ย้อนดูย่าน “สุขุมวิท” ในอดีต ห่างไกลความเจริญจนเรียกว่าไป “ดาวอังคาร”

ตึกราบ้านช่อง ย่าน สุขุมวิท เต็มไปด้วย ต้นไม้ อาคาร ที่อยู่อาศัย
ตึกสูงบริเวณสุขุมวิท

โบราณว่าไว้ ให้ที่ดินแถบ “สุขุมวิท” ก็เหมือนพ่อแม่ไม่รัก แต่คนสมัยนี้เมื่อได้ฟังต่างเถียงหัวชนฝา เพราะปลายปี 2565 กรมธนารักษ์ ประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566-2569 ซึ่งย่านสุขุมวิทตั้งแต่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (บริเวณซอยสุขุมวิท 1 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต) ถึงแยกอโศกมนตรี ได้รับการตีราคาไปถึง 750,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งมูลค่าจริงในตลาดอาจพุ่งสูงไปมากกว่านั้น ทำเอานึกภาพทุ่งนาในพื้นที่สุขุมวิทสมัยคุณตาคุณยายยังเด็กไม่ออกเลยทีเดียว! 

ย่านสุขุมวิท เรียกตามชื่อ ถนนสุขุมวิท ที่มีจุดเริ่มต้นในปี 2462 หลังจาก “แหม่มโคล” ครูใหญ่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากแหม่มโคลเห็นว่าพื้นที่บริเวณคลองแสนแสบยังไม่มีการคมนาคมแบบถนน ซึ่งยากลำบากในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเพลินจิตต่อจากปทุมวัน หรือถนนพระรามที่ 1 จนบรรจบกับถนนวิทยุที่แยกไปสถานีวิทยุโทรเลข (แยกเพลินจิต) 

ต่อมา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดำริจะตัดแนวถนนบริเวณดังกล่าวเพื่อเชื่อมต่อไปยังสมุทรปราการ ทว่าน่าเสียดายที่กรมสุขาภิบาลยังไม่มีเงินพอจะสร้าง อิบราฮีม นานา หรือ เอ.อี.นานา ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลนานาจึงได้เรี่ยไรเจ้าของที่ดิน แล้วนำเงินมอบให้กรมสุขาภิบาลเพื่อตัดถนนต่อไป ตั้งแต่ถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ ไปจนถึงซอยทางเข้าของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (ซอยสุขุมวิท 19)

เข้าปี 2470 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างถนนตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 19 จนถึงจังหวัดสมุทรปราการ เกิดเป็น “ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” และเปิดใช้ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2479 

ก่อนที่ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) ซึ่งขณะนั้นคุมตำแหน่งอธิบดีกรมทาง จะมีโครงการสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้น จากเดิมถนนหยุดที่สมุทรปราการก็สร้างต่อไปจนถึงจังหวัดตราด ชื่อ “กรุงเทพฯ-ตราด” และกลายมาเป็นถนนสายหลักของภาคตะวันออก

จวบจนวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีมติตั้งชื่อทางหลวงเพื่อเป็นเกียรติต่อคุณประโยชน์ที่พระพิศาลสุขุมวิทสร้างไว้ว่า “ถนนสุขุมวิท” อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ “สุขุมวิท” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นหนึ่งในทำเลทอง หนีไม่พ้นย่านสุขุมวิทในกรุงเทพฯ ไล่ตั้งแต่ เพลินจิต นานา อโศก พร้อมพงษ์ ทองหล่อ ไปจนถึงเอกมัย ที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ทั้งยังเดินทางสะดวกด้วยคมนาคมสาธารณะหลากหลายรูปแบบ 

แต่ถ้าย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เช่นบรรยากาศของสุขุมวิทที่ปรากฏในงาน “วานนี้ที่สุขุมวิท” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ กลับแตกต่างจากปัจจุบันแทบจะสิ้นเชิง เพราะ “สุขุมวิท” พ.ศ. 2504-2530 ไม่ใช่ย่านในเมือง ทั้งยังเป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง อธิบายถึงบ้านเมืองบริเวณนั้นไว้ว่า

“…เมื่อพ่อและแม่บอกว่าเราจะย้ายไปอยู่ที่ซอยบ้านกล้วยใต้ ถนนสุขุมวิท ซึ่งอยู่ที่ไหนไม่รู้ ผมจึงรู้สึกคล้ายกับจะต้องย้ายไปอยู่โลกดาวอังคารเลยทีเดียว”

“ซอยบ้านกล้วยใต้นี้เป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนพระราม 4 สภาพถนนเวลานั้นอย่าไปนึกถึงถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางอะไรเลย คำว่า ‘ถนน’ คือถนนดินครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็น พ่อหรือลูก ยังต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจสร้างถนนหน้าบ้านขึ้นมา เพื่อให้รถยนต์เข้าไปในบ้านได้อีกด้วย

“…พ่อและลูกอีก 2 คนต้องช่วยกัน ‘ทำถนน’ เนื่องจากว่าเมื่อเราย้ายบ้านจากซอยอารีย์ไปอยู่บ้านกล้วยใต้นั้น สถานการณ์บังคับให้พ่อกับแม่ต้องซื้อรถโฟล์กสวาเกน ที่เรียกว่า ‘โฟล์กเต่า’…ถนนภายในบ้านของเราที่กล่าวถึงนี้ คำว่า ‘ถนน’ อาจจะชวนทำให้เข้าใจผิดไปไกล ถ้าเรียกว่าทางเกวียนหรือทางลำลองแล้วอาจจะใกล้เคียงความจริงมากกว่า เราทุกคนช่วยกันนำจ๊อมาทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้ววางเรียงลงเป็นแนวตามเส้นทางที่ล้อจะบดไป…”

ถัดจากบริเวณบ้านกล้วยใต้ เรียกได้ว่าเกือบจะเป็นทุ่งร้าง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ 

“หันกลับมาเหลียวดูทางหลังบ้านบ้างครับ อย่างที่เล่ามาแล้วว่าครัวของเรานั้นสร้างคร่อมลำรางเล็ก ๆ สายหนึ่ง หลังครัวออกไปไม่ไกลนักก็หมดเขตบ้านของเราแล้ว ต่อจากนั้นไปก็เป็นที่ดินรกร้างคล้ายกับว่าเป็นทุ่งนามาแต่เดิมแต่ไม่มีการทำนามานานแล้ว ไกลจบเกือบสุดสายตามีบ้านแขกเลี้ยงควายหนึ่งหลัง โดยสรุปก็คือหลังบ้านเป็นพื้นที่ว่างกว้างขวางพอสมควร เป็นบริเวณที่ธรรมชาติได้เป็นของตัวเองโดยไม่มีใครไปรบกวน

พราะฉะนั้นสิ่งที่ผมได้พบเห็นอยู่บ่อย ๆ ก็คือสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในท้องนาบ้านเรา เป็นต้นว่าไก่นา ซึ่งเป็นคำเรียกรวม ๆ สำหรับนกที่มีอยู่ตามธรมชาติหลายชนิด…ถ้าเรียกโดยเฉพาะเจาะจงแล้วก็อาจเป็นนกกวัก นกอี้โก้ง นกอี้ล้ำ

….ในอีกแง่มุมหนึ่งมุมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งก็มีอยู่ล้อมรอบตัวเรา ในพงหญ้ารกทั้งหลายมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคืองูครับ งูที่พบเห็นได้บ่อยในละแวกบ้านเราคืองูเห่าและงูเขียว

นอกจากงู ผู้เขียนยังกล่าวถึงสัตว์อีกสองชนิด ได้แก่ ตุ๊กแก และตัวเงินตัวทอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในขณะนั้นด้วย

ไม่เพียงแค่สุขุมวิท แถบ ๆ บ้านกล้วยใต้ ที่ดูห่างไกลความเจริญ แต่ ย่านเอกมัย บริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ก็ไม่ต่างกัน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เล่าถึง รศ. ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2547 ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยว่า

“เมื่อ 55 ปีก่อนเธอเคยมาหัดขับรถบนถนนสายนี้เพราะการจราจรเบาบางมาก มองไปสองข้างทางแลเห็นแต่ทุ่งนา

นอกจากนี้ ย่านพระโขนง ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวถนนสุขุมวิท ก็เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ จนไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไปเช่นกัน

“…บริเวณที่ผมคุ้นเคยในวัยเด็กนั้นเริ่มตั้งแต่ถนนสุขุมวิทตรงทางรถไฟตัดผ่านที่ว่ามาจนถึงบริเวณสะพานพระโขนง พ้นจากนี้ไปต้องถือว่าห่างไกลความเจริญมาก ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่มีใครไปครับ กลัวหลง ธุระที่คนบ้านผมต้องข้ามสะพานไปเห็นจะมีอยู่เพียงเรื่องเดียวคือการไปติดต่อที่ว่าการอำเภอพระโขนง (เวลานั้นยังเรียกว่าอำเภอ ไม่ได้เรียกว่าเขตในปัจจุบัน)…”

แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ย่านสุขุมวิทในกรุงเทพฯ ทั้งหมด แต่ก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่า “สุขุมวิท” ที่ทุกวันนี้อัดแน่นไปด้วยตึกสูงและความทันสมัยมากเท่าที่เราจะนึกออก ในอดีตคือพื้นที่ท้องนาอันเวิ้งว้างห่างไกลอย่างนึกไม่ถึง 

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธงทอง จันทรางศุ. วานนี้ที่สุขุมวิท. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.

ประชาชาติธุรกิจ. “ธนารักษ์ ประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ พื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566-2569.” สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. https://www.prachachat.net/finance/news-1153672.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566