“ถนนสมเด็จเจ้าพระยา” ย่านคลองสาน มีสมเด็จเจ้าพระยาท่านไหนบ้าง?

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค หนึ่งในที่มา ชื่อ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร หลายคนเมื่อได้ยินชื่อถนนเส้นนี้แล้วอาจสงสัยว่า หมายถึง “สมเด็จเจ้าพระยา” ท่านไหน?

ถนนสมเด็จเจ้าพระยาสร้างในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2472 นับเป็นถนนสายที่ 2 ของโครงการตัดและขยายถนน 11 สาย ในจังหวัดธนบุรี

พจนานุกรมวิสามานยนามไทย ของราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงที่มาของชื่อถนนว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “ถนนสมเด็จเจ้าพระยา” เพราะถนนเส้นนี้ตัดตามแนวถนนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างไว้

ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จวน (บ้าน) ของ “สมเด็จเจ้าพระยา” ถึง 4 ท่าน ตั้งอยู่ ได้แก่

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) น้องชายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกัน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบัน ถนนสมเด็จเจ้าพระยาเริ่มต้นในพื้นที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยาจากถนนประชาธิปกที่วงเวียนเล็ก ไปตัดกับถนนท่าดินแดงที่สี่แยกท่าดินแดง แล้วตรงไปสุดที่สี่แยกคลองสาน ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนลาดหญ้า

เดิมกำหนดแนวเส้นทางถนนนี้ไว้ตั้งแต่ปากคลองสานถึงวัดอมรินทราราม แต่สร้างสำเร็จเพียงช่วงหัวถนนและช่วงปลายถนนเท่านั้น จึงเรียกช่วงหัวถนนนี้ว่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยา และเรียกถนนช่วงปลายจากวัดอมรินทรารามถึงวัดอรุณราชวรารามว่า ถนนอรุณอมรินทร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), 2554.

เสนาบดีตระกูลบุนนาค. http://www.bunnag.in.th/oldsite/history6-tathbunnag.html.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567