ตร.รถถัง “ผาด ตุงคะสมิต” เมาช่วงรัฐประหาร 2490 และเหตุถูกถอด “รถเกราะถูกทหารยึดไปหมด”

รัฐประหาร พ.ศ. 2490
ภาพเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (ภาพจากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้งานแล้ว)

ตำรวจรถถัง “ผาด ตุงคะสมิต” เมาช่วง “รัฐประหาร 2490” และเหตุถูกถอด “รถเกราะถูกทหารยึดไปหมด”

เรื่อง “อัตชีวประวัติของนายตำรวจรถถัง” (ชื่อบทความเดิมในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549) นี้ คัดทั้งหมดมาจากเรื่อง “อัตชีวประวัติของพ่อ” ซึ่งเขียนโดยท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติเอง, ลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ อดีต พล.ต.จ. ผาด ตุงคะสมิต ณ ฌาปนสถานกรมตำรวจ วัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527

อดีตนายพลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต เป็นผู้มีบทบาทอยู่ไม่น้อยในประวัติการเมืองไทยหลัง “รัฐประหาร 2490” โดยเฉพาะเมื่อพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ภายหลังเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจแล้ว จึงต้องถูกออกจากราชการ ข้อความที่คัดมานี้ ไม่ได้มีการตัดทอนใดๆ ข้อความที่ละไว้, ข้อความในวงเล็บ, ล้วนเป็นไปตามต้นฉบับเดิม

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

หมายเหตุ: จัดย่อหน้าใหม่ในฉบับออนไลน์เพื่อสะดวกต่อการอ่าน และเน้นคำเพิ่มเติม


อันชีวิตของข้าฯ นี้ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย บรรพบุรุษเป็นชาวนา ตัวข้าฯ ก็เป็นชาวนา และไถนาเป็นด้วย ตัวข้าฯ ก็เคยเป็นลูกศิษย์วัด อยู่กับพระ ตัวข้าฯ ก็เคยมาร่ำเรียนหนังสือที่เมืองบางกอกและจบชั้น ม.8 สวนกุหลาบฯ

ตัวข้าฯ ออกรับราชการเป็นนายทหารม้าเมื่อปี พ.ศ. 2480 ณ ดินแดนแห่งปราจีนบุรี ตัวข้าฯ เป็นนักกีฬาบนหลังม้าที่น่าดูคนหนึ่งเหมือนกัน

ตัวข้าฯ เมื่อเป็นทหารม้าอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งให้ไปประชิดชายแดนด้านอรัญประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ตัวข้าฯ ขณะที่ปฏิบัติราชการสนามอยู่นั้น ได้รับคำสั่งให้ไปประจำกรมรถรบในหน้าที่ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 2 รถรบ บางซื่อ พระนคร ในตอนนี้ ข้าฯ ยังไม่มีครอบครัว ยศ ร.ท. เที่ยว ดื่ม…

ตัวข้าฯ ได้รับคำสั่งให้เป็น ผบ.ร้อย ไปรับมอบดินแดนที่พระตะบอง แต่ต้องเข้าโรงพยาบาลเสียก่อน เพราะโรคไส้ตัน ต้องทำการผ่าตัด นอน 24 วัน ณ ร.พ.พระมงกุฎเกล้า เรื่องงานแล้วข้าฯ ขยันมาก ไม่เคยกลัวใครในเรื่องนี้

เมื่อข้าฯ เป็น ร.อ.ทหารรถรบ ข้าฯ ไปเข้าเรียนในโรงเรียน นายทหารฝึกหัดราชการทหารม้าเป็นเวลา 1 ปี เมื่อสำเร็จแล้วกลับไปเป็น ผบ.ร้อยรถรบอย่างเคย

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปอยู่ลพบุรี ปี พ.ศ. 2485 ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้เป็น ผบ.รบ. ประจำกองทัพที่ 2 คุมกำลังไปประจำเมืองสระบุรี

ประมาณปี พ.ศ. 2488 หรือ 2489 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ข้าฯ นำกำลังรถรบกลับที่ตั้งเดิมกรุงเทพฯ

เมื่อปี พ.ศ. 2485 เพราะข้าฯ หนุ่ม ข้าฯ จึงต้องถูกออกจากราชการประมาณ 6-7 เดือน แล้วกลับเข้ารับราชการเช่นเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2487 ต้นปี

นิสัยของข้าฯ ไม่อยากเห็นการคอร์รัปชั่น ไม่อยากเห็นความเหลวแหลกของบ้านเมือง

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ข้าฯ ถูกให้เข้าร่วมทำการรัฐประหารโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วก็เรียบร้อยในวันนี้ ข้าฯ เมาตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเวลา 3 ทุ่มเศษ เขาเรียกไปสั่งการให้ใช้กำลัง

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ข้าฯ ได้รับคำสั่งจาก ผบ.สูงสุด ให้เป็น ผบ.รบ. (ผู้บังคับการรถรบ)

เมื่อเหตุการณ์รัฐประหารเรียบร้อย ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้ มอบหน้าที่ ผบ.รบ. คืนให้แก่คนเก่า ข้าฯ ได้รับคำชมเชยว่าปฏิบัติงานได้ดีมาก… (ความจริงเรื่องเล็ก) เรื่องดังกล่าว มนุษย์หลายคนมันอิจฉาริษยาตัวข้าฯ มาก เพราะข้าฯ เป็นถึง ผบ.รบ.

ปี พ.ศ. 2491 ข้าฯ ต้องเปลี่ยนอาชีพจากทหาร มาเป็นโปลิศ พร้อมๆ กับผู้ยิ่งใหญ่ เช่น ท่านเผ่า ท่านลม้าย เข้าใจว่าท่านคงจะชอบข้าฯ จึงอยากให้ข้าฯ ไปเป็นโปลิศ เมื่อเป็นโปลิศ ข้าฯ ถูกเป็น
โปลิศสันติบาลกอง 4 ในตำแหน่งรองผู้กำกับการ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 เกิดกบฏอีก ข้าฯ ต้องแสดงในเรื่องจับกุมอีก สนุกดี

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เกิดกบฏอีก ข้าฯ ต้องแสดงอีกเช่นเคยแม้ว่าจะไปเป็นโปลิศแล้ว แต่ท่านแม่ทัพสฤษดิ์ สั่งให้ข้าฯ นำรถถังทหาร 2 คัน ไปยึดกรมโฆษณาการไว้ให้ได้…เรียบร้อย

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 ข้าฯ ถูกสั่งให้ช่วยคุมตัวผู้ต้องหาคดีกบฏ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ไปขังที่บางเขน (4 อดีตรัฐมนตรี) เกิดถูกยิงตายหมด มีคนเขาพูดกันว่า ข้าฯ รู้เรื่อง แต่ความจริงแล้ว ข้าฯ ไม่รู้เรื่องนี้เลย รู้แต่ว่าตาย แต่ใครยิง ข้าฯ ไม่รู้

ปี พ.ศ. 2492 ประมาณกลางปี หรือปลายปี ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อดูงานและซื้อรถเกราะ สแตกฮาวนด์ เป็นจำนวน 50 คัน ข้าฯ อยู่ที่อังกฤษ 3-4 เดือน ก็กลับ คิดถึงบ้านแทบตาย พูดภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นเต็มที แต่ก็พอเอาตัวรอดกลับมาเมืองไทยได้

ระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษ ได้รับทราบว่าทางราชการทหารเลื่อนยศให้ เป็นพันตรีแห่งรถรบ

เมื่อเป็นทหาร ข้าฯ ก็หากินกับเหล็ก (รถถัง) ครั้นย้ายมาเป็นโปลิศ ก็ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับหน่วยยานเกราะตำรวจอีก ถ้าท่านคงจะเห็นฝีเท้าละมัง…ไม่ขัดข้อง

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ดูเหมือนข้าฯ ยศ พ.ต.ท. เกิดกบฏแมนฮัตตัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกทหารเรือจับ ข้าฯ สั่งรถเกราะออกปฏิบัติการทันที โดยมิต้องฟังคำสั่งใคร…การกระทำของข้าฯ ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ ข้าฯ ได้บำเหน็จ 3 ขั้น

ในปี พ.ศ. 2494 ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปต่างประเทศอีก เพื่อตรวจรับรถเกราะมอริส ที่ประเทศอังกฤษ และดูงานที่ฝรั่งเศส อิตาลีด้วย ประมาณ 3-4 เดือน

ปี พ.ศ. 2497 ข้าฯ ได้รับยศเป็น พ.ต.อ. แล้ว และได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประเทศอเมริกา ทำให้มีโอกาสเดินทางรอบโลก โดยผ่านตะวันตก กลับทางตะวันออก โดยเฉพาะฮาวาย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ทำให้ตาสว่างขึ้นมาก ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นนายผาด…(อ่านไม่ออก)

ในปี พ.ศ. 2497 นี้เอง ข้าฯ ต้องปรับปรุงสถานที่ทำงานใหม่ในวังปารุสฯ และโรงช้างดุสิต ปรากฏทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. 2497 นี้เอง ก็ได้รับคำสั่งให้ปกครองบังคับบัญชาหน่วยพลร่มด้วย และในวันเปิดค่ายนเรศวร พลร่มหัวหิน ข้าฯ ได้รับเกียรติให้ติดปีกพลร่ม และแหวนพลร่มด้วย โดยที่ปรึกษาฝรั่งอเมริกัน
มอบให้

ในปี พ.ศ. 2494 หลังจากปราบกบฏแมนฮัตตันแล้ว ข้าฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ส.ส. 2

ในปี พ.ศ. 2494 นี้เอง ข้าฯ ได้รับเกียรติให้เป็นนายตำรวจราชสำนักเวร ถวายความอารักขาพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2499 ข้าฯ ได้รับพระราชทานยศเป็น พล.ต.จ. ซึ่งข้าฯ ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้…ดีใจมาก

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2499 ข้าฯ ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ หลังสน.บางซื่อ ซึ่งเกิดจากความอุตสาหะวิริยะของข้าฯ เอง…ปลื้มใจมาก นับว่าข้าฯ สร้างรังให้ลูกและเมียอยู่สมความตั้งใจ และโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง
แม้ว่าข้าฯ นี้จะมีอะไรเกิดขึ้นในวงการเมือง โดยเฉพาะในพรรคเสรีมนังคศิลา ข้าฯ ได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการบริหารกลางของพรรค 2 ครั้ง โดยการเลือกของที่ประชุม ข้าฯ ภูมิใจในเกียรติที่ข้าฯ ได้รับมาก

ในชีวิตของข้าฯ ข้าฯ ทำงานประจำด้วยความมานะพากเพียร จนได้รับยศ ตำแหน่งเป็น พล.ต.จ. และตำแหน่งรองผู้บังคับการกองยานยนต์ แต่ข้าฯ ก็ถูกเพ่งมองด้วยความอิจฉาริษยา ข้าฯ เป็นคนประจบคนไม่เป็น พูดตรงๆ และถ้าดื่มก็ไม่ไว้หน้าใคร

ในชีวิตทางการเมือง ข้าฯ ช่วยงานของพรรคไม่น้อย แต่นายข้าฯ มองไม่ค่อยเห็น มันกรรมของข้าฯ แต่อย่างไรก็ดี ข้าฯ คิดว่า ข้าฯ ทำงานให้แก่ประเทศชาติมิใช่บุคคลใด แต่อย่างไรก็ดีช่วยค้ำบัลลังก์ให้มันใหญ่โตก็มากคน

ข้าฯ ต้องต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เคยแคร์ต่องาน ขอให้นายสั่งมา งานด้านรถเกราะข้าฯ อยากจะคุยว่าในวันสวนสนามเด่นที่สุด วินัยดีที่สุด

ข้าฯ มีภรรยาคนเดียว ซึ่งเป็นสุดที่รัก บุตรชาย 2 คน หญิง 5 คน รวม 7 คน หากข้าฯ ไม่ตอนเสีย คงจะมากกว่านี้…พอแล้ว เลี้ยงให้ดี

ข้าฯ เคยใฝ่ฝัน จะเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ แต่ลัทธิเล่นพวกข้าฯ เลยอด มันเอาพวกของมันเข้า

ข้าฯ ไม่มีพวก

ในปลายๆ ปี พ.ศ. 2499 ต้นปี พ.ศ. 2500 ข้าฯ กับนายของข้าฯ ชักจะพูดกันไม่รู้เรื่อง ข้าฯ เคยพูดเสมอว่า “อะไรที่ได้มาด้วยอำนาจ มันก็จะต้องหมดไปด้วยอำนาจ” แต่นายข้าฯ ไม่ชอบฟัง ข้าฯ ชอบพูดตรงๆ และขัดเมื่อไม่ถูก

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดการปฏิวัติกันใหม่ ข้าฯ ได้รับคำสั่งให้อยู่เฉยๆ และมิให้ใช้กำลัง ซึ่งไม่บอกก็ไม่เอาอยู่แล้ว เพราะเหตุการณ์มันไม่กระจ่างแล้วว่าอะไรเป็นอะไร สรุปแล้วก็คือผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายของเราเองทะเลาะกัน แล้วเราจะไปยุ่งกับท่านทำไม เรื่องของท่าน…ไม่เกี่ยว

แต่แล้ว…ข้าฯ ถูกคำสั่งให้เดินทางไปจัดให้ทางค่ายนเรศวรพลร่ม วางอาวุธเมื่อวันที่ 17 หรือ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 ข้าฯ ทำได้เรียบร้อย เพราะวินัยลูกน้องของข้าฯ ดี

ข้าฯ ว่า ข้าฯ จะไม่เกี่ยวกับใคร แต่แล้วข้าฯ ถูกออกจากตำแหน่ง ส.ส. 2 พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.กองยานยนต์ เพราะรถเกราะทหารยึดไปหมด

ข้าฯ ถูกสั่งให้ไปประจำกรมตำรวจ…เขาคงไม่ไว้ใจ ช่วยไม่ได้

วันที่ 25 หรือ 26 มกราคม พ.ศ. 2501 ข้าฯ ขออนุญาตบวชพระ เพราะไม่เคยบวชเลย แต่ก่อนบวช ข้าฯ พูดจาเรื่องอะไรต่างๆ กับท่าน…เรียบร้อยแล้วว่าไม่มีอะไร จึงตัดสินใจบวชให้พ่อและแม่เสียที แต่แล้ว…ข้าฯ บวชพระได้ 21 วัน ตามกำหนดที่ขอ สึกเมื่อวันที่ 15 หรือ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ก็ได้รับคำสั่งว่า เมื่อสึกแล้วให้ไปพบ รอง อ.ต.ร.

ระยะนี้รู้สึกกลิ่นไม่สู้ดีเสียแล้ว แต่ข้าฯ ก็พร้อม จะเอาอย่างไรก็เอากัน เรื่องหนีไม่เคยมีในความรู้สึก

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2501 เวลาประมาณ 13.00 น. ข้าฯ ได้รับโทรศัพท์จากกองสอบสวนที่วังปารุสฯ ให้ไปพบ ข้าฯ นึกไม่ผิดเลยว่าเขาเอาข้าฯ แน่ แต่ข้าฯ ก็ไป ลูกเมียไม่รู้เรื่องเลย ข้าฯ ขับรถไปคนเดียว มอบตัวในคดี 4 อดีตรัฐมนตรี

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2501 ข้าฯ หมดอิสรภาพ หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ผ่านมาแล้ว สมกับที่ข้าฯ เคยนึกไว้ว่า สักวันหนึ่งจะต้องเป็นเช่นนี้ เพราะเขาเล่น “กวนเมือง” กัน ข้าฯ ต้องถูกขัง เพราะเพื่อนร่วมตาย ที่สาบานกันไว้กลับสัตย์…(ตัด)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2563