ผู้เขียน | เสมียนอัคนี |
---|---|
เผยแพร่ |
16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล ป. ออกจากประเทศมุ่งสู่ กัมพูชา หลัง “เลือกตั้งสกปรก” และถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 หรือ 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่กลับเพิ่มดีกรีของความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น การเดินขบวนประท้วงของประชาชนและนิสิตนักศึกษามุ่งหน้าจากท้องสนามหลวง สู่ทําเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกันนี้ได้มีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีอํานาจบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตํารวจได้ทั่วราชอาณาจักร
ท่ามกลางบรรยากาศความไม่พอใจของหนังสือพิมพ์ และประชาชนทั่วไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 26 ในระบอบประชาธิปไตย ในรัฐบาลนี้จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นรองนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทถนอม (จอมพล) เป็นรมช.กลาโหม พลตํารวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตรีประภาส จารุเสถียร (จอมพล) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พันเอกนาย วรการบัญชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องพารัฐนาวาฝ่าคลื่นมรสุมอย่างหนักหน่วงหลายประการ ในสายตาประชาชนแล้ว รัฐบาลขาดความชอบธรรม เพราะมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตยุติธรรม การโจมตีของหนังสือพิมพ์ และพรรคประชาธิปัตย์ นําโดยนายควง อภัยวงศ์ สส. กรุงเทพฯ และหัวหน้าพรรค และที่สําคัญสุดคือการชิงอํานาจซึ่งกันและกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลตํารวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีข่าวมาตลอดว่าต่างจะจับกุมตัวซึ่งกันและกัน และจะขึ้นเป็นผู้นําทางการเมืองแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม
และแล้วความล่มสลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มาถึง และทําให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องลี้ภัยการเมืองจากประเทศไทยไปจนถึงอสัญกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจจากแผ่นดินเกิดมุ่งสู่ กัมพูชา เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
“โดยท่านได้ขับรถซีตรองออกจากทำเนียบพร้อมด้วย พล.ต. บุลศักดิ์ วรรณมาศ นายทหารคนสนิท, นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจรักษาความปลอดภัย ในค่ำของวันที่ 16 กันยายน 2500 เวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา ได้มุ่งหน้าสู่จังหวัดตราด ลงเรือของชาวประมงไปขึ้นที่เกาะกงของกัมพูชา วันรุ่งขึ้นรัฐบาลกัมพูชาได้จัดเรือรบหลวงมารับท่านเดินทางเข้าสู่กรุงพนมเปญ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้ากรุงกัมพูชาและสมเด็จพระบรมราชินี ประดุจแขกเมืองคนสำคัญ”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด
16 ธันวาคม 2481 – 6 มีนาคม 2485
7 มีนาคม 2485 – 1 สิงหาคม 2487
8 เมษายน 2491 – 23 มีนาคม 2492
24 มิถุนายน 2492 – 29 พฤศจิกายน 2494
29 พฤศจิกายน 2494 – 6 ธันวาคม 2494
6 ธันวาคม 2494 – 23 มีนาคม 2495
24 มีนาคม 2495 – 26 กุมภาพันธ์ 2500
21 มีนาคม 2500 – 16 กันยายน 2500
รวม 8 สมัย 14 ปี 11 เดือน 18 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ชะตารัฐบาลหลัง เลือกตั้งสกปรก 2500 จอมพล ป. ที่ว่ากันว่าใช้ “อิทธิพล” ลี้ภัยพร้อมตร.อารักขา
- อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก เล่าเหตุการณ์พา “จอมพล ป.” หนีไปกัมพูชา
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540” ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2540 และบทความ “ตำรวจอารักขา” ของพลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพลตํารวจเอกชุมพล โลหะชาละ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2562