ที่มาถนนสุขุมวิท ทางหลวงสำคัญสู่ภาคตะวันออก ที่จอมพล ป.ใช้หนีการรัฐประหาร

ถนนสุขุมวิท
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ตอน ก.ม. 105 ที่ตำบลบางพระ ( ภาพในวารสารทางหลวง จากเพจพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง)

ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3 (ทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด) เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ถนนสุขุมวิท” เมื่อคณะรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติ ให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวง

หากก่อนมี ถนนสุขุมวิท การคมนาคมในภาคตะวันออก ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ตอนในของภาคตะวันออกมีแม่น้ำบางปะกง ที่ไหลผ่านจังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา และไหลลงสู่อ่าวไทย ส่วนชายฝั่งทะเลมีแม่น้ำจันทบุรี,แม่น้ำระยอง และแม่น้ำตราด ที่ใช้ในการเดินทางและขนส่งสินค้าจากแผ่นดินภายในออกมาสู่เมืองท่าชายฝั่งทะเล

แต่เส้นทางดังกล่าวต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงมีการขุดคลองเพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทาง และประโยชน์ทางการเกษตร เช่น คลองแสนแสบ หรือคลองบางขนาก (พ.ศ. 2380) คลองนครเนื่องเขตร   (พ.ศ. 2419-2420) คลองประเวศบุรีรมย์ (พ.ศ. 2421) คลองเปร็ง (พ.ศ. 2429)

ต่อมารัฐบาลมีนโยบายสร้างทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าด้วยกัน โดยได้อนุมัติ “แผนการทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2479” ถนนสุขุมวิทก็อยู่ในแผนงานดังกล่าว ภายใต้ “โครงการตัดถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก” กำหนดเวลาดำเนินการ 18 ปี (พ.ศ. 2479-2497)

โดยกำหนดเส้นทางการตัดถนนสุขุมวิท ดังนี้ ตั้งต้น (กม. 0.000) จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านเทศบาลนครกรุงเทพฯ สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ (1 กม.) อำเภอปทุมวัน (4 กม.) คลองพระโขนง (13 กม.) ตำบลบางนา (18 กม.) จังหวัดพระนคร ผ่านคลองสำโรง (20 กม.) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (25 กม.) ตำบลบางปู (38 กม.) คลองด่าน (56 กม.)

จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอบางปะกง สะพานเทพหัสดิน (80 กม.) จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอเมืองชลบุรี (94 กม.) บางแสน (106 กม.) ศรีราชา (118 กม.) อำเภอบางละมุง (143 กม.) สัตหีบ (177 กม.) จังหวัดชลบุรี ผ่านอำเภอเมืองระยอง (244 กม.) อำเภอแกลง (268 กม.) จังหวัดระยอง ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี (332 กม.) อำเภอขลุง (357 กม.) จังหวัดจันทบุรี ผ่านอำเภอเขาสมิง (381 กม.) อำเภอเมืองตราด (400 กม.) จังหวัดตราด

การก่อสร้างแบ่งเป็นช่วงๆ ดังนี้ สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2480 สายทางชลบุรี-สัตหีบ แล้วเสร็จ พ.ศ. 2482 สายทางสัตหีบ-ระยอง และสายบางปะกง-ชลบุรี สร้างเสร็จพร้อมกัน พ.ศ. 2484

จนกระทั่ง พ.ศ. 2484-2491 สายทางกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ จนถึงแค่ช่วงชลบุรี-สัตหีบจะเป็นทางลาดยาง ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นลูกรัง ต่อมา พ.ศ. 2494 สะพานเทพหัสดินข้ามแม่น้ำบางปะกงเปิดใช้งาน ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น แต่ถนนสุขุมวิทในช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2498 โดยมีผิวจราจรเป็นลูกรัง

แม้จะยังเป็นเพียงถนนลูกรัง แต่ “ถนนสุขุมวิท” ก็ช่วยผนวกเศรษฐกิจภาคตะวันออกเข้ากับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเกษตรและประมง นอกจากนี้ ถนนเส้นนี้ยังมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร (16 กันยายน 2500) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเดินทางลี้ภัยไปประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท จากกรุงเทพฯ มุ่งจังหวัดตราด เพื่อเดินทางไปจังหวัดเกาะกงของประเทศกัมพูชา ก่อนเดินทางต่อไปประเทศญี่ปุ่น

ถนนสุขุมวิท ตอนระยอง-จันทบุรี-ตราด ลาดยางแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2510 ทำให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าของภาคตะวันออกรวดเร็วขึ้น ระยะเวลาเดินทางจากจังหวัดตราดสู่กรุงเทพฯ จากเดิมที่เดินทางโดยเรือยนต์เลียบชายฝั่งทะเลต้องใช้เวลา 30 ชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อำพิกา สวัสดิวงศ์. “ถนนสุขุมวิทกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย ช่วงทศวรรษ 2480-2520” ใน, วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (เมษายน-กันยายน 2558)

อนุสรณ์กระทรวงคมนาคม 2497, โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ 2497


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฏาคม 2563