เผยแพร่ |
---|
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อครั้งพ.ศ. 2490 เป็นที่จดจำในฉายานามว่า “จอมพลเจ้าน้ำตา” (บ้างก็ว่า “วีรบุรุษเจ้าน้ำตา”) จากการหลั่งน้ำตาขณะให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อมวลชน แต่ก่อนหน้าวาระประวัติศาสตร์ไทยครั้งนั้น จอมพล ผิน เคยผ่านช่วงเวลายากลำบากก่อนที่จะเป็นนักเรียนนายสิบ
ในช่วงเวลานั้น จอมพล ผิน บันทึกความหลังไว้ว่า เคยได้รับฟังจากเพื่อนบ้านว่า การเป็นพลทหารในทศวรรษ 2450 เป็นเรื่องน่าเป็นกังวลเนื่องจากผู้บังคับบัญชาทหารยุคนั้นดุร้าย จนปรากฏพลทหารหลบหนีมากหลาย
ก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นวาระที่คณะทหารนำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการเป็นผู้นำ พลโท ผิน ในช่วงวัยเด็กซึ่งถือกำเนิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. 2434 ยังเคยถูกเหยียดว่าเป็น “คนบ้านนอก” ในช่วงที่พักอาศัยในบ้านของลุงที่ถนนวรจักร และรับการศึกษาที่วัดมหรรณพาราม จอมพล ผิน บันทึกความทรงจำในอดีตในงานเขียนชื่อ “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ” ปรากฏในหนังสือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ป.จ.,ม.ป.ช.,ม.ว.ม. ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2516” ความลำบากที่ได้รับปรากฏใจความว่า (คงการสะกดตามต้นฉบับ)
“การที่อาศัยอยู่บ้านลุงในครั้งนั้น ได้รับความลำบากบอบช้ำทั้งกายและทางจิตใจมาก เพราะบรรดาภรรยาและลูกหลานของท่านเหยียดว่าเป็นคนบ้านนอก ใช้การงานเยี่ยงทาษ ให้ทำความสะอาดบริเวณบ้าน หุงหาอาหารและไปตลาดเพื่อประกอบอาหารให้ลูกหลานของท่านรับประทาน เมื่อล้างถ้วยชามเสร็จแล้วจึงแต่งกายไปโรงเรียนได้ บางครั้งนอนเพลินไปลุกขึ้นหุงข้าวไม่ทัน ภรรยาของท่านก็เอาน้ำสาดเข้าไปในมุ้ง บางครั้งบุตรคนเล็กของท่านไปเที่ยวกลับมาเวลาดึกอยากดื่มสุราก็ปลุกให้ไปซื้อ โดยความงัวเงียตามประสา เด็กตื่นนอนไม่ทันใจของท่าน ก็จะเข้าไปเตะถึงในมุ้ง นอกจากนี้เวลาโรงเรียนหยุดวันเสาร์อาทิตย์ท่านใช้ให้ไปเอาผลไม้และผักต่าง ๆ ที่บ้านบุตรสาวของท่านที่ตําบลวัดระฆังธนบุรี โดยให้เดินจากบ้านของท่านที่ถนนวรจักร ไปข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าช้างวังหลวงด้วยเรือจ้างแล้วเดินไปประมาณ 500 เมตร ก็ถึงบ้านบุตรสาวของท่าน
การเดินทางไปแต่ละครั้ง ท่านให้เงินไปเพียง 1 ไพ พอข้ามเรือจ้างไปมาคราวละ 1 อัฐเท่านั้น เวลาจะกลับบุตรสาวของท่านใช้ทางมะพร้าวเป็นไม้คาน และยกผลไม้หรือผักต่าง ๆ กับไม้คานให้หาบกลับบ้าน ด้วยความหนักและเจ็บบ่าถึงต้องหยุดพักกลางทางเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะถึงบ้าน”
เมื่อเป็นดังนั้น ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นก็เล่าให้บิดาของท่านฟัง หลังอยู่มาได้ 6 เดือน บิดาของจอมพล จึงขอลาพากลับบ้านชั่วคราว แม้จะเสียการเรียนไปอีก 6 เดือน แต่ก็ทำให้ได้ฝึกทักษะทำน้ำตาลมะพร้าว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านบันทึกในงานเขียนว่า ในใจได้คอยหาโอกาสวิงวอนท่านในเวลาอารมณ์ดี ให้ได้เรียนหนังสือสมัยใหม่อีก ได้อยู่วัดใดในกรุงเทพฯ ก็ได้ ขอให้มีเวลาเรียนหนังสือ กระทั่งมีโอกาส ดังที่บันทึกเล่าไว้ว่า
“ก็พอดีมีพี่เขยของข้าพเจ้าท่านเคยเป็นมหาดเล็กของสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุ์วรเดช ได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์องค์หนึ่งที่วัดบวรนิเวศ รับว่าจะฝากให้ได้ ข้าพเจ้าจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เป็นครั้งที่สอง การมาอยู่ในวัดบวรนิเวศครั้งแรกนั้น ข้าพเจ้าพอใจมาก…”
แต่ยังประสบปัญหาเดิมคือ พระท่านนั้นเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ปีหนึ่งต้องไปตรวจราชการฝ่ายสงฆ์และสอนนักเรียนตามวัดต่างๆ เป็นเวลา 6 เดือน ในฐานะที่เป็นคนราชบุรี (บิดาเคยนำไปฝากไว้กับพระสุยซึ่งเป็นญาติ ณ วัดใหม่สี่หมื่น จังหวัดราชบุรี) จึงให้จอมพล ผิน ในวัยเด็กไปกับท่านและให้แจวเรือ เท่ากับว่า ปีหนึ่งเรียนหนังสือได้ 6 เดือนเท่านั้น
ช่วงเวลานั้นราชการออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในท้องที่มณฑลราชบุรี นั่นย่อมหมายความว่า ท่านมีแนวโน้มต้องเป็นพลทหาร ซึ่งท่านอธิบายถึงเสียงบอกเล่าเกี่ยวกับการเป็นพลทหารในสมัยนั้นว่า
“…การเป็นพลทหารในสมัยนั้นทราบจากเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาบางคนดุร้ายทารุณมาก ถ้ามีการบกพร่องหรือกระทำความผิด เป็นต้องถูกตบหน้าหรือเฆี่ยนด้วยหวายหรือถูกจำตรวน จนต้องหนีราชการทหารมาแล้วหลายคน เหตุที่เป็นดังกล่าวนี้ทำให้บิดาของข้าพเจ้าวิตกกังวลเป็นอย่างมาก แต่ทราบว่าขณะนั้นทางราชการทหารได้ตั้งกองนักเรียนนายสิบขึ้นที่จังหวัดราชบุรี พี่เขยของข้าพเจ้าได้นำคนไปฝากกับผู้บัญชาการกองพลที่ 4 (พลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา) มาแล้วหลายคน แต่พวกนั้นพากันหนีหมด ครั้นจะนำข้าพเจ้าไปฝากอีกก็ไม่กล้า เกรงว่าท่านจะต่อว่าเอา ก็พอดีมีร้อยเอก หรั่ง บิณษรี เพื่อนกับพี่เขยของข้าพเจ้าย้ายมาประจำที่ราชบุรี จึงนำข้าพเจ้าไปฝากเพื่อสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบต่อไป”
และด้วยความสามารถของจอมพล ผิน ท่านสอบไล่สอบในชั้นสูงสุดที่จะออกเป็นสิบตรีประจำกรมกองทหารได้คะแนนเยี่ยม และอยู่ในเกณฑ์เข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้ จึงมีโอกาสเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกตั้งแต่พ.ศ. 2452 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับประสบการณ์ราบรื่นแล้ว ดังที่บันทึกเล่าว่า
“ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนายสิบอยู่นั้น ร้อยเอก หรั่ง บิณษรี และภรรยาของท่านได้มีเมตตาเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าก็เคารพนับถือ ท่านคล้ายบิดามารดา เวลาทางราชการหยุดวันเสาร์อาทิตย์ก็ช่วยทําความสะอาดในบริเวณบ้านทั้งพื้นดินและบนเรือน ตลอดจนซักและรีดผ้าให้ท่าน นอกจากนี้บางเวลาภรรยาของท่านไม่ว่างงาน ได้อาสาเลี้ยงธิดาของท่านซึ่งมีอายุเพียง 3 ขวบให้ด้วย ด้วยความเคารพนับถือและความเอาใจใส่ของข้าพเจ้าดังกล่าว จึงบังเกิดผลให้ข้าพเจ้าได้รับตอบแทนที่ท่านไม่หักเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 7.50 บาท ยกให้ข้าพเจ้าตลอด 2 ปี และภรรยาของท่านยังกรุณาเย็บเสื้อผ้าให้ข้าพเจ้าใช้ โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด ตลอดจนขณะที่ข้าพเจ้าเข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อยนั้น ท่านยังให้ความกรุณาฝากไว้กับบรรดาพี่ๆ ซึ่งเป็นพี่สาวของท่าน และพี่สาวคนโตของท่านรับเป็นผู้ปกครองให้ข้าพเจ้าตลอดมาจนได้ออกเป็นนายทหาร
ขณะที่เป็นนักเรียนนายร้อยอยู่นั้นนับว่าข้าพเจ้าได้รับโชคดีอีกครั้งหนึ่ง คือผู้ปกครองของข้าพเจ้าคนใหม่ ท่านมีจิตเมตตากรุณาและรักใคร่ข้าพเจ้ายิ่งกว่าบุตรชายคนโตของท่าน เพราะบุตรชายของท่านออกจะเกเรอยู่บ้าง การที่ท่านมีจิตเมตตากรุณาและรักใคร่ข้าพเจ้านั้น ก็เนื่องจากข้าพเจ้าอยู่บ้านท่านไม่ดูดาย เวลาโรงเรียนหยุดวันเสาร์อาทิตย์ ข้าพเจ้าคงเอาใจใส่และปฏิบัติท่านเช่นเดียวกับที่อยู่กับน้องสาวของท่านที่ราชบุรี การใช้จ่ายเงินทองและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดที่เป็นนักเรียนนายร้อยท่านออกให้หมดทุกอย่าง”
จอมพล ผิน เล่าต่อไปว่า ด้วยคุณงามความดีนี้ทำให้ผู้ปกครองทั้งเก่าและใหม่ผูกพันรักใคร่ จนในที่สุดแล้ว ผู้ปกครองคนใหม่ยกลูกสาวให้แต่งงานกับท่านขณะที่เป็นนักเรียนนายร้อย สมัยนั้นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ด้วยการมีเมียขณะที่กำลังเล่าเรียนนั้น จอมพล ผิน ย้ำว่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะอาจทำให้การเล่าเรียนไม่สำเร็จ แต่ที่ท่านรอดมาได้ เป็นเพราะเหตุผลที่ท่านบันทึกไว้ในประวัติส่วนตัวว่า
“ที่ข้าพเจ้ารอดตัวมาได้ก็เพราะข้าพเจ้าบอบช้ำมามากแล้ว และมีกำลังใจรักวิชาความรู้มากกว่ารักเมีย…”
เวลาต่อมา ท่านเรียนสำเร็จและออกมารับราชการเป็นนายทหารในพ.ศ. 2458 เรื่องราวในช่วงได้รับบรรจุประจำกองร้อยที่ 2 กรมทหารราบที่ 4 นั้นยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยวิถีชีวิตแบบนายทหาร โอกาสหน้าจะมาบรรยายสู่กันฟังต่อไป
อ้างอิง :
ผิณ ชุณหะวัณ, จอมพล. “ชีวิต กับ เหตุการณ์ ของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ”. หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2563