อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก เล่าเหตุการณ์พา “จอมพล ป.” หนีไปกัมพูชา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านผู้หญิงละเอียด กัมพูชา
จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด ณ ชายทะเลแห่งหนึ่งที่กัมพูชา สถานที่แห่งแรกที่ไปถึง หลังออกไปจากประเทศไทย (ภาพจาก หนังสือ “อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐”)

ผลการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แม้พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้คะแนนมากที่สุดคือ 86 ที่นั่ง จากทั้งหมดทั่วประเทศ 160 ที่นั่ง แต่ประชาชนทั่วไปกลับไม่ยอมรับจนนำมาสู่การเดินขบวนประท้วงของนิสิตนักศึกษา ก่อนที่จะปิดฉากด้วยการ “รัฐประหาร” ส่วนจอมพลป. ก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ไป กัมพูชา

ตอนหนึ่งในหนังสือ “อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540” (ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2540) บันทึกว่า

“โดยท่านได้ขับรถซีตรองออกจากทำเนียบพร้อมด้วย พล.ต. บุลศักดิ์ วรรณมาศ นายทหารคนสนิท, นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจรักษาความปลอดภัย ในค่ำของวันที่ 16 กันยายน 2500 เวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา ได้มุ่งหน้าสู่จังหวัดตราด ลงเรือของชาวประมงไปขึ้นที่เกาะกงของกัมพูชา วันรุ่งขึ้นรัฐบาลกัมพูชาได้จัดเรือรบหลวงมารับท่านเดินทางเข้าสู่กรุงพนมเปญ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้ากรุงกัมพูชาและสมเด็จพระบรมราชินี ประดุจแขกเมืองคนสำคัญ”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านผู้หญิงละเอียด ณ ชายทะเล กัมพูชา
จอมพล ป.พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด ณ ชายทะเลแห่งหนึ่งที่กัมพูชา  (ภาพจาก หนังสือ “อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐”)

หากการเดินทางไปเกาะกงไม่ใช่เรื่องง่าย

นายประเสริฐ ศิริ
นายประเสริฐ ศิริ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลภาพศิลปวัฒนธรรม)

นายประเสริฐ ศิริ อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ปัจจุบันอายุ 83 ปี ผู้ที่ขับเรือพาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปส่งที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา หลังจากเกิดการ รัฐประหาร 16 ก.ย. 2500 เคยให้สัมภาษณ์กับ “ศิลปวัฒนธรรม” ว่า

ขณะนั้นถนนต่างยังไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน ถนนสายบายพาสยังไม่มี การจะเดินทางไปกัมพูชามีทางเลือกไม่มากนักคือ ถ้าไปทางจันทบุรีเข้าเมืองไพลิน แต่เส้นทางลำบากมากต้องใช้ช้างอย่างเดียว เพราะตอนนั้นยังไม่มีถนน จึงต้องเลือกมาตราด ซึ่งก็ต้องใช้เรือแทนรถยนต์ เพราะถนนตราด-คลองใหญ่ก็ยังมีเช่นกัน

คณะที่ประกอบด้วยจอมพล ป., พันตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ, นายฉาย วิโรจน์ศิริ และจ.ส.ต. เฉลิม ชัยเชียงเอม-ตำรวจน้ำที่จังหวัดตราดอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้การชุมพล จึงต้องเปลี่ยนพาหนะจากรถยนต์เป็นเรือฉลอมขนาด 7 วาเศษ ชื่อ “ประสิทธิ์มงคล” วิ่งเลาะเกาะกรูดถึงบ้านหาดเล็ก ประมาณ 23.00 น. เศษ เพื่อคนชำนาญทางไปส่งที่ประเทศกัมพูชาอีกทอดหนึ่ง

“เขาหวังให้พ่อผมไปส่ง แต่พ่อผมว่า ท่านเองนะสู้ผมไม่ได้ ผมชำนาญกว่าทั้งร่องน้ำลึก หรือตรงไหนมีโขดหินผมรู้หมด แล้วผมก็พูดได้ทั้งภาษาเขมร ภาษาไทย พ่อว่าอย่างนี้ ทุกคนเลยยอม ผมเลยได้เป็นกัปตัน แต่ตอนนั้นเขาเรียกไต้ก๋ง” กำนันประเสริฐกล่าว

ขณะนั้นเป็นหน้ามรสุม ทั้งลม ฝนและคลื่นแรงมาก ถังน้ำจืดท้ายเรือถูกตีแตก คลื่นซัดน้ำเข้าเรือท่วมดาดฟ้าเรือเรือก็รั่ว ต้องใช้สูบชักน้ำออก สูบไปสักพัก ยางลิ้นลูกสูบขาดใช้ไม่ได้ น้ำเลยท่วมเครื่องโม่เล่ ต่อมาเครื่องยนต์ก็ดับ ต้องใช้เวลอยู่นานกว่าจะแก้ไขได้ แต่คณะก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ “ความมืด” ที่อาจทำให้เกิดอันตรายจากการชนกับเกาะแก่ง หินโสโครก และหากเรือแตกทะเลบริเวณนั้นก็มีปลาฉลามชุกชุม ทว่าทุกอย่างก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี เรือแล่นมาใกล้จะถึงหมู่บ้านปากคลองหางควาย

สะพานปอเฮง ถ่ายจาก ประภาคาร แหลมงอบ
สะพานปอเฮงที่จอมพล ป. ลงเรือเพื่อลี้ภัยไปเมืองเกาะกง กัมพูชา ถ่ายจากประภาคาร แหลมงอบ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ประมาณตี 4 เศษ เรือก็ถึงค่ายทหารย่อยของกัมพูชาตั้งอยู่ปากคลองหางควาย เมื่อได้พูดคุยกับทหารที่ค่าย เขาก็จะพาไปที่ค่ายทหารใหญ่ของเขมรที่แหลมด่าน จังหวัดเกาะกง ห่างจากคลองหางควายไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง ถึงค่ายทหารพอดีตอนเที่ยง ไม่ต้อนรับอะไรเป็นพิเศษ มีแค่ต้มข้าวเปียก (คล้ายข้าวต้ม) กับปลากดเค็มให้รับประทาน จนบ่ายสองเสียงแตรสนามเรียกรวมพล ทหารแต่งเครื่องแบบมาเต็มยศ หลังจากรายงานเข้าพนมเปญ สมเด็จพระนโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรี สั่งให้ต้อนรับให้ดีที่สุด จึงได้ย้ายขึ้นไปอยู่บนเรือนพักรับรองของค่ายทหาร

ด้วยการเดินทางที่ต้องผจญภัยต่างๆ ทำให้กว่ากำนันประเสริฐจะทราบว่าผู้ที่ตนเองพามาส่งเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็เมื่อถึงค่ายทหารกัมพูชา และยังถามประสาคนหนุ่มแบบซื่อว่า “ตามที่วิทยุเขาประกาศลุงก็คุมหมดทั้งทหารตำรวจ แล้วลุงจะหนีเขามาทำไม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562