ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สามแยกไฟฉาย เป็นชื่อที่คุ้นหูกันดีของชาวฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในย่านบางกอกน้อย ทุกวันนี้ ความเป็น “สามแยก” ในเชิงกายภาพหายไปแล้ว เพราะถูกแทนที่ด้วย “สี่แยก” เกิดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ขึ้นใหม่ มีร้านอาหารขึ้นเรียงรายสองฝั่งถนน ทั้งยังมีอุโมงค์ และรถไฟฟ้าสถานีไฟฉายตั้งอยู่อีกด้วย แต่ชื่อ “สามแยกไฟฉาย” ก็ยังคงติดปากคนจำนวนไม่น้อย
ที่มาของชื่อสามแยกไฟฉาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไฟฉายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่เป็นไฟฉายขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ป.ต.อ.)
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เล่าเรื่องสามแยกไฟฉายไว้ในหนังสือ “ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า ป.ต.อ. เป็นอาวุธที่ประเทศไทยได้มาใหม่เมื่อปี 2474 เพื่อใช้ป้องกันการรุกรานน่านฟ้าไทยของข้าศึก
อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ประกอบอาวุธนี้คือ ไฟฉายแรงสูงขนาดใหญ่ มีหน้าตัดถึง 120 เซนติเมตร สำหรับส่องกราดบนท้องฟ้า เพื่อค้นหาเครื่องบินข้าศึกในเวลากลางคืน พร้อมเครื่องจับเสียงจากระยะไกล
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้นำอาวุธนี้ไปตั้งตามพื้นที่ชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ทุกด้าน และในเวลากลางคืนได้ใช้ไฟฉายส่องกราดตรวจน่านฟ้าอยู่ตลอดเวลา
สถานที่ที่ติดตั้ง ป.ต.อ. ที่มีไฟฉายขนาดใหญ่ มีด้วยกันหลายแห่ง แต่มีผู้เรียกสถานที่ที่มีคำว่าไฟฉายติดปากอยู่เพียงแห่งเดียวคือ สามแยกไฟฉาย
เหตุที่คนทั่วไปจำได้ ก็เพราะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ป.ต.อ. ยิงเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงที่สวนแถบฝั่งธนบุรี เล่ากันว่า ครั้งนั้นต้นหมากรากไม้ถูกกวาดเรียบเตียนเป็นแถบด้วยแรงเหวี่ยงของเครื่องบิน ซากเครื่องบินแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจายกินบริเวณกว้างขวาง ฝรั่งนักบินเสียชีวิตอย่างสยดสยอง อวัยวะร่างกายกระเด็นไปแต่ละทิศทาง
เหตุการณ์ตื่นเต้นครั้งนั้นทำให้ผู้คนจดจำและพูดถึงสถานที่นั้น โดยมีไฟฉายเป็นที่หมายสำคัญ เมื่อมีการตัดถนนบริเวณนั้นเป็นสามแยก จึงเรียกกันว่าสามแยกไฟฉาย”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำนาที่สาทร เมื่อ พ.ศ. 2480 ก่อนมีถนนสาทร
- ไขข้อข้องใจ ชื่อถนน “เพชรบุรีตัดใหม่” แล้วตัดเก่าอยู่ที่ไหน?
- “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ” สู่ “ถนนมิตรภาพ” ช่วยย่นเวลาเดินทางกทม.-โคราชจาก 10 เหลือ 3 ชม.
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551.
เผยแพร่ในระบบออน์ไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567