ผู้เขียน | พัชรเวช สุขทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
“คลองแสนแสบ” เมื่อคนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อนี้ ก็จะนึกถึงนวนิยายชื่อดังของไม้ เมืองเดิม อย่างเรื่อง “แผลเก่า” หรือบทเพลงอมตะของชาลี อินทรวิจิตร ที่ชื่อเพลงว่า “แสนแสบ” คลองแห่งนี้มีความสำคัญต่อการคมนาคมของชาวบ้าน รวมทั้งชื่อของคลองยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจที่อาจเกี่ยวกับ “ยุง”
สันนิษฐานว่าชื่อแสนแสบนี้ น่าจะเกิดจากความเจ็บแสบของชาวบ้านที่ถูกยุงกัด เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ “ยุง” อย่างดี มีรายงานของนักสำรวจชาวอังกฤษ ที่ชื่อว่า ดี.โอ.คิง (D. O. King) ได้กล่าวถึงคลองแสนแสบนี้ว่า
“…คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการปลูกข้าว โดยเฉพาะคนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ…”
แต่ ส. พลายน้อย มีความคิดเห็นต่อที่มาของชื่อคลองแสนแสบที่ต่างออกไป ในบทความ “แสนแสบ บางกะปิ” ดังนี้
“…คำแสนแสบน่าจะหมายถึงแม่น้ำ ลำคลอง หรือห้วยหนองคลองบึง หรือทะเลสาบ และเพี้ยนมาจาก แส-สาบ ปรีดา ศรีชลาลัย อ้างว่าสมัยหนึ่งเคยเรียกทะเลว่า เส หรือ แส เช่น หลงเส หรือเสหล่ง เท่ากับเสหลวง พงศาวดารเชียงแสนเรียกว่า หนองแส ที่ “แส-สาบ” กลายเป็น “แสนแสบ” มีตัวอย่างคำ แม้เป็นแม้น แสจึงเป็นแสน ปลาบเป็นแปลบ ฉะนั้นสาบจึงเป็นแสบได้”
ทั้งยังมีนักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า ชื่อคลองแสนแสบมาจากภาษามลายูว่า Su-ngai Senyap อ่านว่า สุไหง เซนแญป ซึ่งแปลว่า คลองเงียบสงบ ซึ่งตรงกับลักษณะของกระแสน้ำของคลองนี้ ผู้ที่เรียกสุไหง เซนแญป คือชาวไทรบุรี ระยะหลังถูกเปลี่ยนเป็นแสนแสบ เพราะว่าคนไทยเรียกแบบเดิมไม่ถนัด
อย่างไรก็ตาม ประวัติความเป็นมาของชื่อคลองแสนแสบ ส่วนใหญ่เกิดจากข้อสันนิษฐานทั้งสิ้น และยังคงรอหลักฐานใหม่ๆ ที่จะมายันยืนความเป็นมาของชื่อนี้ให้ชัดเจน
อ่านเพิ่มเติม :
- คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?
- ชีวิตชาวนาที่คลองรังสิตสมัย ร.5 เป็นทุกข์จากโจร โรคระบาด และเจ้าของนาทำนาบนหลังคน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บทความ “พระบารมีแห่ง “สยามบรมราชกุมารี” ฟื้นวิญญาณ-คืนชีวิต “คลองแสนแสบ” ถึงเวลาแล้วที่คนกรุงเทพฯ ต้องหันหน้าเข้าคลอง” โดย พงษ์ศักดิ์ ไพรอังกูร. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2537
บทความ “แสนแสบ บางกะปิ” โดย ส. พลายน้อย. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2537
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพ. กรุงเทพฯ : มติชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2561