5 เมษายน วันคล้ายวันเกิดนายกรัฐมนตรีไทย สัญญา-ธานินทร์-ชาติชาย

นายกรัฐมนตรีไทย สัญญา ธรรมศักดิ์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ชาติชาย ชุณหะวัณ
จากซ้ายไปขวา สัญญา ธรรมศักดิ์, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และชาติชาย ชุณหะวัณ

วันที่ 5 เมษายน ตรงกับวันคล้ายวันเกิด นายกรัฐมนตรีไทย 3 คนคือ สัญญา ธรรมศักดิ์, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ทั้งสามท่านล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่บางประการ และหากมองในมุมทางการเมืองจะเห็นว่า เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกันในสมัยที่ทั้งสามท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สัญญา ธรรมศักดิ์

สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2450 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2545 ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 12 ตั้งแต่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

รัฐบาลชั่วคราวคณะนี้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก ภายหลังจากการลงจากอำนาจของจอมพล ถนอม กิตติขจร และพวกแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงดำเนินการยึดทรัพย์จอมพลถนอมและพวก

แม้เป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาของประเทศในขณะนั้น คือ ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าโดยสารรถประจำทางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถือว่าเป็นฉบับให้สิทธิเสรีภาพต่อประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดหลัง พ.ศ. 2475 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517

สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้สิทธิเสรีภาพแก่ปวงชนยิ่งกว่านายกรัฐมนตรีคนใด ในยุคของท่านต่างก็เรียกร้องให้ช่วยเหลือที่ทำกิน ค่าจ้าง และด้วยประการอื่น ๆ แต่ท่านก็ทำได้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ดูเหมือนจะทำได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ เสรีภาพทางการเมือง แต่ในเรื่องเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ ท่านทำอะไรไม่ได้เลย (วิเทศกรณีย์, 2518)

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย ตั้งแต่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปฯ มีการยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น มีการควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน สั่งปิดหนังสือพิมพ์ โดยในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง

นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 21 ซึ่งมีอำนาจเช่นเดียวกับมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รัฐบาลคณะนี้ได้รับสมญาณามว่า “รัฐบาลหอย” มีที่มาจาก ธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าวทางโทรทัศน์ว่า “รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่คณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน” นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคือการควบคุมและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของรัฐบาลนี้คือการก่อตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ชาติชาย ชุณหะวัณ

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2463 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 17 ตั้งแต่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

พลเอก ชาติชาย เข้าสู่แวดวงทางการเมืองจากการก่อตั้ง “พรรคชาติไทย” ซึ่งเป็นการกระโดดลงมาเล่นการเมืองของกลุ่ม “ซอยราชครู” อีกครั้ง หลังจากกลุ่มซอยราชครูรุ่นพ่อหมดบทบาทไปตั้งแต่จอมพล สฤษดิ์ รัฐประหาร พ.ศ. 2501 พลเอก ชาติชาย และพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2531 จนถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาลพลเอกชาติชายคือ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่กลับเผชิญปัญหาต่าง ๆ เช่น วิกฤตศรัทธาจากประชาชนเนื่องจากปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และความไม่ลงรอยกับฝ่ายทหาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิเทศกรณีย์.  (2518).  เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย.  ม.ป.พ.

นิภาพร รัชตพัฒนากุล และเทอดพงศ์ คงจันทร์.  (2548).  Walking Tour ทอดน่องท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์การเมืองไทย.  กรุงเทพฯ: มติชน

พงษ์ศักดิ์ ปัตถา.  (2019).  สัญญา ธรรมศักดิ์, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.

ธนินทร พูนศรีสวัสดิ์.  (2019).  ธานินทร์ กรัยวิเชียร, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.

ขัตติยา ทองทา.  (2019).  ชาติชาย ชุณหะวัณ (พลเอก), จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.

นรนิติ เศรษฐบุตร.  (2019).  ชาติชาย ชุณหะวัณ : ทายาทราชครู, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ.2561