ถนนแห่งพระรามาธิบดี ถนนพระรามทั้ง 7 สาย

ถนนพระราม ถนนพระรามที่ 2
ถนนพระรามที่ 2 ในปัจจุบัน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)

ตามรอย ถนนแห่งพระรามาธิบดี ถนนพระราม ทั้ง 7 สาย อยู่ตรงไหนบ้าง? 

คนไทยมีความเชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นอวตารของเทพเจ้า ที่แบ่งภาคลงมาถือกำเนิดในโลกมนุษย์ ดังเช่น พระราม ผู้เป็นร่างทรงของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาเป็นโอรส ท้าวทศรถและนางเกาสุริยาแห่งเมืองอโยธยาในมหากาพย์รามายณะ ที่แต่งโดยฤาษีวาลมิกิ เมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน พระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีคำ พระรามาธิบดี ปรากฏในสร้อยพระนาม พระเจ้าอู่ทอง ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ความว่า ด้วยพระบรมวงศานุวงษ์และเสนาบดี พร้อมกันกราบบังคมทูล ขอให้ทรงใช้ พระรามาธิบดี นำพระนามเดิม ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริเห็นชอบด้วย อีกทรงเห็นว่าควรเฉลิมพระปรมาภิไธย บรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ให้ทรงพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี ทุกพระองค์

นามถนนพระรามาธิบดีหรือถนนพระราม มีอยู่ 7 สาย ได้แก่ ถนนพระรามที่ 1 ถนนพระรามที่ 2 ถนนพระรามที่ 3 ถนนพระรามที่ 4 ถนนพระรามที่ 5 ถนนพระรามที่ 6 และ ถนนพระราม 9

ถนนพระรามที่ 1

ถนนพระรามที่ 1 เริ่มจากถนนรองเมือง ผ่าน ถนนพระรามที่หก ถนนพญาไท สิ้นสุดที่ถนนราชดำริ ระยะทาง 2.58 กิโลเมตร

ในยุคสมัยที่ ผู้คนในพระนคร สัญจรไปมาทางน้ำเป็นหลัก   ส่วนการสัญจรทางบกที่เป็นทางดิน จะเริ่มจากพระบรมมหาราชวัง ออกไปทางทิศตะวันออกของพระนคร คู่ขนานไปทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ ซึ่งต่อมาคือ ถนนบำรุงเมือง

ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ปรับพื้นที่ใกล้ประตูน้ำคลองแสนแสบ   มีการขุดสระและทางน้ำ สำหรับพายเรือ และปลูกบัวนานาพันธุ์ เพื่อเป็นพระราชอุทยานชานพระนคร   รวมทั้งก่อสร้างวัดประทุมวนาราม และพระประทุมมาภิรมย์เป็นที่ประทับ จึงมีการเรียกขานถนนบำรุงเมือง ช่วงตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษม จนถึงวังสระประทุม ว่า ถนนประทุมวัน

ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 มีประกาศของนครบาล ให้เปลี่ยนแปลงชื่อถนนประทุมวัน เป็น ถนนพระรามที่ 1 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระรามาธิบดี ที่หนึ่ง ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นราชธานีแห่งสยามประเทศ และสื่อให้รู้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เคยใช้เส้นทางสายนี้ ในการเดินทัพกลับจากเขมร

ถนนพระรามที่ 1 ในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 6

ถนนพระรามที่ 2

ถนนพระรามที่ 2 เริ่มจากถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข 303) สิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ระยะทาง 84.00 กิโลเมตร

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2508 มีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 35 ตั้งแต่อำเภอราษฎร์บูรณะ และบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร และบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสงคราม บางคนที และอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

บนทางหลวงแผ่นดินสายนี้ จะมีสะพานแห่งหนึ่ง ที่ในเวลานั้น มีความยาวที่สุดในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่อำเภออัมพวา พระราชสมภพสถาน ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระรามาธิบดี ที่สอง จึงเป็นที่มาของนามพระราชทานว่า สะพานพระรามที่สอง รวมทั้งนาม ถนนพระรามที่ 2 ในเวลาต่อมา

ทางหลวงสายนี้ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 8 ปี ก่อนมีพิธีเปิดใช้เป็นทางการ กระทรวงคมนาคมได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 ให้เป็นทางหลวงพิเศษ สำหรับการจราจรผ่านได้ตลอดและรวดเร็วเป็นพิเศษ แต่ด้วยปริมาณยานพาหนะ และการซ่อมบำรุงต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้การจราจรบนถนนติดขัดเป็นประจำ จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2556 จึงมีประกาศให้เป็นแค่ทางหลวงแผ่นดิน เท่านั้น

ถนนพระราม 2 รถติด
การจราจรที่แออัดบนถนนพระรามที่ 2 ในปัจจุบัน (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ถนนพระรามที่ 3

ถนนพระรามที่ 3 เริ่มจากถนนเจริญกรุง ตรงสะพานกรุงเทพ สิ้นสุดที่ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย ระยะทาง 12.00 กิโลเมตร

ในเมื่อปี พ.ศ. 2513 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบใน โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานกรุงเทพ ไปเชื่อมกับทางการท่าเรือ จึงมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางคอแหลม ตำบลบางโคล่ ตำบลบางโพงพาง ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา และตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร

ในช่วงดำเนินการที่ใช้เวลานานหลายสิบปี ยังมีโครงการตัดถนนวงแหวนรอบใน คือ ถนนรัชดาภิเษก ในปี พ.ศ. 2523 จึงได้ผนวกรวม ถนนเลียบแม่น้ำเข้าไปด้วย

ก่อนภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีโครงการพัฒนาถนนสายนี้ เป็นถนนสายเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขยายความเจริญและลดความแออัดในเมือง จึงมีการเปลี่ยนนามถนน สายนี้ เป็น ถนนพระรามที่ 3 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรามาธิบดีที่สาม ผู้ทรงปรีชาสามารถด้านการค้าขาย โดยเฉพาะการแต่งสำเภาและเรือกำปั่น ไปค้าขายกับนานาประเทศ ซึ่งบริเวณถนนสายนี้ในอดีต จะมีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่า เป็นจำนวนมาก

ทางหลวงเทศบาล ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 3 (ภาพจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88 ตอนที่ 98 14 กันยายน พ.ศ. 2514)

ถนนพระรามที่ 4

ถนนพระรามที่ 4 เริ่มจากถนนเจริญกรุง ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สิ้นสุดที่ถนนสุขุมวิท ในเขตคลองเตย ระยะทาง 9.40 กิโลเมตร

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกธาธิบดี (ขำ บุนนาค) ระบุว่า ราวปี พ.ศ. 2400 พวกกงสุลนายห้างต่างประเทศ เข้าชื่อกันทำหนังสือยื่นว่า เรือลูกค้าจะขึ้นมาค้าขายถึงกรุงเทพมหานครห่างไกลนัก หน้าฤดูน้ำ น้ำก็เชี่ยวแรงนัก กว่าจะขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานครได้ ก็หลายวัน  จึงขอลงไปตั้งห้างซื้อขายที่ปากคลองพระโขนง และขอให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากบางนามาถึงคลองผดุงกรุงเกษม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี จ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตัดผ่านทุ่ง ไปถึงคลองพระโขนง และขยายคลองพระโขนง ให้ทะลุแม่น้ำ เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก ยาว 207 เส้น 2 วา 3 ศอก เอามูลดินขึ้นถมฝั่งเหนือตลอดลำคลอง ราคาค่าจ้างจีนขุดคลองและถมถนน เส้นละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง คิดรวมทั้งค่าขุดคลอง ตอไม้ เป็นเงินทั้งสิ้น 207 ชั่ง 18 ตำลึง 1 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ บรรดาชาวต่างประเทศ หาได้ย้ายไปอยู่ที่บางนา ทำให้ไม่ค่อยมีการสัญจรผ่านคลองลัดนี้มากนัก จะมีแต่อาศัยทางดินริมคลอง เป็นที่ขี่ม้าพักผ่อน รวมทั้งในเวลาต่อมา ใช้เป็นเส้นทางไปสนามม้า (ราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพในปัจจุบัน) และเรียกขานกันว่า คลองตรง และ ถนนตรง

แนว ถนนพระราม 4
แนวถนนพระรามที่ 4 หรือถนนตรง ในแผนที่ พ.ศ. 2439

แต่เนื่องจากถนนสายนี้ มีการเรียกว่า ถนนวัวลำพอง บ้าง ถนนหัวลำโพง บ้าง  ที่เรียกถนนวัวลำพองนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยตำหนิว่าไปเรียกตามฝรั่งที่ออกเสียงหัวลำโพงไม่ชัด

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 มีประกาศของนครบาล ให้ชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนพระราม ที่ 4   เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรามาธิบดี ที่สี่ ผู้มีพระราโชบายขุดคลองลัดและถนนนี้ขึ้น

ถนนพระรามที่ 5

ถนนพระรามที่ 5 เริ่มจากถนนลูกหลวง ข้าง คลองผดุงกรุงเกษม ขนานไปกับ คลองเปรมประชากร สิ้นสุดที่ถนนประดิพัทธ์ โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดคลองเปรมประชากรมาถมทำถนน ระยะทาง 4.00 กิโลเมตร

ถนนสายนี้ เดิมชื่อ ถนนลก เป็นถนนที่สร้างขึ้นพร้อมกับถนนสายอื่น ที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับสวนดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2441 โดยพระราชทานนามถนน ตามลายกระเบื้องเคลือบจีนกังไส หนึ่งในพระราชนิยมในสมัยนั้น ว่า ลก ในสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ลู่ ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งหมายถึง ความบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ บุตร บริวาร แก้วแหวนเงินทอง

เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรามาธิบดี ที่ห้า ผู้ทรงพร้อมด้วยโภคทรัพย์และบริวารสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนาม ถนนลก เป็น ถนนพระรามที่ 5 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ทั้งนี้ ถนนสายนี้ ยังตัดผ่านวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างสวนดุสิต

ถนนลก หรือถนนพระรามที่ 5 บริเวณหน้าพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ข้างคลองเปรมประชากร ในแผนที่กรุงเทพ พ.ศ. 2453

ถนนพระรามที่ 6

ถนนพระรามที่ 6 เริ่มจากแยกจรัสเมือง ผ่านถนนพระรามที่ 1 ถนนเพชรบุรี ถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี และถนนประดิพัทธ์ สิ้นสุดที่ถนนเตชะวณิช ระยะทาง 7.20 กิโลเมตร

ถนนพระรามที่ 6 เดิมชื่อ ถนนประทัดทอง เป็นถนนที่สร้างขึ้นพร้อมกับถนนสายอื่น ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับสวนดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2441   โดยพระราชทานนามถนนตามลายกระเบื้องเคลือบเคลือบจีนกังไส หรือเครื่องกิมตั๋ง เป็นหนึ่งในพระราชนิยมในสมัยนั้น ว่า ประทัดทอง ด้วย ลายประทัด สื่อความหมายถึง ความรื่นเริงในวันตรุษจีน และการขับไล่ภูตผีปีศาจ

ต่อมามีการเปลี่ยนนามเป็น ถนนพระรามที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 เนื่องจากถนนสายนี้ คู่ขนานไปกับถนนพระรามที่ 5 ไปถึงหน้าโรงประปาสามเสน ที่เพิ่งเปิดดำเนินการ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรามาธิบดี ที่หก

ปัจจุบัน มีถนนอีกสาย ชื่อ ถนนบรรทัดทอง ที่คู่ขนานกับคลองสวนหลวง เริ่มจากถนนพระรามที่ 4 ไปจนถึงถนนเพชรบุรี และถนนจรัสเมือง จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ถนนประทัดทองและถนนบรรทัดทอง น่าจะเป็นถนนสายเดียวกันในอดีต เพียงแต่ว่าการปรับปรุงถนนในเวลาต่อมา ทำให้ถนนทั้งสองสายไม่ต่อเนื่องกัน

ถนนพระรามที่ 6 ในแผนที่ พ.ศ. 2453 ยังปรากฏในวงเล็บว่าถนนบรรทัดทอง

ถนนพระราม 9

ถนนพระรามเก้า เริ่มจากจุดตัดระหว่างถนนรัชดาภิเษก และถนนอโศก-ดินแดง ผ่านถนนวัฒนธรรม ตัดกับ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ ระยะทาง 9.00 กิโลเมตร

มีการวางแผนก่อสร้างถนนสายนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 แต่เนื่องจากมีปัญหาในการเวนคืนที่ดิน ทำให้ก่อสร้างล่าช้า กว่าจะมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529  ใกล้กับปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเวศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530   กรุงเทพมหานคร จึงขอพระราชทานนามถนนว่า ถนนพระรามที่ 9  

ต่อมา ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัดคำว่า ที่ ออก เหลือเพียง ถนนพระราม 9 เช่นในปัจจุบัน

ถนนพระราม 9
ถนนพระราม 9 (ภาพจาก จตุพร จันทร์เทศ)

ส่วนนามถนนที่ยังขาดอยู่นั้น กลายเป็นนามของสะพานพระราม 7 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับแขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2535 และสะพานพระราม 8 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีรูปแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว ซึ่งเปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2545  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2565