คนตราดมา กทม. ยังไง? เมื่อไม่มี ถ.สุขุมวิท และนานแค่ไหนเมื่อเป็นลูกรัง?

จุดสิ้นสุด ถนนสุขุมวิท ที่ จังหวัด ตราด
จุดสิ้นสุดถนนสุขุมวิทที่จังหวัดตราด ด้านหน้าวัดกลางชัยมงคล ตรงข้ามตลาดสดเทศบาล เมื่อ พ.ศ. 2512 ภาพจากฐิติกร โลหคุปต์ (ภาพจากหนังสือ "สมุดภาพเมืองตราด")

“ถนนสุขุมวิท” หรือ “ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลย 3” เป็นถนนเส้นทางสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล ผ่านจังหวัดในภาคตะวันออกตอนล่างของประเทศไทย เริ่มจากกรุงเทพฯ ผ่านบางนา สมุทรปราการ บางปู คลองด่าน บางปะกง ชลบุรี บางละมุง สัตหีบ ระยอง จันทบุรี และสิ้นสุดที่ “ตราด” ระยะทางทั้งหมดประมาณ 400 กิโลเมตร 

การสร้างถนนสุขุมวิทจากรุงเทพฯ-จังหวัดตราดใช้เวลา 18 ปี  โดยถนนช่วงแรก เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-สุมทรปราการ แล้วเสร็จในปี 2480 จากนั้นเส้นทางช่วงอื่นก็ค่อยๆ แล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งาน โดยช่วงสุดท้ายของถนนสุขุมวิทที่จังหวัดตราดแล้วเสร็จในปี 2498 หากก็ยังเป็นถนนลูกรังที่ยังไม่ได้ลาดยาง

Advertisement

แล้วก่อนหน้าที่ถนนสุขุมวิทจะไปถึง หรือระหว่างที่การตัดถนนสุขุมวิทยังไม่แล้วเสร็จดี คนตราดเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ กันอย่างไร

ภาคผนวกของหนังสือ “ประวัติศาสตร์จังหวัดตราด” (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ, เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้อำนวยการจัดทำ, 2565) ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ “คนตราด” หลายท่านเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของคนตราด ในที่นี้ขอคัดย่อเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ “ถนนสุขุมวิท” มานำเสนอดังนี้

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรราชนิเวศ มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ (พ.ศ. 2479-2565) เป็นคนบ้านเกาะเกตุ ตำบลชำราก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

ก่อนที่จะมีถนนสุขุมวิท สมัยที่พระคุณเจ้าท่านยังเป็นเด็ก ตามหลวงพ่อ (พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร)) เจ้าอาวาสวัดคีรีวิหาร มากรุงเทพฯ ว่า

“…นั่งเป็นเรือใบ ต่อจากไม้ ตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นเรือที่บรรทุกทั้งของทั้งคน ขามาทุกไม้จากตราดมาขายกรุงเทพฯ ใช้เวลา 30 วัน ก็มีแวะระหว่างทาง เอาเรือเล็กไปซื้อข้าวปลาอาหารที่ฝั่งบ้าง นั่งมาขึ้นที่ท่าน้ำแถวสะพานพุทธ ขากลับบรรทุกขี้เป็ดกลับไปขายให้คนใช้ทำปุ๋ย แต่ขี้เป็ดเบาขากลับเลยไม่ถึง 30 วัน…เมาสิ เมาเรือตลอดทาง…”

หลังจากบรรพชาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ประมาณ พ.ศ. 2497 มีโอกาสเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ตราดครั้งแรก และครั้งนี้มี “ถนนสุขุมวิท” ไปถึงจังหวัดตราดแล้ว ซึ่งพระคุณเจ้าเล่าว่า

“…ตอนนั้นมีถนนไปถึงแล้ว แต่เป็นถนนลาดยางจากกรุงเทพฯ ถึงแค่อำเภอศรีราชา จากศรีราชาไประยองเป็นถนนลูกรัง จากระยองไปตราดเป็นทางเกวียนที่รถพอจะวิ่งไปได้

ต้องไปขึ้นรถแถวท่าสวัสดี วัดสัมพันธวงศ์ราวๆ ตี 2 ประมาณ 4-5 ทุ่ม เราก็เดินจากวัดบวรฯ ไปรอรถ รถที่ใช้ตอนนั้นติดเครื่องโดยใช้มือหมุนเครื่องยนต์ด้านหน้ารถ เขาต่อตู้โดยสารด้วยไม้เตี้ยๆ เวลาจะเข้าไปนั่งต้องคลานเข้าไป มีที่นั่งเป็นไม้ที่เขาตรึงไว้กับตัวรถ

แล้วรถแต่ก่อนมันไม่ได้วิ่งเร็วนะ วิ่งแค่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถออกจากท่าสวัสดีตี 2 ไปมืดที่จันทบุรี แล้วสว่างอีกทีหนึ่งจึงจะถึงตราด ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน ระหว่างทางถ้ามีหลุมน้ำอะไรที เขาก็จะเอาหินใส่ บางทีต้องไปปรับหินก่อนถึงจะไปได้ หรือบางทีต้องข้ามคลอง ข้ามแม่น้ำก็ต้องใช้แพบรรทุกเรือข้าม ถ้ารถไปเสียก็จะนานกว่านั้นอีก ก็ระหกระเหินไป ตัวแดงหมด ฝุ่นทั้งนั้น”

เรือศรีเจริญ 1 และ 2 ของนายวิสิทธิ์ บุญช่วยเหลือ จังหวัด ตราด
เรือศรีเจริญ 1 และ 2 ของนายวิสิทธิ์ บุญช่วยเหลือ ถ่ายเมื่อปี 2499 เป็นเรือใบบรรทุกสินค้าระหว่างตราด-กรุงเทพฯ ต่อมาราว 2510 ได้นำไปติดตั้งเครื่องยนต์-ภาพจากนางอำไพ บุญช่วยเหลือ (ภาพจากหนังสือ “สมุดภาพเมืองตราด”)

นายไพโรจน์ ศุภวิวรรธน์ (พ.ศ. 2484-?) อดีตกำนันแหลมงอบ, อดีต อบต.แหลมงอบ ฯลฯ ผู้มีพื้นเพครอบครัวเป็นชาวจีนที่อพยพมาตั้งหลักฐานที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

นายไพโรจน์ ศุภวิวรรธน์

นายไพโรจน์เล่าถึงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในอดีตว่า

“…สมัยก่อนมีเรือเมล์หลายลำ มีเรือสำราญวารี เรือภาณุรังสี เรือปากพนัง เรือสัมประตรัย เรือสุวารี ฯลฯ เส้นทางเดินเรือจากท่าน้ำสวัสดี ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ ผ่านปากน้ำ สมุทรปราการ เกาะสีชัง ชลบุรี ระยอง ประแสร์ เกาะจิก ท่าแฉลบ จันท์ มาแหลมงอบ ไม่ได้เข้าเมืองตราด [เพราะอำเภอแหลมงอบเจริญกว่าอำเภอเมือง] เลยไปเกาะหมาก แล้วสุดท้ายที่เกาะกง 

ขามาจากกรุงเทพฯ จะทุกสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค พวกข้าวสาร น้ำตาล เครื่องก่อสร้าง ขาไปจากตราดนอกจากบรรทุกคนก็มีของป่า อย่างยางพารา ยางมะซาง หมาก เครื่องเทศ ฯลฯ แต่เรือไม่ได้เข้าฝั่ง บางที่น้ำมันตื้น ก็ต้องเรือชาวบ้านไปรับอีกที เรือโป๊ะมารับ ทุกข้าวสาร

นอกจากเรือเมล์ก็มีเรือใบของลุงบัว วิสุทธิวงศ์ ลำหนึ่ง นี้รับทุกสินค้าจากตราดไปเป็นพวกพืชไม้ หมาก ยาง ฯลฯ ขากลับก็ทุกปูนซีเมนต์ ขี้เป็ด กลับมาขาย แต่เรือใบไม่มีกำหนดอยู่ที่คลื่นลม เรือใบแวะตามอ่าวไปเรื่อย คนสมัยก่อนเก่งเขาดูลมดูดินฟ้าอากาศได้ หน้ามรสุมเรือใบก็ไปไม่ได้แล้ว”

เมื่อถามว่าแล้วถนนสุขุมวิทมาถึงตราดเมื่อใด

กำนันไพโรจน์ ก็ตอบด้วยข้อมูลในความทรงจำว่า

“ปี 2499 ถนนสุขุมวิทมาแล้ว แต่ยังลาดยางไม่หมด ที่ตราดนี่ยังไม่ได้ลาดยางเลย เป็นถนนลูกรังล้วน ผมไปกรุงเทพฯ ครั้งแรก 26 มีนาคม พ.ศ. 2499 ขึ้นรถเมล์ออกจากตราดตี 4 ช่วงนั้นสะพานท่าจอดยังไม่มีต้องใช้แพขนานยนต์ ไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณียังเป็นสะพานไม้ คนต้องลงก่อน กว่าจะไปถึงบางปู กว่าจะถึงท่าน้ำสวัสดี 4 โมงเย็น ผมแดงหมดเลย รถโดยสารที่ใช้เขาเรียกรถ เทียนไทย 9’ ของลุงกวน เป็นรถบัสธรรมดาไม่มีแอร์

ผมจะแต่งงานไปรับเจ้าสาวมาจากกรุงเทพฯ ปี 2516 ก็เป็นถนนสุขุมวิทสายเก่ายังเป็นถนนลูกรัง เจ้าสาวไม่ยอมลงจากรถเลย (หัวเราะ) มาลาดยางประมาณปี 2520”

อาจารย์เครือรัตน์ แก้ววิเชียร

อาจารย์เครือรัตน์ แก้ววิเชียร (พ.ศ. 2494-?) คนอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ผู้เป็นคุณครูของโรงเรียนวัดบางปิดล่าง (ราษฎร์สงเคราะห์) ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ และโรงเรียนชุมชนแหลมงอบ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ

อาจารย์เครือรัตน์เล่าประสบการณ์ เมื่อที่เดินทางเข้ามาเรียนมัธยมปลาย (ม.ศ. 4-5) ที่โรงเรียนอัมพรไพศาล กรุงเทพฯ (ขณะนั้น โรงเรียนยังตั้งอยู่ที่บางลำพู) ว่า

“ครั้งแรกที่เข้ากรุงเทพฯ แม่ไปส่ง ไปฝากกับน้า หลังจากนั้นก็ไปกลับเองเลย โอ๊ย ขนของเยอะแยะ กระเป๋าก็ยังไม่มี ต้องใส่กล่องกระดาษ กล่องเบียร์มัดเชือกกันอย่างดี ไปกรุงเทพฯ พี่ก็เตรียมขนุน กะปิ น้ำปลา ฯลฯ ไปฝากน้า

ตอนนั้นนั่งรถบัสโดยสารสีส้มใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง วันหนึ่งมีรถออกประมาณ 2 เที่ยวมั้ง ประมาณตี 4 กับ 7 โมงเช้า ระหว่างทางจะมีแวะให้กินข้าวที่ระยอง ถ้ามีคนที่ขึ้นลงระหว่างทางก็ต้องแวะอีก พอถึงบางปะกงคนจะลงเยอะหน่อย เพราะตอนนั้นคนตราดเขานิยมไปเรียนครูที่แปดริ้ว แบบหวานเย็น ถ้าออกจากตราดตี 4 ประมาณบ่าย 3-4 โมงก็ถึงเอกมัย ถึงกรุงเทพฯ ก็เป็นฝรั่งผมแดงเลย เพราะถนนก็ยังเป็นลูกรัง

การเดินทางจากระหว่างกรุงเทพฯ-ตราด ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร วันนี้ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีโดยรถยนต์ และ 1 ชั่วโมงโดยเครื่องบิน

หากไม่ได้ฟังประสบการณ์และความทรงจำของทั้ง 3 ท่านข้างต้น คงยากจะเดาว่า บนส้นทางเดียวกันนี้ สมัยหนึ่งต้องใช้เวลา 1 เดือน, 2 วัน 2 คืน, 12  ชั่วโมง ตามยุคสมัย

คลิกอ่าน “ประวัติศาสตร์เมืองตราด : จากหัวเมืองตะวันออก สู่สุดเขตแดนไทยบูรพา” ฟรี! ได้ที่ลิงค์นี้ http://bit.ly/3mvXkhA

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2566