2493 ฉ่ำ จำรัสเนตร สส.เมืองคอนถามรัฐบาล ซื้อรถถัง 250 คัน เป็นเงินเท่าไร เสียค่านายหน้าเท่าไร?

ฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส. นครศรีธรรมราช การเมือง เลือกตั้ง
ครูฉ่ำ หรือ ฉ่ำ จำรัสเนตร สส.นครศรีธรรมราช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2529)

งบประมาณยังน่าสงสัย สส. เลยต้องถาม ปี 2493 ฉ่ำ จำรัสเนตร สส. นครศรีธรรมราช ถามรัฐบาลเรื่องซื้อ “รถถัง” ว่า“รถถัง 250 คัน รัฐบาลซื้อมาเป็นจำนวนเงินเท่าไร และต้องเสียค่านายหน้า เท่าไร ใครเป็นผู้ทำการซื้อขายรถจำนวนนี้”

คำถามนี้ ฉ่ำ จำรัสเนตร ถามรัฐบาล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2493 เนื่องจากช่วงเวลานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการจัดซื้อรถถัง แต่ “ครูฉ่ำ” เห็นว่า การซื้อรถถังในช่วงเวลานี้อาจยังไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเชื่อว่า นับตั้งแต่วันตั้งกระทู้ถามนี้ไปภายใน 15 ปี จะไม่มีสงครามเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงถามถึงรัฐบาลว่า

Advertisement

“ทำไมรัฐบาลจึงซื้อเครื่องใช้ในการสงครามเกินสมควร เพราะเหตุใด และได้ซื้อเครื่องใช้เกี่ยวกับการสงครามจากต่างประเทศเป็นจำนวนเงินเท่าใด”

นาวาเอก หลวงสุนาวินวิวัฒ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามชี้แจงว่า “รถถัง 250 คัน ได้ทำสัญญาซื้อขายราคา 8,312,500 บาท กองทัพบกเป็นผู้ซื้อ บริษัทสายฟ้าแลบเป็นผู้ขาย ไม่ได้เสียค่านายหน้าในการซื้อ…ใน 15 ปีนี้จะมีสงครามหรือไม่ ไม่มีใครทราบแน่นอน การซื้อเครื่องใช้เป็นไปตามงบประมาณ”

ครูฉ่ำ สส. ที่ถูกหลายคนหาว่า “บ้า” (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2529)

ครูฉ่ำ ยังข้องใจถึงคุณภาพของรถถังที่จัดซื้อนี้ว่าจะมีคุณภาพดีหรือไม่ เพราะปรากฏเป็นข่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นรถชำรุด ดังรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย และจดหมายของคนไทยที่ส่งมาจากลังกา ชี้แจงว่าเป็นรถที่ใช้การไม่ได้แล้ว ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า ยังไม่ทราบว่ารถจะชำรุดหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รับ ขณะนี้ได้ตั้งกรรมการตรวจรับแล้ว แต่ทางบริษัทผู้ขายยังไม่พร้อมให้ตรวจรับ

ครูฉ่ำ ยังกล่าวอีกว่า “โดยเฉพาะรถถังบู๊และขึ้นสนิมทับกันมาหลายชั้นหลายเชิงเอามาไว้ที่อินเดีย และเสียหลายสิบคันที่ข้าพเจ้าไปดูที่คลองเตย พูดกันตรง ๆ โปรดกรุณา ที่ท่านว่าซื้อข้าพเจ้าจำจำนวนเงินไม่ชัดเจน ดูเหมือน 8 ล้านนั้น ให้สัก 4 ล้านเถอะ ให้เขาไป และอีก 4 ล้านเอาคืนจะได้หรือไม่…ข้าพเจ้าได้เห็นมาแล้วด้วยตนเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปจับ ลูบ คลำดูแล้ว และได้ไปถามนายยอดผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในการซื้อรถนี้ สมมติว่าซื้อ 8 ล้าน เราจะให้เขา 4 ล้าน อีก 4 ล้านไม่ให้จะได้หรือไม่…”

ครูฉ่ำได้เห็นสภาพรถถังแล้วคงคิดว่าไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายไป อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องนี้คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาซื้อขายที่ตกลงทำไว้แล้ว

นอกจากนี้ เป็นที่ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ของกระทรวงพาณิชย์ ได้ตีพิมพ์ข้อความเรื่องรถถังดังกล่าวนี้ว่า ‘รถถังสัปรังเค’ (สะกดตามต้นฉบับ) ซึ่งสร้างความฉงนไม่น้อย เพราะเป็นสิ่งพิมพ์ของรัฐบาล แต่กลับใช้คำที่ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตามที่ครูฉ่ำได้ถามว่า “รัฐบาลนี้พูดว่า รถถังสัปรังเคนั้นจริงหรือไม่ ดังนั้นปรากฏในหนังสือพิมพ์ของกระทรวงพาณิชย์ลงว่าอย่างนี้ รถถังสัปรังเค เพราะฉะนั้น เราจะเชื่อใคร จะเชื่อหนังสือพิมพ์หรือรัฐบาล หนังสือพิมพ์รัฐบาลบอกว่ารถถังสัปรังเค เพราะฉะนั้นจริงหรือไม่…”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบเพียงว่า เป็นเรื่องความเห็นของเจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์กระทรวงพาณิชย์ ตนก็เพิ่งทราบเรื่อง แต่เวลานี้กรรมการยังไม่ได้ตรวจรับรถถัง ทิ้งท้ายว่า ขอรับ (เรื่องรถถังสัปรังเค) ไปพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2563