ทำไมเหล่า “เทพอัปสร” ต้องเปลือยท่อนบน? หรือจะสะท้อนวิถีชีวิตจริง?

นางอัปสร ปราสาท นครวัด
ภาพสลักหินรูปเทพอัปสร ปราสาทนครวัด (ภาพถ่ายโดย นนทพร อยู่มั่งมี)

ทำไมเหล่า “เทพอัปสร” ต้องเปลือยอก? หรือจะสะท้อนวิถีชีวิตจริง?

ปราสาทนครวัดมีภาพสลักหินเป็นรูปเทพธิดา หรือนางฟ้า นางอัปสร จำนวนมาก นักโบราณคดีและนักท่องเที่ยวหลายคนพยายามนับว่ามีทั้งหมดเท่าไร? แต่ถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันจำนวนแน่นอนได้

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ (ผู้เรียบเรียงหนังสือเรื่องปราสาทพนมรุ้งฯ) บอกว่าที่ปราสาทนครวัดมีภาพสลักหินรูปเทพธิดาจำนวน 1,080 ภาพ และมีรูปนางอัปสรอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังนับไม่ได้แน่นอน

ภาพสลักหินเหล่านี้บางทีเรียก “เทพธิดา” แต่คนทั่วไปชอบเรียก “อัปสร” ต่อไปนี้จะขอเรียกรวม ๆ ว่า “เทพอัปสร” ตามชื่อที่ปรากฏในอนิรุทธคำฉันท์ และเพื่อความสะดวกสบายใจในเรื่องนี้ด้วย

บรรดาเทพอัปสรที่ปราสาทนครวัดมีเครื่องแต่งตัวพร้อมเครื่องประดับประดาถนิมพิมพาภรณ์อลังการมากดังเห็นจากลวดลายที่แกะสลักหิน แต่ – เปลือยอกทุกนาง

ทำไมเหล่าเทพอัปสรต้องเปลือยอก?

ยังไม่รู้จะอธิบายอย่างไร? แต่นักโบราณคดีทั้งหลายเชื่อว่าช่างแกะหินรูปนางเทพอัปสรที่ปราสาทนครวัดแกะเลียนแบบชีวิตจริงของผู้หญิงสมัยนั้นเมื่อพันกว่าปีมาแล้วนั่นเอง

ภาพแกะสลักหินเทพอัปสร (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๓๖)

ตรงนี้มีหลักฐาน เพราะเอกสารของคณะราชทูตจีนที่บันทึกโดยโจวต้ากวาน (เมื่อ พ.ศ. 1839 ตรงกับปีที่สร้างเมืองเชียงใหม่) กล่าวถึงกัมพูชาสมัยนั้นว่า ผู้หญิงเปลือยอกหมด ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นต่ำ แล้วยังย้ำว่าพวกชาววังกับพวกผู้ดีมีผิวขาว “เปลือยอกที่ขาวนุ่มนวลดุจเนยเหลว” (แปลจากต้นฉบับภาษาจีน โดย เฉลิม ยงบุญเกิด เมื่อ พ.ศ. 2510) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ทุกคนนับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาทั้งชายและหญิงมุ่นมวยและเปลือยท่อนบน ใช้ผ้าพันเอว เมื่อออกไปนอกบ้าน ก็เพิ่มผ้าผืนใหญ่หนึ่งผืนพันทับผ้าผืนเล็กเข้าไว้ เรื่องผ้าที่นุ่งนั้นมีชั้นอันดับอยู่มาก”

“พวกชาววังและพวกผู้ดีตามบ้านนั้น ที่เป็นผู้หญิงมีผิวขาวประดุจหยก ทั้งนี้เนื่องจากไม่เห็นแสงตะวันกันเลย โดยทั่วๆ ไปแล้วผู้หญิงก็เหมือนกับผู้ชายคือใช้ผ้าผืนเดียวกันพันเอว เปลือยอกที่ขาวนุ่มนวลดุจเนยเหลว เกล้ามวย และเดินด้วยเท้าเปล่า แม้แต่พระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน”

จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเฉพาะเขมร แต่รวมถึงมอญ ลาว และไทยด้วย ดังมีภาพปูนปั้นนักดนตรีและนักร้อง 5 นางที่พบที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี ไม่มีเสื้อสักคนเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คือเทพอัปสร สรรพสรรพาภรณ์ เรืองรองตระศักดิ์เสด็จลงจากฟ้ายาตรหล้าเลิศลักษณ์ค่าใครเชยชักทราบสิ้นสุดสมอง” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2561