ทิ้งเมืองพระนคร ตั้งเมืองหลวงใหม่ หลังสงครามกับอยุธยาปี 1974

ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร
ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร (ภาพจาก : หนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868)

เขมรทิ้งเมืองพระนคร หลังกรุงศรีอยุธยาบุกทำลายเมื่อ พ.ศ. 1974 ย้ายราชธานีแห่งใหม่ไปที่ “จัตุรมุข” 

“เมืองพระนคร” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองพระนครศรียโศธรปุระ” เป็นราชธานี ของอาณาจักรเขมรโบราณ นับแต่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (ครองราชย์ราว พ.ศ. 1432-1453) สถาปนาศูนย์กลางของราชธานีที่ปราสาทพนมบาเค็ง (ราชธานีเดิมอยู่ที่หริหราลัย)

หลังจากนั้นมีการโยกย้ายราชธานีหลายครั้ง แต่ความสำคัญของเมืองพระนครยังคงอยู่ กระทั่งถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ราว พ.ศ. 1724-1761) พระองค์ได้สถาปนาเมืองพระนครเมืองที่ 2 ซ้อนเหลื่อมกับเมืองพระนครเมืองแรก มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบายน เรียกกันอย่างสามัญในภาษาเขมรว่า “นครธม” ขณะที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะเรียกว่า “เมืองนครหลวง” หรือ “พระนครหลวง”

ปราสาทบายน นครธม (ภาพจาก : หนังสือ Voyage d’exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868)

ต่อมา อำนาจของเมืองพระนครเสื่อมลงเรื่อย ๆ เป็นผลพวงมาจากปัญหาการเมืองภายใน และสงครามกับอาณาจักรใกล้เคียง กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การย้ายราชธานีจากบริเวณโตนเลสาบทางภาคเหนือ สู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคใต้ ก็คือ สงครามกับอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1974

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา ครองราชย์ พ.ศ. 1967-1991) ยกกองทัพไปตีเมืองพระนครใน พ.ศ. 1974 เมื่อยึดเมืองสำเร็จ จึงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนครอินทร์ พระราชโอรส ปกครองเมืองพระนคร ครั้นพระนครอินทร์สิ้นพระชนม์ ก็แต่งตั้งให้สมเด็จพระยาแพรก (เอกสารของกัมพูชากล่าวว่าเป็นโอรสกษัตริย์เขมร) ครองเมืองสืบต่อมา

อย่างไรก็ตาม เจ้าพญายาต (เอกสารของกัมพูชาเรียกว่า พญายาต) ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้ไปอยู่ที่ เมืองจัตุรมุข” (กรุงพนมเปญในปัจจุบัน) ได้ก่อกบฏ ตั้งตนเป็นกษัตริย์ และยกกองทัพเข้าตีเมืองพระนครคืนได้สำเร็จ จากนั้นไม่นาน เจ้าพญายาตทิ้งเมืองพระนครไปตั้งราชธานีแห่งใหม่ 

ราชธานีแห่งใหม่คือ เมืองศรีสันธร หรือตวลบาสาณ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำปงจาม) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองจัตุรมุขไม่ไกลมากนัก แต่ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำโขง จึงย้ายราชธานีมาที่เมืองจัตุรมุขแทน

นักวิชาการตะวันตกชี้ว่า เมืองพระนครถูกทิ้งร้างทันทีหลังจากพ่ายแพ้สงครามต่ออยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1974 เพราะอยุธยาได้กวาดต้อนชาวเขมรไปจำนวนมาก เมื่อขาดแรงงานย่อมทำให้ระบบชลประทาน และการเพาะปลูกพืชผลการเกษตร ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จึงทำให้เมืองพระนครเข้าสู่ความร่วงโรย นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ การหันมานับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งได้บั่นทอนพลังยึดเหนี่ยวของสังคมเขมรยุคเก่าลง

การที่เจ้าพญายาตย้ายราชธานีลงมาทางภาคใต้นี้ สันนิษฐานว่า พระองค์มีอำนาจ และอิทธิพลอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาก่อน โดยเฉพาะที่เมืองจัตุรมุข อีกเหตุผลหนึ่งคือ เมืองพระนครหลวงราชธานีเดิมนั้นตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจของอยุธยาบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งความขัดแย้งในหมู่เชื้อพระวงศ์อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องย้ายราชธานีจากเมืองพระนครลงมาทางภาคใต้

ขณะที่นักวิชาการตะวันตกส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า การย้ายราชธานีลงมาทางภาคใต้นี้ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการค้าทางทะเลกับจีน ซึ่งทำให้การติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเมืองจัตุรมุขเป็นเมืองที่แม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำโตนเลสาบ (แม่น้ำที่ไหลจากโตนเลสาบลงสู่แม่น้ำโขง) และแม่น้ำบาสัก (แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง) เมืองจัตุรมุขจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขมรในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ชาวเขมรไม่ได้ทิ้งเมืองพระนครให้รกร้างว่างเปล่าไม่มีใครอยู่อาศัย เพราะปรากฏหลักฐานว่า ในสมัยเจ้าพญาคำขัด พระโอรสในเจ้าพญายาต ได้เสด็จกลับไปครองราชย์ที่เมืองพระนคร (นครธม)

ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร (ภาพจาก : หนังสือ Voyage d’exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868)

ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระธรรมราชาธิราช ย้ายราชธานีกลับมาที่เมืองจัตุรมุข รัชกาลถัดมาคือ สมเด็จพระศรีสุคนธบท พระราชโอรสในสมเด็จพระธรรมราชาธิราช ก็ย้ายราชธานีไปที่เมืองศรีสันธร 

ครั้น ขุนหลวงพระเสด็จ (กอน) ก่อกบฏโค่นราชบัลลังก์สมเด็จพระศรีสุคนธบท แล้วจึงย้ายราชธานีไปที่สรอฬบพิชัยไพรนคร ในเมืองตโบงฆมุม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำพงจาม) จนเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์จันท์) พระราชโอรสในสมเด็จพระธรรมราชาธิราช และพระอนุชาในสมเด็จพระศรีสุคนธบท ได้กลับมาทวงราชบัลลังก์สำเร็จ แล้วจึงย้ายราชธานีไปที่เมืองละแวก (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำพงฉนัง)

ต่อมา อาณาจักรเขมรก็ย้ายราชธานีอีกหลายครั้ง เช่น ลวาเอม (โลเวียเอม ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกัณฎาล) อุดงค์ฦๅชัย หรืออุดงค์มีชัย (บันทายเพชร ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำพงสพือ) และเมืองจัตุรมุข หรือกรุงพนมเปญตามลำดับ

นับตั้งแต่สงครามกับอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1974 ทำให้บริเวณโตนเลสาบทางภาคเหนือลดความสำคัญลง ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคใต้ก็ทวีความสำคัญขึ้นในฐานะศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรเขมรสมัยหลังพระนคร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศานติ ภักดีคำ. “เขมรสมัยหลังพระนคร”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2568