ดูไม้เด็ดคนบ้า ปรมาจารย์การเลือกตั้ง “ฉ่ำ จำรัสเนตร” ทำไมเป็นส.ส.เมืองนครฯ ถึง 5 สมัย

ฉ่ำ จำรัสเนตร เลือกตั้ง ส.ส. นครศรีธรรมราช
ฉ่ำ จำรัสเนตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในการหาเสียงเลือกตั้งของบรรดา “ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” พรรคต่างๆ มักจะมีวิธีการและกลเม็ดเด็ดๆ ที่แตกต่างกันตามรูปแบบของพรรค เพื่อมัดใจประชาชนให้มาลงบัตรออกเสียงเลือกพรรคของตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการเลือกตั้งก็จะมีทั้งพรรคหน้าเก่าและพรรคหน้าใหม่ขึ้นเวทีประชัน เพื่อแย่งชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างที่รอการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ จึงอยากใคร่เชิญทุกท่านรำลึกถึงกลเม็ดเด็ดๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ “ฉ่ำ จำรัสเนตร” อดีต ส.ส. เมืองนครฯ ท่านหนึ่งเคยกระทำ

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2562 ภายในเล่มมีบทความที่กล่าวถึง ครูฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส. 5 สมัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง “ปรมาจารย์การเลือกตั้ง เบื้องแรกแห่งประชาธิปตัย ครูฉ่ำ จำรัสเนตร (พ.ศ. 2441-2521) ส.ส. เมืองคอน 5 สมัย” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางด้านการเมืองของครูฉ่ำตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การเป็น ส.ส. 5 สมัย จนกระทั่งครูฉ่ำติดคุกข้อหากบฏ

นายฉ่ำ จำรัสเนตร เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2441 ที่บ้านหัวถนน ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เดินทางสู่กรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2470

ภาพถ่าย ฉ่ำ จำรัสเนตร
ครูฉ่ำ จำรัสเนตร (พ.ศ. 2441-2521)

นายฉ่ำได้เข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลโรงเรียนเทศบาล วัดชนะสงคราม เป็นที่มาของชื่อ “ครูฉ่ำ” ที่เรียกกันจนติดปาก ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติโดยคณะราษฎร โรงเรียนที่อยู่ในเขตพระนครประกาศหยุดเรียนอย่างกะทันหัน ครูในโรงเรียนต้องคอยบอกนักเรียนทีละคนว่าโรงเรียนปิด แต่ครูโรงเรียนเทศบาล วัดชนะสงคราม ไม่ได้ให้นักเรียนกลับบ้าน เมื่อนักเรียนเดินทางมาถึงโรงเรียน ครูฉ่ำให้นักเรียนรวมตัวเข้าแถวเพื่อรอเดินแถวมุ่งหน้าถนนราชดำเนิน ตอนสะพานมัฆวานฯ

เมื่อมีผู้มาถามว่าจะพานักเรียนไปไหน ครูฉ่ำตอบกลับไปว่า “จะพานักเรียนไปช่วยปฏิวัติ…” เมื่อคณะปฏิวัติเดินทางผ่านจะพานักเรียนไชโยทุกครั้ง นอกจากนี้ครูฉ่ำยังอาสาขอคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรแจกแก่ประชาชนอย่างไม่รู้จักเหนื่อย แจกหมดแล้วจะไปขอมาแจกใหม่ ส่วนใหญ่ขอจาก นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และยังอาสาช่วยงานอื่นอีกจนเป็นที่พอใจของนายทหารท่านนี้

จากนั้นครูฉ่ำมีโอกาสพบ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติฝ่ายพลเรือนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ต้อนรับครูฉ่ำในฐานะผู้ให้การสนับสนุน มีการสนทนาเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ครูฉ่ำได้เปลี่ยนอาชีพมาเข้ารับราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการเริ่มต้นเปิดประตูเข้าสู่วงการการเมือง

หลังจากนั้นไม่นาน ครูฉ่ำก็ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งรองเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี นับเป็น 1 ใน 7 ผู้ที่ได้ปฏิบัติงานในสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ใช้วังปารุสกวันเป็นสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ทางการเพียงเลี้ยงอาหารเจ้าหน้าที่ทุกมื้อเท่านั้น

ครูฉ่ำเข้าสู่วงการการเมืองเกือบจะเรียกได้ว่าเสพการเมืองจนทุกลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นการเมืองตลอดเวลา จากการเสพการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายของครูฉ่ำ ส่งผลให้ครูฉ่ำสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองจนฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถจับทางของครูฉ่ำได้ถูกต้อง

ในหนังสือ“สุทโธบาย ของ พุทธพรรค การบ้านและการเมือง” มีรูปครูฉ่ำ พร้อมลายเซ็น พ.ศ. 2492

วิถีทางที่ครูฉ่ำใช้ ไม่ใช่ธรรมดาอย่างที่ใครก็ทำกัน เพราะช่างล้ำลึก กล้า และบ้าบิ่น แพรวพราวเสียจนส่งขึ้นสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมืองคอน (นครศรีธรรมราช) 5 สมัย คือ ครั้งที่ 1 ในสมัยของพระยาพหลฯ พ.ศ. 2480 ครั้งที่ 2 สมัย จอมพล ป. ช่วงแรก พ.ศ. 2481-2487 ครั้งที่ 3 สมัย จอมพล ป. ช่วงสอง พ.ศ. 2491 ครั้งที่ 4 สมัย จอมพล ป. ช่วงสอง พ.ศ. 2500 และครั้งที่ 5 ในยุค จอมพล สฤษดิ์

กุศโลบายใดเล่าที่ส่งคนอย่างครูฉ่ำขึ้นสู่ตำแหน่ง ส.ส.

กุศโลบายของครูฉ่ำคือทำตัวเสมือนคนบ้า ด้วยการสร้างเรื่องแปลก ชนิดที่คนทั่วไปไม่ทำกัน เช่น การขี่ควายเข้าสภาฯ ถอดเสื้อในสภาฯ หรือตีลังกาเดินเอาหัวลง แต่การกระทำทั้งหมดของครูฉ่ำล้วนมีความนัยแฝง อาทิ ตีลังกาเดินเอาหัวลง เพื่อแสดงว่าบ้านเมืองนั้นเกิดวิกลวิกาลขึ้นแล้ว ถึงกับคนเดินเอาหัวลง ช่างพิสดารแต่ลึกซึ้งยิ่งนัก

การทำตัวว่าแปลกแล้ว แต่กลวิธีในการเลือกตั้งแปลกยิ่งกว่า ใครเห็นก็ว่าบ้ามากกว่าดี แต่มันได้ผลเพราะความบ้านั้นเป็นประโยชน์แก่การเลือกตั้ง วิธีการหาเสียงของครูฉ่ำไม่ธรรมดา จนกลายเป็นเรื่องราวเล่าขาน ดังเช่น

เรื่องฝากเงินกับปรีดี พนมยงค์… จากหนังสือคำไว้อาลัย ครูฉ่ำ ของ ครูน้อม อุปรมัย และหนังสือกลวิธีเลือกตั้ง ของเกียรติ (นามแฝง) กล่าวถึงกลวิธีหาเสียงของครูฉ่ำในเรื่องดังกล่าวไว้ดังนี้

“…และระหว่างหาเสียงก่อนหน้าจะได้รับเลือกตั้งครั้งแรกนั้น ครูฉ่ำแสดงความสำคัญ โดยนำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แล้วออกมาหาเสียงที่เมืองคอน เที่ยวตระเวนหาเสียงอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไปโทรเลขถึงหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเงินหมดแล้ว ขอให้ส่งด่วน พอข่าวนี้กระจายออกไปเท่านั้น ชาวเมืองคอนก็บอกกล่าวไปเป็นเสียงเดียวกันว่า ครูฉ่ำนี้แกสำคัญจริงๆ ถึงขนาดหลวงประดิษฐ์ฯ ส่งเงินมาให้สมัครผู้แทนฯ ดังนี้แล้ว จะมีใครบ้างที่ไม่เลือกครูฉ่ำ เป็นอันว่า ครูฉ่ำชนะลอยลำ”

เรื่อง เหนือฟ้ายังมีฟ้า จากบทความเรื่องครูฉ่ำ ผู้พิชิต จอมพล ป (2) ของ ฌาณ สหัชชะ ที่เล่าถึงการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสของครูฉ่ำในตอนหนึ่งของการหาเสียงไว้ดังนี้

มีอยู่คราวหนึ่งครูฉ่ำต้องต่อสู้กับนายทหารใหญ่นาม พ.ท. ทอง สิริเวชภัณฑ์ ท่านทั้งรวยและมีอำนาจมาก ท่านได้นำภาพยนตร์กลางแปลงมาฉายที่ตลาดนอกท่า มีป่าและเขาล้อมรอบเข้าออกได้ทางเดียว คนแห่มาดูหนังกันมืดฟ้ามัวดินทีเดียว ในกรณีเช่นนี้คะแนนก็ต้องเป็นของ พ.ท. ทอง แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า

“ครูฉ่ำได้ไปเดินขอไต้ (ที่จุดไฟให้แสงสว่าง) …ได้มากองใหญ่ พอจวนหนังจะเลิก ครูฉ่ำก็ได้ก่อกองไฟปากทางคนจะออกจากดูหนัง พอคนออกครูก็ร้องตะโกนให้ชาวบ้าน ลูกหลานทั้งหลายเข้ามารับเอาไต้…ไปคนละอัน เพราะเดินกลับบ้านมันมืด งูก็เยอะ ครูเป็นห่วงสวัสดิภาพของชาวบ้านมากกว่าความสนุกสนาน คนก็เฮโลมารับไต้แจกอย่างสำนึกในพระคุณ …เท่านี้ครูก็โกยคะแนนไปเต็มๆ”

ความประหลาด แปลก ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ให้คนจดจำและรู้จักได้เป็นอย่างดี แต่ก็สร้างเรื่องร้ายให้ครูฉ่ำพอกัน คือ ภาพจำในคุก

ชีวิตพลิกผัน ฉ่ำ จำรัสเนตร จาก ส.ส. ผู้ทรงเกียรติสู่นักโทษโซ่ตรวน 2 คุก 2 คดี ที่ต่างช่วงเวลา แต่จุดเริ่มต้นหนึ่งเดียวคือการเมือง หนแรกข้อหาสนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในคดี “อาชญากรสงคราม” 5 เดือน (พ.ศ. 2488-89) และอีกหนข้อหา “กบฏ” 5 ปี (พ.ศ. 2503-08) ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นอกคุกก็ว่าแปลกบ้าแล้ว แต่วีรกรรมในคุกของครูฉ่ำก็ไม่แพ้กัน

ปกหน้า “สุทโธบาย ของ พุทธพรรค การบ้านและการเมือง” โดย ครูฉ่ำ จำรัสเนตร

ครั้ง 1 ข้อหาอาชญากรสงคราม (พ.ศ. 2488-89) ณ เรือนจำลาดยาว

หลังสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2487 ครูฉ่ำถูกจับข้อหาอาชญากรสงคราม ฐานสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำประเทศฝ่ายอักษะถูกจับกุมและลงโทษ (รวมถึงไทยด้วย) แต่โชคดีตัดสินที่ศาลไทย เพราะกฎหมายไทยไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ครูฉ่ำรับโทษเพียงติดคุก แม้อยู่ในคุกก็ไม่วายทำเรื่องแปลกจนผู้ที่พบเห็นคิดว่าครูฉ่ำนั้นบ้า ดังเช่น

เรื่อง หนุมานฉ่ำ จากบันทึกของ สังข์ พัธโนทัย อดีตที่ปรึกษาคนสนิทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เล่าถึงเรื่องราวความไม่ธรรมดาของครูฉ่ำขณะติดคุกไว้ดังนี้

“เวลาออกมาเจอท่านจอมพลนอกกรง ครูฉ่ำเข้าไปกราบ แล้วเรียกพ่อ และอธิบายว่า ครูเป็นหณุมาน เวลานี้รู้ว่าพระรามถูกไมยราพน์จับมาขังไว้ในบาดาล หณุมานจึงลงมาตามสายบัวเพื่อช่วยองค์พระราม พวกเราฟังแล้วก็พากันสนุกครึกครื้นไปด้วยหณุมานฉ่ำ”

ครั้ง 2 ข้อหากบฏ (พ.ศ. 2503-09) ณ เรือนจำลาดยาว และคุกประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

คนเราลองมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้วเที่ยวไปด่ารัฐบาลตามที่ชุมนุมบ่อยๆ หากรัฐบาลไม่ถือสาก็ไม่เป็นไร แต่ในสมัยนั้นเป็นรัฐบาลท่านจอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้หากจะโดนจับขังคุกข้อหา “กบฏ” ภายในประเทศ

ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำลาดยาว เมื่อผู้คุมไขกุญแจห้องขังตอนเช้ามืด ครูฉ่ำมักจะออกไปตะโกนร้องเสียง “กาๆๆ” ที่หน้าสถานพยาบาลของเรือนจำจนดวงตะวันปรากฏให้เห็น จากนั้นครูฉ่ำจะอ้าแขนออกทั้ง 2 ข้าง และอ้าปากกว้างตะโกนว่า “อำ อำ เอ้า อำ อำ” แสดงให้เห็นว่าแกกำลังกินแสงอาทิตย์ ปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน เพราะแสงอาทิตย์มีพลังมาก กินเข้าไปจะได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

หลังทราบคำตัดสินของศาลทหาร (โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ) ที่สั่งจำคุกครูฉ่ำเป็นเวลา 5 ปี ครูฉ่ำสงบเสงี่ยมขึ้นมาก ไม่ออกไปทำอะไรแปลกๆ จนกระทั่งได้ย้ายไปอยู่คุกเมืองนครฯ จังหวัดบ้านเกิดของแก

จากวีรกรรม ครูฉ่ำเป็นคนมีความสามารถ ปัญญา ความ “บ้า” และไหวพริบ แต่สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรอย่างสุดความสามารถเท่าที่คนหนึ่งคนจะทำได้ เหนืออื่นใด นี่คือตัวอย่างประสบการณ์ของปรมาจารย์การเลือกตั้ง ในยุคแรกเริ่มประชาธิปไตยของ “ครูฉ่ำ” หรือ “ฉ่ำ จำรัสเนตร” การันตีด้วยความสำเร็จ ผ่านตำแหน่ง ส.ส. เมืองนครศรีธรรมราช 5 สมัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2562