พรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ในทัศนะ “เขมร”

เขาพระวิหาร พรมแดน ไทย กัมพูชา
ภาพวาดเขาพระวิหาร และเส้นทางเดินสู่ตัวปราสาทแต่ละชั้น (ภาพจาก “โบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร” กรมศิลปากร)

ปัญหาความขัดแย้งเรื่อง พรมแดนไทย-กัมพูชา ที่เริ่มจากประเด็น “ปราสาทพระวิหาร” ปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งนี้มีมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อนหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทัศนคติหรือความคิดของชาวกัมพูชาที่มีต่อปัญหาความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาเพื่อพิจารณาประกอบด้วย

ทั้งนี้เนื่องจาก “ไทย” และ “กัมพูชา” ต่างก็มีวาทกรรมในเรื่องพรมแดนที่แตกต่างกัน เช่น ในขณะที่ไทยมองว่าการที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชาในฐานะอาณานิคมเป็น “การสูญเสียดินแดน” แต่ในมุมมองของกัมพูชากลับเป็นการที่ฝรั่งเศสช่วยให้ตนเองรอดพ้นจากการคุกคามของ “สยาม”

Advertisement

ทัศนะของชาวกัมพูชาในลักษณะดังกล่าวปรากฏในงานเขียนเรื่องบ็อณฎำตาเมียะฮ์ (คำสั่งตาเมียะฮ์) ว่า “…ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนโรดมเสวยราชย์เรื่อยมาถึงบัดนี้ ในเมืองเขมรทางด้านวิชาความรู้ก็มีความเจริญและรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่เดิมนั้นมากและไม่มีศัตรูมาเบียดเบียน เพราะมีผู้มีบุญอำนาจซึ่งทำนุบำรุงเราครอบครองพวกญวนในโคชินจีน และสยามมากลัวไม่กล้ามาเบียดเบียนอีกตั้งแต่เวลาตอนนั้นเรื่อยมา…” [1]

ดังนั้น “ทัศนะ” ของกัมพูชาที่มีต่อเรื่อง “พรมแดน” ระหว่างไทย-กัมพูชา จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ที่ยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก บทความเรื่องนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเกี่ยวกับ “พรมแดนไทย-กัมพูชา” ในทัศนะของชาวกัมพูชา เพื่อให้เห็นและเข้าใจความคิดและทัศนคติของชาวกัมพูชาที่มีต่อประเด็นดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

พรมแดนไทย-กัมพูชา ในทัศนะ “เขมร”

ต้นเหตุแห่งปัญหา พรมแดนไทย-กัมพูชา ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลของสมัยแห่งการล่าอาณานิคม พรมแดนดังกล่างจึงเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นโดยสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสซึ่งเวลานั้นปกครองอินโดจีนฝรั่งเศส ส่วนกัมพูชาในเวลานั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้รับดินแดนเหล่านี้สืบทอดมาภายหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1953

ด้วยเหตุนี้ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจึงสามารถกล่าวได้ว่ามาจากแผนที่ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลานั้นได้จัดทำขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลสยามจะรับรู้หรือยอมรับหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามสำหรับในทัศนะของกัมพูชา “พรมแดน” ระหว่างไทย-กัมพูชา มิใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันอันเนื่องมาจากผลของการล่าอาณานิคม แต่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นมาช้านานโดยเฉพาะตั้งแต่ในสมัยที่ไทยอพยพมาตั้งอาณาจักรสุโขทัย และไทยได้พยายามขยายอาณาเขตของตนจนกระทั่งสามารถตีเมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชาโบราณได้สำเร็จ

ทัศนะเรื่อง “พรมแดน” ดังกล่าวสามารถพบได้ทั่วไปในหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชาที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการชาวกัมพูชา โดยเฉพาะในหนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ทํนาส่พฺรํแฎนรวางปฺรเทสไถ นิงปฺรเทสชิตขาง)” ที่เรียบเรียงโดย “สถาบันความสัมพันธ์นานาชาติกัมพูชา (วิทฺยาสฺถานทํนาก่ทํนงอนฺตรชาติกมฺพุชา)” และจัดพิมพ์เมื่อ ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ดังมี “บุพกถา” ที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า

“ผลงานเรื่อง ‘ความขัดแย้งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน’ เป็นผลของการค้นคว้าของนักวิชาการของสถาบันความสัมพันธ์นานาชาติกัมพูชา ตามการแนะนำอันสูงส่งของ ฯพณฯ ซก อาน (สุข อาน) รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบที่ว่าการคณะรัฐมนตรี ผลงานเรื่องนี้ได้ค้นคว้าและจัดทำขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ต่อจากปราสาทพระวิหารได้รับเข้าเป็นมรดกโลกในวันที่ 7 เดือนกรกฎาคม ปี 2008 แล้วภายหลังประเทศไทยก็เริ่มก่อปัญหาพรมแดนกับประเทศกัมพูชาตลอดมา

จุดประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อชี้แจงประชาชนทั่วไปและนานาชาติ เช่น นักการเมือง และนักวิชาการต่างๆ ได้เข้าใจชัดเจนถึงนโยบายอมิตร และความขัดแย้งพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในสมาคมอาเซียนร่วมกัน รวมทั้งเราใคร่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาพรมแดนทั้งหลาย ซึ่งมักเกิดมีระหว่างประเทศกัมพูชา กับประเทศไทยในเวลานี้ ก็เหมือนกับในเวลาที่ผ่านมา คือประเทศไทยเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งหมด…การแก้ไขปัญหาพรมแดนกับประเทศไทยในเวลาที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชาได้ถือเอาท่าทีอดทนเป็นอย่างยิ่ง…” [2]

จาก “บุพกถา” ที่แปลมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ได้มีการเรียบเรียงขึ้นภายหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนและปัญหาเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร โดยเรียบเรียงขึ้นตามการแนะนำของ ซก อาน (สุข อาน) รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา หนังสือดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารโดยตรง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงความขัดแย้งเรื่อง “พรมแดน” ระหว่างไทย-กัมพูชา ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันหลายประเด็นโดยแบ่งตามลำดับยุคสมัยไว้ดังนี้

ความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมร สมัยพระนคร

หนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนฯ” กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งเรื่อง “ดินแดน” ระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ไทยตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นจากนั้นไทย (สยาม) ได้ขยายอำนาจไปและผนวกเอาดินแดนบางส่วนของ “กัมพูชา” ตั้งแต่สมัยพระนครไว้ แล้วครอบครองเป็นของตนจนถึงปัจจุบัน ดินแดนเหล่านี้ได้แก่ดินแดนบริเวณอีสานใต้และภาคตะวันออกของไทยในปัจจุบัน ดังนี้

“…นับตั้งแต่การเข้ามาถึงของชนชาติสยาม และก่อเกิดเป็นรัฐในสุโขทัย การขยายดินแดนของอาณาจักรนี้ได้กลายเป็นปัญหาต่อชนชาติต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะชนชาติเขมร และประเทศเขมรซึ่งเคยเป็นเจ้าของเหนือแผ่นดินนี้ตั้งเนิ่นนานมาแล้ว เขมรได้สูญเสียแผ่นดินจำนวนมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มา ซึ่งมีแผ่นดินตั้งแต่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมณาม (แม่น้ำเจ้าพระยา) จนถึงพรมแดนจังหวัดพระตะบอง และเสียมราบในปัจจุบัน แผ่นดินที่สูญเสียไปทั้งหมด แล้วตั้งอยู่ภายใต้การครอบครองของสยาม จนถึงปัจจุบันนี้มี เช่น จังหวัดนครราช (นครราชสีมา) บุรีรัมย์ ขุขันธ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ประจิมบุรี (ปราจีนบุรี) จันทบุรี ตราด และจำปาศักดิ์ ฯลฯ

หลังจากประเทศสยามได้ขยายอำนาจของตนไปที่ราชธานีอยุธยาแล้ว ในปี 1351 กษัตริย์สยามรามาธิบดี [3] ได้ทำการตีบุกเข้ามาในประเทศเขมร ราชธานีพระนครถูกสยามรุกรานเป็นของตน ตั้งแต่ปี 1352-1357 นับตั้งแต่เวลานั้นมา แม้ว่าพระราชาเขมรที่มีความเก่งกล้า สามารถขับไล่สยามผู้รุกรานให้ออกจากพระนครอย่างไรก็ตาม การรุกรานของสยามยังเกิดมีขึ้นเป็นลำดับต่อมา จนทำให้พระราชาเขมร ละทิ้งราชธานีหลายครั้งหลายหน เช่น ราชธานีพระนคร ตวลบาสาน จตุมุข และลงแวก (ละแวก)…” [4]

ความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมร สมัยลงแวก (ละแวก)

ประเด็นความขัดแย้งเรื่อง พรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา สมัยลงแวก (ละแวก) เป็นความขัดแย้งอีกสมัยหนึ่งที่มีกล่าวถึงไว้ด้วย โดยเน้นให้เห็นถึงการเจริญสัมพันธไมตรีและการกำหนดเขตแดนของอยุธยากับลงแวก (ละแวก) ในรัชกาลสมเด็จพระปรมินทราชาแห่งลงแวก กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีเมืองละแวกด้วย ดังนี้

“…ในสมัยละแวก พระบาทจันทราชา และพระบรมราชาที่ 4 ทรงได้ยกทัพไปตีปลดปล่อยเอาอาณาเขตภาคตะวันตก โดยทำการตีบุกจนถึงราชธานีอยุธยา แผ่นดินอาณาเขตทางตะวันตกของประเทศกัมพูชาได้ถูกปลดปล่อยออกจากกำมือสยาม

ต่อหน้าสถานการณ์ที่หนักหน่วงแบบนี้ ได้ทำให้กษัตริย์สยามเปลี่ยนแปลงท่าที แล้วหันมาขอผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศเขมรในปี 1574 การทำสัมพันธไมตรีนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขพรมแดน โดยพระราชาเขมรได้ตีเอา เกี่ยวข้องกับปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศเขมร กับประเทศสยาม เราสังเกตเห็นมีการกำหนดสำเร็จไปแล้วระหว่างประเทศทั้งสองตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มาแล้ว สัตยสัญญาตกลงกันนี้ ได้ทำขึ้นในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนผลคุน พ.ศ. 2118 ค.ศ. 1574 โดยมีการเข้าร่วมจากพระราชาของประเทศเขมร พระบาทปรมินทราชา (บรมราชาที่ 4) และพระราชาของประเทศสยาม พระบาทธรรมราชา พร้อมทั้งมีการเข้าร่วมจากนาหมื่นสรรพมุขมนตรี สมเด็จสงฆ์ มหาสงฆ์ และพระราชาคณะสำรับเอก โท ตรี จัตวา ของประเทศทั้งสอง 28 องค์ด้วย…

…พ.ศ. 2121 ค.ศ. 1577 ม.ศ. 1499 จ.ศ. 939 ปีฉลู นพศก วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือนกัตติก เป็นวันได้ฤกษ์ประชุมปักหลักสีมาจารึก สัตยาธิษฐาน ในศิลาบาททางตะวันตกเป็นแดนสยาม ทางตะวันออกเป็นแดนเขมร เขมรได้ตั้งเจ้าเมืองให้รักษาเมืองเหล่านั้น จึงที่นั้นเรียกว่า โรอางศิลา (รอางสิลา) มาจนถึงปัจจุบันนี้ [5]

แต่การผูกพระราชไมตรีนี้ต้องสลายไป ด้วยการละเมิดจากฝ่ายประเทศสยาม เพราะหลังจากการตกลงนี้ได้จบลงไม่กี่ปี ประเทศสยามถูกพม่าโจมตี เวลานั้นประเทศสยามได้ขอความช่วยเหลือจากกัมพูชาโดยอ้างความสัมพันธ์ระหว่างเขมร-สยาม เมื่อปี 1574 พระบาทสัตถาที่ 1 ก็ได้ส่งกองทัพช่วยเหลือแก่สยาม จนตีพม่าได้ชัยชนะ เวลาที่นำทัพกลับมาพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระศรีสุริโยพรรณประทับห้อยพระบาทไม่ได้กราบเหมือนคนทั้งปวง ทรงพระพิโรธมาก พระบาทศรีสุริโยพรรณทรงพิโรธจากเรื่องนี้มากก็นำทัพกลับเข้านคร กษัตริย์สยามไม่สำนึกบุญคุณเขมรได้นำทัพของตนตีประเทศสยาม กษัตริย์สยามเข้าใจว่าเมื่อเขมรช่วยสยามนั้นทำให้ประเทศสยามเสื่อมเกียรติยศและเสียหน้า ดังนั้นพระนเรศวรมักมีความแค้นอยากเอาเขมรเป็นเมืองขึ้น โดยละเมิดการเจรจา ในปี 1581 พระราชาเขมรนำทัพปลดปล่อยได้เมืองนครราชสีมา จันทบุรี…แต่มาถึงปี 1582 พระนเรศวรได้ตีชิงเอาคืน

ในปี 1586 พระนเรศวร พิโรธพระสัตถาที่ 16 จึงได้ยกทัพตีเขมรเอาเมืองพระตะบอง โพธิสัตว์ และเข้ามาถึงลงแวกทำการล้อมเมืองเป็นเวลา 3 เดือน ด้วยสยามขาดเสบียง เกิดโรคระบาดในกองทัพตายไปเป็นจำนวนมาก สยามได้ถอยกลับไป ทัพเขมรออกจากบันทายไล่ตีสยามหนีกระจัดกระจาย ก่อนสยามจะถอยทัพไปสยามได้ใช้อุบายกลยิงเงินพดด้วงจำนวนมากเข้าไปในกอไผ่ ซึ่งเป็นรั้วป้องกันอย่างมั่นคงของบันทายลงแวก สยามได้จัดจารบุรุษสองคนเข้ามาทำเวทมนตร์ และทำให้เกิดจลาจลภายในของเขมร มหาดเล็กสยามได้แกล้งทำเป็นนักบวชนามติปัญโญ และสุปัญโญ เข้ามาทำพิธีถอนศิลปศาสตร์อาคมซึ่งบรรจุในรูปเทวรักษ์ สุปัญโญใช้มนตร์อาคมทำให้ชาวเมืองป่วย ส่วนติปัญโญเป็นคนแก้ให้ดี ราษฎร์เขมรหลังจากที่รู้ว่ามีเงินพดด้วงในกอไผ่ มีใจยินดีอย่างยิ่งพากันตัดโค่นป่าไผ่เพื่อเอาเงิน แม้มีการปรามจากพระราชาก็ตาม ราษฎร์เขมรยังตัดโค่นจนกอไผ่ทะลุทลายหมด เรื่องนี้รู้ไปถึงกษัตริย์สยาม แล้วในปี 1593 สยามก็ยกทัพเข้าตีกรุงลงแวกสามทาง ที่สุดสยามแย่งชิงได้กรุงลงแวก…” [7]

เรื่องราวที่ปรากฏในข้อความที่ยกมาแสดงให้เห็นถึง “ทัศนะ” ในด้านลบที่กัมพูชามีต่อไทย โดยเฉพาะในกรณีการที่ไทยละเมิดสัญญาการปักปันเขตแดน และมีเรื่องราวหลายเรื่องซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีในสังคมกัมพูชาแต่ไม่เป็นที่รับรู้มากนักในสังคมไทย เช่น กรณีพระศรีสุริโยพรรณที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามองว่าฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิดพระราชไมตรี ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงสยามว่า

“…แต่พระศรีสุพรรมาธิราชนั้นมิได้หมอบ นั่งดูเสด็จอยู่ ก็ทรงพระพิโรธ…ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชเห็นดังนั้นก็น้อยพระทัยคิดอาฆาต…ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชนั้นคิดแค้นอยู่มิได้ขาด…พญาละแวกแจ้งดังนั้นก็ทรงพระโกรธ ตรัสว่าเราก็เป็นกษัตริย์มาดูหมิ่นกันดังนี้ ไหนกรุงกำภูชาธิบดีกับกรุงศรีอยุทธยาจะเป็นพระราชไมตรีกันสืบไปได้…” [8]

ส่วนกัมพูชามองว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่ “ไทย” ไม่รู้บุญคุณ “เขมร” ในการที่ยกทัพไปช่วยรบพม่า รวมทั้งยังมีการกล่าวถึงตำนานเรื่องการที่สยามวางอุบายยิงกระสุนเงินพดด้วงที่กอไผ่เมืองละแวก ทำให้ชาวเมืองละแวกไปตัดไม้ไผ่ที่เป็นรั้วล้อมเมืองลงแวกเพื่อหาเงินพดด้วงจนเสียเมืองลงแวก

วาทกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ทางประวัติศาสตร์คนละชุด และเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยรับรู้และตระหนัก ในขณะที่วาทกรรมดังกล่าวนอกจากปรากฏในหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชา รวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชา ซึ่งเป็นการตอกย้ำวาทกรรมเหล่านี้ในสังคมกัมพูชา

ความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมร สมัยอุดงค์

สำหรับความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมรสมัยอุดงค์ หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า “ตั้งแต่เวลานั้นมา แผ่นดินเขมรในอาณาเขตภาคตะวันตกถูกประเทศสยามแย่งชิงเอาใหม่ แล้วก็เป็นเวลาที่แผ่นดินเขมรเริ่มหดเข้าทีละน้อยๆ โดยประเทศสยามไม่เคยระลึกถึงพรมแดนแต่ก่อนเลย…” [9] นอกจากนี้ยังกล่าวว่าการที่ในสมัยนี้พระศรีสุริโยพรรณต้องไปผูกไมตรีกับกรุงเว้ (เวียดนาม) ก็เพื่อ “…เพื่อหลบหลีกจากอิทธิพลของสยาม…” [10] ทำให้สยามยกทัพมาตีเขมรในปี 1622 และ 1623 แต่สยามแพ้ถอยกลับคืนไป

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความขัดแย้งในสมัยปลายอุดงค์ซึ่งสยามทำการข่มขู่ให้พระบาทองค์ด้วง [11] เกรงกลัว เนื่องจากการที่กัมพูชาจะทำสนธิสัญญาทางการค้าและศาสนากับฝรั่งเศส ทำให้ “สมเด็จองค์ด้วง ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจตราของขุนนางสยามและกลัวภัยเหล่านั้น ได้ปฏิเสธไม่ยอมพบกับบาทหลวงฝรั่งเศสนั้นเลย…” [12]

ความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมร สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาในยุคนี้เกี่ยวเนื่องกับความพยายามควบคุมกัมพูชาไว้ในอำนาจของไทย โดยเฉพาะการข่มขู่สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร (พระองค์ราชาวดี) ทำให้พระองค์ต้องยอมทำตามข้อตกลง 11 ข้อของสยาม ทำให้ “…ประเทศกัมพูชากลายเป็นรัฐส่วยของสยาม สูญเสียอิสรภาพทั้งปวง ประเทศสยามมีสิทธิ์ยื่นมือเข้ามาในความขัดแย้งระหว่างเขมรกับเขมร หรือความขัดแย้งในประเทศเขมรโดยสามารถใช้สอยกำลังทัพ และอาจจับคุมขังญาติวงศานุวงศ์เขมรได้อีกด้วย ประเทศกัมพูชาต้องรับภาระในการนำส่วยสาอากรไปประเทศสยามโดยขาดไม่ได้ ประเทศสยามให้ประเทศกัมพูชารับทราบในการสูญเสียเมืองพระตะบอง เสียมราบ และต้องให้ประเทศกัมพูชามอบแผ่นดินเมืองโพธิสัตว์ และกำพงสวายเพิ่มอีกด้วย ประเทศกัมพูชาไม่อาจติดต่อกับมหาอำนาจ และส่งกองทัพของประเทศเหล่านั้นมาในกัมพูชา

ตามสนธิสัญญานี้ ประมุขรัฐของกัมพูชาสามารถแต่งตั้งขึ้นได้โดยมีการอนุญาตจากกรุงเทพ ตามคำแถลงของข้อตกลงนี้ พระมหากษัตริย์พระบาทนโรดมต้องสูญเสียสิทธิ์ทั้งหมดเหนือเมืองพระตะบอง และเมืองพระนคร ไม่เพียงเท่านั้น สยามได้ขยายสิทธิ์รวบเอาเมืองโพธิสัตว์ และกำพงสพืออีก หากพระมหากษัตริย์กัมพูชามีความประพฤติไมดีกับประเทศสยาม…” [13]

“…สนธิสัญญานี้ ไม่มีจุดใดแสดงถึงปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศสยามเลย มันเป็นสถานการณ์หนึ่งที่แสดงถึงการบีบของกษัตริย์สยามเหนือพระบาทนโรดม และการละเมิดของสยามเหนือสนธิสัญญา วันที่ 11 สิงหาคม 1863 ซึ่งพระบาทนโรดมได้ลงพระนามกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ประเทศสยามต้องสูญเสียผลประโยชน์บนประเทศกัมพูชา…” [14]

ข้อความที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า “ทัศนะ” ของกัมพูชาที่มีไทยเป็นภาพเชิงลบเนื่องจากกัมพูชามองว่า “สยาม” เป็นผู้แย่งชิงดินแดนของกัมพูชาไป ดังนั้นเมื่อกัมพูชาตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส มุมมองของไทยจึงเปลี่ยนไปจากเดิมเนื่องจากแต่เดิมเป็นปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา แต่เมื่อกัมพูชาเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ปัญหาเรื่อง พรมแดนไทย-กัมพูชา จึงกลายเป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลสยาม-ฝรั่งเศส

ด้วยเหตุนี้เมื่อไทยมองว่าเราเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส กัมพูชากลับมองต่างไปว่า “…แผ่นดินเขมรซึ่งประเทศสยามมอบมาให้ฝรั่งเศสตามอนุสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสมอบกลับมาคืนให้เขมร…” ซึ่งเท่ากับว่ากัมพูชาได้รับดินแดนเหล่านั้น “คืน” จากฝรั่งเศส หลังจากที่กัมพูชาได้เคย “เสีย” ให้กับไทยมาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้หนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนฯ” ยังนำสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสยาม-ฝรั่งเศสมากล่าวถึงด้วย รวมทั้งในเรื่องการปักหลักเขตแดนและการเขียนแผนที่ ทั้งยังได้กล่าวถึง “ทัศนะ” ต่อท่าทีของไทยต่อการเสียดินแดนว่า

“…การสูญเสียแผ่นดินดินตั้งแต่ปี 1893 ผู้นำประเทศสยามไม่ได้อยู่เฉย โดยได้ทำการทวงดินแดนเหล่านี้คืนจากฝรั่งเศส เขาคิดว่าการทวงนี้เป็นเหตุผลหนึ่งประกอบด้วยความถูกต้องทำให้หายซึ่งสภาพอยุติธรรมในเวลาที่ประเทศสยามกำลังเผชิญหน้ากับมหาอำนาจฝรั่งเศส…” [15]

ความขัดแย้งระหว่างสยาม-เขมร สมัยสังคมราษฎร์นิยม

ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา สมัยสังคมราษฎร์นิยมคือปัญหาปราสาทพระวิหาร หนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนฯ” กล่าวว่า ไทย-กีใ และกล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยคิดเช่นนี้อาจเนื่องมาจากปราสาทพระวิหารเป็นผลงานศิลปะที่งดงามไม่มีที่ติ

รวมทั้ง “ภายหลังจบสงคราม อาณานิคมฝรั่งเศสไม่ทันมีความสามารถในการปกป้องแผ่นดินอาณานิคมของตน โดยเฉพาะไม่อาจกำหนดพรมแดน หรือตรวจสอบพรมแดนได้ดี อีกอย่างหนึ่งสยามไม่เคยรับรู้ว่าตนมีที่มาจากสุโขทัย และไม่เคยรับรู้ผลงานสถาปัตยกรรมเขมรแม้แต่ครั้งเดียว

ดังนั้นประเทศไทยได้ฉวยโอกาสนี้ โดยทำเพิกเฉยไม่ยอมมอบปราสาทพระวิหารคืนให้เขมร เหมือนข้อตกลงลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 ได้ชี้แจงเลยในเวลานี้เองเรื่องพิพาทก็เริ่มเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น…” [16]

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาในเวลานั้น จึงได้นำคดีนี้เสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก และศาลโลกตัดสินให้ “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอธิปไตยของประเทศกัมพูชา” [17]

นอกจากนี้ หนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนฯ” ยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการกำหนดพรมแดนและการละเมิดพรมแดนที่เกิดขึ้นอีกในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้โดยได้สรุปเกี่ยวกับปัญหาปราสาทพระวิหารไว้ว่า

“…รวมมาเรื่องพิพาทปราสาทพระวิหารที่เกิดขึ้น โดยการถือเอาความคิดย้อมความจริงรวมผสมกับความคิดชาตินิยมของผู้นำไทย ในสมัยนั้นต้องการครอบครองปราสาทพระวิหารอย่างขาดไม่ได้ ความคิดนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จเลย เนื่องจากมีการเรียกร้องอย่างมากจากรัฐบาลฝรั่งเศส และรัฐบาลเขมรหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส แล้วปัญหาที่ทำให้ตุลาการตัดสินใจให้ประเทศเขมรชนะในเรื่องพิพาทนี้เกิดมาจากหลักฐานชัดเจนบนแผนที่ทางการทั้งหมด และมรดกประวัติศาสตร์ซึ่งบรรพบุรุษเขมรสมัยก่อนเหลือไว้ ปัญหาความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร ได้จบแต่เรื่องราวนี้ได้หลงเหลือร่องรอยหยาบๆ ในความรู้สึกของชนชาติเขมรและชนชาติไทย ไม่ง่ายที่จะลืมได้เลย…” [18]

ความขัดแย้งระหว่าง เขมร-สยามในปัจจุบัน

นอกจากหนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนฯ” จะนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งเรื่อง “พรมแดน” ระหว่างไทยกับกัมพูชาในอดีตแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้สรุปถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเขมร-ไทยที่เกิดจากกรณีปราสาทพระวิหารในปัจจุบันด้วยว่า

“…กรณีพิพาทนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ประเทศสยามได้ประกาศว่า แผ่นดินบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของเขา การอ้างนี้ตรงข้ามกับคำตัดสินของศาลโลก…ว่าบริเวณพระวิหารเป็นอธิปไตยของเขมร

ไม่เพียงแต่บริเวณพระวิหารเท่านั้น ที่กองทัพสยามละเมิดและอ้างว่าเป็นของตน แม้แต่ปราสาทต่างๆ ตามแนวพรมแดนบนพนมดงรัก เช่นปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมืองโตว์จ ปราสาทตาควาย และปราสาทอีกจำนวนหนึ่งสยามก็จัดว่าเป็นของตนด้วย ปัญหาเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเป็นกรณีพิพาทกันขึ้น…” [19]

ในตอนท้ายได้มีการสรุปเรื่องราวกรณีพิพาท โดยเฉพาะในเรื่องการเจรจาแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับพรมแดน ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ทัศนะ” ของฝ่ายกัมพูชาได้เป็นอย่างดี ดังนี้

“…ประเทศไทยมักละเมิดแผ่นดินเขมรตลอด แต่ประเทศนี้ไม่เคยรำลึกเลยเกี่ยวกับแผ่นดินเขมร ที่ตนได้ละเมิดเอาไปและวางอยู่ภายใต้เขาตั้งแต่อดีตกาล เขายังทำเป็นลืมอีกเกี่ยวกับชนชาติเขมรนับล้านคนที่อาศัยอยู่ในบรรดาจังหวัดภาคอีสานประเทศไทยปัจจุบัน และประชาชนเหล่านั้นยังรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และอารยธรรมเขมรอย่างเหนียวแน่นตลอดมา ไม่เพียงแต่เท่านั้น ประเทศไทยไม่เคยได้รับรู้ว่า ตนเองได้ยืมภาษา วัฒนธรรม และอารยธรรมเขมรนั้นเลย ไทยลืมอีกว่า ประเทศของตนเพิ่งจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 โดยการแย่งชิงแผ่นดินเขมรส่วนหนึ่ง…” [20]

บทสรุป

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า “ทัศนะ” ของชาวกัมพูชาที่มีต่อปัญหาความขัดแย้งในเรื่อง “พรมแดน” มีความแตกต่างจากไทยมาก ความขัดแย้งในเรื่องของพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชา มิได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่หากพิจารณาลงไปในตัวบททางประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่ามีความขัดแย้งกันอยู่โดยตลอด ดังมุมมองที่ปรากฏในหนังสือ “ความขัดแย้งพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ทํนาส่พฺรํแฎนรวางปฺรเทสไถ นิงปฺรเทสชิตขาง)” ที่กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งเรื่อง “พรมแดน” ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา

ในหนังสือเล่มนี้ได้มีการจัดแบ่งประเด็นความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาออกเป็นสมัยต่างๆ คือ สมัยพระนคร สมัยลงแวก (ละแวก) สมัยอุดงค์ สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส สมัยสังคมราษฎร์นิยม และสมัยปัจจุบัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมุมมองของกัมพูชาจะพบว่า “ทัศนะ” ที่มีต่อกรณีพิพาทนั้นฝ่ายกัมพูชามองว่าเกิดจาก “ไทย” เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงกรณีปัญหาปราสาทพระวิหารด้วย

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงตัวแทน “ทัศนะ” ในมุมหนึ่งของชาวกัมพูชาที่มีต่อความขัดแย้งเรื่อง “พรมแดน” ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อ “ไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยควรรับรู้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อ “ทัศนะ” ของชาวกัมพูชาได้มากขึ้น และอาจเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาจากแง่มุมของกัมพูชา เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชาวไทย-กัมพูชา ที่กำลังรุนแรงอันเนื่องมาจากกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ฆีง หุกฑี, บณฺฎำตามาส (ภฺนํเพญ: บณฺณคารองฺคร, 2007), หน้า 24.

[2] วิทฺยาสฺถานทํนาก่ทํนงอนฺตรชาติกมฺพุชา, ทํนาส่พฺรํแฎนรวางปฺรเทสไถ นิงปฺรเทสชิตขาง (ภฺนํเพญ: โรงพุมฺพพนฺลืแขฺมร, 2010), หน้า 1.

[3] หมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง). ผู้แปล.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 224-225.

[5] โปรดดูเรื่องนี้ใน ศานติ ภักดีคำ, “ด่านพระจารึก” อยู่ที่ไหน เหตุใดต้อง “จารึก” จากจุด “ปักปันเขตแดน” สู่ “ด่าน” ไทยสมัยอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 11 เดือนกันยายน 2553, หน้า 130-142.

[6] ตามเอกสารไทยคือ นักพระสัตถา พระยาละแวก, ผู้แปล.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 225-229.

[8] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542), หน้า 90.

[9] วิทฺยาสฺถานทํนาก่ทํนงอนฺตรชาติกมฺพุชา, ทํนาส่พฺรํแฎนรวางปฺรเทสไถ นิงปฺรเทสชิตขาง, หน้า 229.

[10] เรื่องเดียวกัน.

[11] คือ สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง), ผู้แปล.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 230.

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 231-232.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 232.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 255-256.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 264.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 269.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 270.

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 281.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2565