รับยศเป็นพันเอกก่อน ถึงกับผู้ก่อการทั้ง 2 นายนั้น เข้าไปต่อว่าต่อขานกับท่านว่า ข้าพเจ้ามีดีวิเศษอย่างใดจึงได้รับยศเป็นพันเอกก่อน

ทั้งนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเมื่อเสนาธิการทหารบก ไปตรวจราชการที่มณฑลทหารบกที่ 3 นครราชสีมา ซึ่งข้าพเจ้าครองตำแหน่งนี้อยู่ และได้ผลดีเด่นกว่าอีก 4 มณฑล ต่อจากนั้นเมื่อสงครามมหาบูรพาเอเชีย โดยที่ข้าพเจ้าได้นำนายทหารกองพลที่ 3 เข้าตีและยึดนครเชียงตุงได้ ได้มีปากมีเสียงโต้ตอบแม่ทัพพายัพอย่างรุนแรงหลายตรั้ง ทั้งรายงานข้ามหน้าแม่ทัพพายัพอีกด้วย

ถ้าจะพิจารณาทางวินัยทหารในสงครามแล้ว นับว่าข้าพเจ้ามีความผิดอย่างร้ายแรง แต่ด้วยความกรุณาปราณี เห็นอกข้าพเจ้าที่ทหารในกองพลที่ 3 ที่ได้รับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส ถึงกับส่งนายพล 3 นายขึ้นไปตรวจสอบสวนความเดือดร้อนของข้าพเจ้าและของทหาร

ฉะนั้น การทำรัฐประหารครั้งนั้นข้าพเจ้ามีความประสงค์อันแน่วแน่ ที่จะให้จอมพล ป. พิบูลสงคาม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อจรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ด้วยเหตุผลทั้ง 4 ประการที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ. “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ” ใน, หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2563