ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรค 18 เสียง ที่ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมคึกฤทธิ์ พรรคการเมือง ประชาธิปไตย การเมือง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปกตินายกรัฐมนตรี ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” มักมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. จำนวนมาก แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม กลับสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เพราะมี ส.ส. อยู่ในมือเพียง 18 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 269 คน ในการเลือกตั้งปี 2518 ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน

ลำดับเหตุการณ์ของเรื่องนี้เริ่มจาก

26 มกราคม 2518 วันลงคะแนนสียงเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. มากที่สุด คือ 72 คน มีการทาบทามพรรคกิจสังคมร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กลับขอเป็น “กลาง” ทางการเมือง ยินดีสนับสนุน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ, ยกมือสนับสนุนการแถลงนโยบายเพื่อขอรับความไว้วางใจของคณะรัฐบาล แต่จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และสงวนสิทธิ์ในการอภิปรายในนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม พรรคกิจสังคมก็เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับพรรคขนาดเล็กรวมในนามกลุ่ม “สหพรรค” ที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 18 พรรค อาทิ กิจสังคม, เกษตรสังคม, สังคมชาตินิยม, สังคมนิยมประเทศไทย, พลังใหม่ และกลุ่มพรรคการที่มี ส.ส. ต่ำกว่า 10 คน อีก 13 พรรค

6 กุมภาพันธ์ 2518 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยม และสมาชิกกลุ่มสหพรรค ได้เป็นประธานสภาฯ

จนถึงเวลานี้ตำแหน่งนายกฯ ก็ยังไม่ลงตัว พรรคการเมืองใหญ่ก็หารือ-ตกลงกันในการจัดตั้งรัฐบาล, กำหนดตำแหน่งคณะรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มสหพรรคต้องการสนับสนุน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นนายกฯ

10 กุมภาพันธ์ 2518 เวลาเที่ยงคืน พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เลขาธิการพรรคชาติไทย เดินทางไปทาบทาม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นนายกฯ แต่วันรุ่งขึ้น (11 กุมภาพันธ์ 2518) บ้านของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเกษตรสังคม ก็มาประชุมตกลงกันให้ ม.ร.ว. เสนีย์ เป็นนายกฯ

จะเห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็น “ตัวแปร” สำคัญในการเมืองเวลานั้น

13 กุมภาพันธ์ 2518 ประชุมสภาฯ ครั้งที่ 2 มีการเสนอชื่อ ม.ร.ว. เสนีย์, พลตรี ชาติชาย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯ แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ขอถอนตัว หลังการลงคะแนนโดยการขานชื่อปรากฏว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ชนะ มีผู้สนับสนุน 133 เสียง พลตรี ชาติชายได้ 52 เสียง งดออกเสียง 38 คน และขาดประชุม 46 คน

แต่ 133 เสียงของ ม.ร.ว. เสนีย์ ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ในทางการเมืองจึงยังไม่มั่นคง นอกจากนี้การจัดตั้งรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ก็มีเพียง 91 เสียง จากพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส. 72 คน และพรรคเกษตรสังคมที่มี ส.ส. 19 คน เท่านั้น

6 มีนาคม 2518 รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ แถลงนโยบายเพื่อขอรับความไว้วางจากสภาฯ จากนั้นพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะอภิปรายนโยบายของรัฐบาลในแต่ละญัตติ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมเองก็อภิปรายถึงนโยบายที่ไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาล หาก “ยกมือตามมารยาท” ให้รัฐบาล ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ไม่วางใจในนโยบายของรัฐบาล 152 เสียง, วางใจเพียง 111 เสียง, งดออกเสียง 3 เสียง และบัตรเสีย 1 เสียง

7 มีนาคม 2518 ม.ร.ว. เสนีย์ กลายเป็นนายกฯ รักษาการ เวลานั้นแรงกดดันนอกสภาฯ จากเหล่านักวิชาการ และกลุ่มนิสิตนักศึกษา ต้องการให้ “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่

13 มีนาคม 2518 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และ พันเอก สมคิด ศรีสังคม เป็นนายกฯ ผลการลงคะแนน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ชนะได้ 135 เสียง, พันเอก สมคิด ได้ 59 เสียง, งดออกเสียง 91 เสียง นับรวมผู้ลงคะแนนและผู้งดออกเสียงรวมทั้งหมดได้ 285 คน แต่ในวันนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 262 คน จึงมีเสียงที่เกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่ประชุมอยู่ 23 เสียง จึงมีการคัดค้านคะแนนว่าไม่ถูกต้อง แต่ประสิทธ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาฯ นำชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และมีการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มีนาคม 2518

ทั้งหมดนี้คือ เบื้องหน้าที่เห็นและมีข้อมูล ส่วนเบื้องหลัง… และการเป็นนายกฯ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ในครั้งนั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่นักการเมืองรุ่นหลังนำไปปรับใช้บ้างหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ผศ. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2546


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566