ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539 |
---|---|
ผู้เขียน | ศ.ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ |
เผยแพร่ |
“เมืองละแวก” แตกด้วยกระสุนเงิน เผยกลศึก “อยุธยา” ยึดครองดินแดนเขมร
ในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวสเปนผู้หนึ่งนามว่า สาธุคุณ กาสปาร์ เดอ ลา ครูช (Gaspar de la Cruz) ได้เดินทางเข้ามาพำนักอย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งปีในประเทศกัมพูชา สำหรับชาวตะวันตกชาติอื่นดังเช่น โปรตุเกส สเปน ชาวดัตช์ ก็ได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศกัมพูชาเช่นกัน และในช่วงเวลาที่เกิดสงครามกลางเมืองนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญ โดยได้รับความอุปถัมภ์จากราชสำนัก
การปกครองในรัชกาลของนักพระสัตถา (Preah Satha)
พระบรมราชาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2119 ราชโอรสทรงพระนามว่า พระสัตถา ได้ขึ้นเสวยราชย์สนองพระองค์สืบมา
นักพระสัตถาหรือสัตถาที่ 1 ครองราชสมบัติจนกระทั่ง พ.ศ. 2127 ซึ่งในปีนี้พระองค์ได้สละราชย์ให้แก่ราชโอรสองค์ใหญ่ที่มีพระนามว่า พระชัยเชษฐาที่ 1 (Préah Chey Chetha I) ทว่าพระชัยเชษฐาได้เสวยราชสมบัติอยู่เพียงสิบปี พระราชบิดาก็ได้ปกครองบ้านเมืองภายใต้พระนามของพระองค์
ในช่วงสองรัชกาลนี้ต้องดำเนินยุทธสงครามกับชาวสยาม เมื่อพระมหากษัตริย์สยามทรงถูกคุกคามจากกษัตริย์แห่งหงสาวดีนั้น กษัตริย์เขมรจึงทรงถือโอกาสในขณะที่ปรปักษ์ของพระองค์กำลังประสบความยุ่งยาก โดยส่งกองทัพไปยังเขตแดนของราชอาณาจักรสยาม เมื่อชาวสยามภายใต้การนำของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชนะเหนือหงสาวดี แล้วการสงครามที่รุนแรงกับชาวเขมรก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
นักพระสัตถาได้ทรงเสริมกำลังกองทหารให้เข้มแข็งขึ้นในเมืองพระตะบอง (Battambang) เมืองโพธิสัตว์ (Pursat) และเมืองพระนคร (Angkor) อย่างไรก็ดีเมืองเหล่านี้ก็ถูกโจมตี แต่ทว่าความพยายามที่จะโจมตีเมืองละแวก (Lovek) ต้องประสบความล้มเหลว
ในปีถัดมาชาวสยามได้ยกกองทัพเข้ามาเป็นครั้งที่สอง โดยได้เข้าโจมตีเมืองกำปงสวาย (Kompong Svay) ได้ยกกองทัพเรือเข้าไปสู่ทะเลสาบใหญ่และได้เข้าร่วมกับชาวจามต่อสู้กับชาวเขมร กองทัพสยามยึดได้ดินแดนของกัมพูชาทั้งหมดใน พ.ศ. 2136 รวมทั้งสามารถยึดเมืองละแวกได้สำเร็จ
ตามตำนานฉบับหนึ่งกล่าวว่า ในคราวที่ชาวสยามเข้าโจมตีครั้งแรกนั้น ชาวสยามไม่สามารถยึดเมืองละแวกได้ เนื่องจากมีปราการที่มั่นคงอันได้แก่ดงต้นไผ่ขึ้นอยู่โดยรอบ พระมหากษัตริย์สยามทรงพระปรีชาสามารถอันชาญฉลาด ด้วยมีพระบรมราชโองการให้เหล่าทหารยิงลูกกระสุนปืนที่ทำด้วยเงินเข้าไปในดงไม้ไผ่เหล่านั้น เมื่อพระองค์ทรงยกทัพกลับ ชาวบ้านชาวเมืองของ เมืองละแวก จึงพากันมาตัดต้นไผ่เพื่อจะค้นหาลูกกระสุนเงินของชาวสยาม ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงกรีธาทัพกลับมาก็สามารถเข้าโจมตีเมืองละแวกได้อย่างสะดวก เพราะปราศจากปราการของต้นไผ่เสียแล้ว
การยึดเมืองละแวกของ อยุธยา ในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดช่วงวิกฤตการณ์ในประเทศกัมพูชา พงศาวดารสยามได้เล่าความว่า เมื่อกษัตริย์เขมรถูกกุมพระองค์ได้ พระมหากษัตริย์สยามได้โปรดฯ ให้บั่นพระเศียรและนำโลหิตมาล้างพระบาท อย่างไรก็ดีเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคงมิได้เกิดขึ้นจากพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สยาม ด้วยนักพระสัตถาและราชโอรสคงจะหลบหนีไปได้สำเร็จ และได้สิ้นพระชนม์สองปีต่อมาที่เมืองสตึงเตรง (Stung Treng) อุปโยราชได้ถูกกุมพระองค์
การที่ “เมืองละแวก” ถูกยึดครองนี้นำมาสู่ความเสื่อมถอยของอำนาจในประเทศกัมพูชาที่ได้ยุติบทบาทที่เคยโดดเด่นในเอเชียอาคเนย์มาก่อน ความวุ่นวายภายในได้เพิ่มความยุ่งยากในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และในเวลาต่อมาก็ได้เกิดการแย่งราชสมบัติขึ้นถึงสองคราว
อ่านเพิ่มเติม :
- เผยเส้นทางเข้าตี “เพชรบุรี” เมืองสำคัญของอยุธยา ที่พระยาละแวกต้องยกทัพมาถึง 2 ครั้ง
- พรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ในทัศนะ “เขมร”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เมืองละแวก แตกด้วยกระสุนเงิน” เขียนโดย ศ.ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2565