ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ถนนจรัญสนิทวงศ์ เปรียบเหมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของฝั่งธนบุรีเลยก็ว่าได้ เพราะกินพื้นที่ทั้งเขตบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย และบางพลัด ไปสุดที่เชิงสะพานพระราม 7 ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี อีกทั้งปัจจุบันก็ยังมีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น
ถนนจรัญสนิทวงศ์ มีความเป็นมาอย่างไร? และทำไมถึงได้ชื่อนี้?
ถนนเส้นนี้นับเป็นถนนเส้นแรกๆ ของธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตัดขึ้นเป็นเส้นทางคมนาคมของราษฎรฝั่งธนบุรี ยุคนั้นเป็นเพียงถนนลูกรังแคบๆ มีหญ้าแซมตลอดแนวจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาได้สร้างสะพานพระราม 6 และพระราม 7 ยาวมาถึงสามแยกไฟฉาย เชื่อมต่อทางที่จะไปถึงท่าน้ำศิริราช
เมื่อถึงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม มีการเวนคืนที่ดินจำนวนมากถึง 89 แปลง รวม 35 ไร่ 326 ตารางวา เพื่อพัฒนาธนบุรีด้วยการตัดถนนหลายสาย ซึ่ง ม.ล. จรัญ สนิทวงศ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเส้นทางคมนาคมยุคนั้น
ม.ล. จรัญเป็นบุตร พลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) ซึ่งสืบเชื้อสายจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กลมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นนักเรียนทุนกรมรถไฟไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา แล้วกลับประเทศไทยมารับราชการ มีบทบาทโดดเด่นในการบุกเบิกสร้างเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ความทุ่มเทเสียสละเพื่อประโยชน์ของประเทศตลอดชีวิตราชการ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. มีมติให้นำชื่อและนามสกุลของ ม.ล. จรัญ มาตั้งเป็นชื่อ “ถนนจรัญสนิทวงศ์” อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนดูย่าน “สุขุมวิท” ในอดีต ห่างไกลความเจริญจนเรียกว่าไป “ดาวอังคาร”
- คนตราดมา กทม. ยังไง? เมื่อไม่มี ถ.สุขุมวิท และนานแค่ไหนเมื่อเป็นลูกรัง?
- ถนนแห่งพระรามาธิบดี ถนนพระรามทั้ง 7 สาย
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2567