ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ฉากสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่าง “พระยาพหลพลพยุหเสนา” กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์
ในปี 2488 พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรีในวัย 58 ปี ล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก และพำนักรักษาตัวอยู่ที่วังปารุสกวัน
อาการเจ็บป่วยของพระยาพหลฯ ถือว่ายังไม่สาหัสเท่าใดนัก ดังเห็นได้จากบันทึกของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เคยมาเยี่ยมเยือนท่าน ได้เล่าไว้ว่า
“ท่านเชษฐบุรุษนั่งอยู่บนเก้าอี้เก่า ๆ นุ่งโสร่ง ไม่ห่มคลุมส่วนบน เห็นกระดูกชายโครง ท่านผ่ายผอมไปมาก มือข้างซ้ายงอพับอยู่ใช้การไม่ได้ตลอดจนลำแขน จะพูดก็ไม่สู้ถนัด…ถึงแม้เป็นยามป่วยทุพพลภาพอยู่ท่านเจ้าคุณก็ได้รับเยี่ยมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและดวงตาแจ่มใส…”
พระยาพหลฯ ยังคุยกันอย่างเป็นกันเองว่าหยุดอ่านพงศาวดารจีนที่ชื่นชอบ แต่ยังสูบบุหรี่อร่อยดีอยู่ รับประทานอาหารได้มาก และยังดื่มสุราได้ออกรสดีบ้างนิดหน่อย
พระยาพหลฯ ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บมาได้กว่า 2 ปี กระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 2490 ก็ถึงแก่อสัญกรรมที่วังปารุสกวัน
นักข่าวได้ไปสัมภาษณ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของพระยาพหลฯ จอมพล ป. ได้แต่เพียงทำบันทึกข้อความมาให้นักข่าวว่า “ผมขอโทษที่ไม่ได้มาพบ เพราะไม่อยากจะแสดงอะไรยิ่งไปกว่าการทำมาหากิน การที่เจ้าคุณพหลฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรมผมขอให้ท่านสู่สุคติ พร้อมด้วยเสียใจ”
ช่วงบ่ายของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ บรรยากาศการรดน้ำศพเนืองแน่นไปด้วยบุคคลสำคัญถ้วนหน้า เว้นแต่เพียงจอมพล ป. ที่ไม่ได้มาร่วมงาน จนหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ได้นำประโยคดังกล่าวมากระทบกระเทียบว่า “ท่านจอมพลผู้มุ่งหน้าแต่จะทำมาหากินก็มิได้มาร่วมพิธีในงาน ซึ่งจะได้เห็นหน้าเพื่อนร่วมตายผู้อาวุโสของท่านเป็นครั้งสุดท้าย”
ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีในต่างประเทศ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็รีบไปเคารพศพพระยาพหลฯ ทันที ดังที่หนังสือพิมพ์สยามนิกรลงพาดหัวข่าวว่า “ปรีดีมาถึงก็ถามถึงพระยาพหลฯ” และ “รีบรุดไปคำนับศพทันที”
ในวันที่ 17 เมษายน อันเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ สังขารขันธ์ของพระยาพหลฯ ได้รับการฌาปนกิจที่วัดเบญจมบพิตร นายสมุทร สุรักขกะ อดีตนายกสโมสรผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ บันทึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า
“วันนั้นเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา…ปรีดี พนมยงค์ พล.ร.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีจัดงานเป็นเจ้าภาพอยู่ก่อน พอรัฐพิธีสิ้นแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็แอบไปในงานค่ำ ได้พบและร่วมวงคุยกันอย่างสนุกสนานแบบเพื่อนร่วมปฏิวัติ 2475 คณะผู้ก่อการ 2475 เป็นจำนวนมาก อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นวันสุดท้ายที่ปรีดีและจอมพลพบกัน จนกระทั่งจอมพลสิ้นชีพไป…”
ย้อนกลับไปในช่วงที่พระยาพหลฯ ล้มป่วย ท่านได้เคยสั่งไว้กับปรีดี พนมยงค์ และ หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งเปรียบเสมือนพินัยกรรมการเมืองไว้ว่า
“ประชาธิปไตย ซึ่งคณะผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 75 ได้ปฏิบัติมาก็เพื่อให้แก่ คนไทยทุกคน ไม่ใช่ให้แก่หมู่คณะใด ฉะนั้น เมื่อสิ้นบุญไปแล้ว ก็ขอให้คนไทยทุกคนจงรักษาไว้ อย่ายอมให้หมู่คณะใดมายื้อแย่งไปใช้อย่างผิด ๆ”
นี่คือ ฉากสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่าง “เชษฐบุรุษ” พระยาพหลพลพยุหเสนา กับสองสหายร่วมขบวนการ การปฏิวัติ 2475
อ่านเพิ่มเติม :
- พระยาพหลฯ หลังวางมือการเมือง บั้นปลายชีวิตเหลือเงินติดบ้านร้อยกว่าบาท
- ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี พนมยงค์ กับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากความทรงจำโอรสองค์เล็ก
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (มิถุนายน, 2564). นระ 2475 ลาเวที ทิ้งชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ดวงหน้าสุดท้ายและอนุสาวรีย์ของ 3 ผู้นำคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 42 : ฉบับที่ 8.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2564