ชีวิตชาวนาที่คลองรังสิตสมัยร.5 เป็นทุกข์จากโจร โรคระบาด และเจ้าของนาทำนาบนหลังคน

คลองรังสิต ชลประทาน ชาวนา
สภาพบ้านเรือนและการอยู่อาศัยในคลองรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ย้อนดูสภาพชีวิตของ “ชาวนา” ที่ “คลองรังสิต” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องเป็นทุกข์จากโจร โรคระบาด และเจ้าของนาทำนาบนหลังคน

ก่อนการขุดคลองพบว่าในเขตรังสิตมี ชาวนา อยู่บ้างแล้ว แต่ค่อนข้างน้อย กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ พระยาอนุมานราชธนกล่าวว่า บ้านที่สร้างขึ้นในเขตนี้จะต้องถมดินขึ้นเป็นโคกกลางทุ่งนา ทั้งนี้เพราะบริเวณนี้เป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยหนองบึงและการระบายน้ำไม่ดี เมื่อมีการขุดคลองขึ้น การตั้งบ้านเรือนจะเปลี่ยนรูปแบบมาตั้งอยู่ริมฝั่งคลอง แต่บ้านก็ยังกระจัดกระจายกันอยู่ห่าง ๆ

ชาวนา ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่มักจะเช่านาจากเจ้าของที่ดินทำเป็นรายปีไป ซึ่งแตกต่างจากชาวนาย่านคลองแสนแสบที่ชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดิน ส่งผลทำให้การตั้งถิ่นฐานเป็นแบบชั่วคราวมากกว่าจะเป็นการตั้งถิ่นฐานถาวร เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อทำนาไม่ได้ผลจึงมักอพยพออกไปครั้งละมาก ๆ และไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นหมู่บ้านได้ (สุนทรีย์ อาสะไวย์, 2521 ข : 126)

นอกจากนี้ ชาวนา ที่เข้ามาทำนาในโครงการรังสิต จะมีปัญหาหลักอยู่ที่ไม่มีทุนและที่ดินในการทำนา วิธีการที่ชาวนาใช้มีหลักฐานว่าเริ่มต้นด้วยการกู้ยืมเงินจากผู้ที่มีฐานะดี เช่น เจ้าของนา ซึ่งก็คือหุ้นส่วนของบริษัทขุดคูคลองแลคูนาสยาม ผลที่ตามมาก็คือ ชาวนาจะมีภาระในการชดใช้หนี้สินทั้งต้นทุนและดอกเบี้ย และในบางกรณีก็ถูกเจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบ เห็นได้จากกรณีชาวนาในที่นาของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ถูกชาวนาร้องเรียนว่า ถูกกรมพระนราฯ กระทำการกดขี่ และไม่ทำตามสัญญาในการแบ่งข้าวคนละครึ่ง ซึ่งทำให้ชาวนากลายเป็นหนี้ และซ้ำยังถูกบังคับไม่ให้ฟ้องร้องอีกด้วย ปรากฏว่าเมื่อมีการ สอบสวนฝ่ายรัฐบอกว่าเรื่อง “มีมูลอยู่บ้าง” แต่ไม่มีหลักฐานว่าได้จัดการกับปัญหานี้ต่อไปอย่างไร (สุนทรี อาสะไวย์, 2521 ข)

พบว่าชาวนาในเขตรังสิตน้อยคนที่จะประสบความสำเร็จจากการทำนา ส่วนใหญ่แล้วจะมีหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทั้งดอกเบี้ยและค่าเช่า ชาวนาบางรายถึงกับต้องทำหนังสือสัญญาขายตัวเป็นลูกจ้างเจ้าของนา และส่งบุตรภรรยาไปรับใช้งานเป็นประกัน เจ้าของนาที่เข้มงวดมักริบสัตว์พาหนะเป็นค่าเช่าและให้ชาวนาทำสัญญาเช่าสัตว์นั้นทำนาต่อไป ยังไม่นับรวมการถูกเร่งรัดหนี้และขอแรงไปช่วยงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ ความเดือดร้อนนี้ถึงขนาดที่ฝ่ายรัฐเองมีรายงานเขียนว่า “ผู้เช่ามีเสียงบ่นกันอยู่ว่า เจ้าของนาทำนาบนหลังคน” (สุนทรี อาสะไวย์, 2521 ข : 178)

ชาวนาในทุ่งรังสิตส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวนาอพยพมาจากถิ่นอื่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนลาวซึ่งหมายถึงคนไทยจากภาคอีสาน คนลาวเหล่านี้เคลื่อนย้ายเข้ามาในเขตภาคกลาง อันเป็นผลมาจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจแบบเงินตรา และการเพาะปลูกเพื่อการส่งออก คนลาวในสมัยนั้นจะเดินทางมาด้วยรถไฟสายนครราชสีมา-กรุงเทพฯ แล้วมาลงที่สถานีรังสิต โดยเริ่มเข้ามาในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนทำนาเล็กน้อย เมื่อตกลงค่าจ้างได้แล้วผู้จ้างจะต้องหาที่พัก เครื่องนุ่งห่ม และอาหารให้ตลอดเวลาที่จ้าง ส่วนค่าจ้างจะจ่ายให้ในวันที่พวกลาวเดินทางกลับ เรียกว่า “วันลาวขึ้น” คือ วันแรก 1 ค่ำ เดือน 3 (กุมภาพันธ์)

นอกจากกลุ่มคนลาวและคนจีนแล้วยังมีคนไทย แขกมลายู และญวน อพยพเข้ามาในเขตนี้อีกมาก เพราะ หวังจะแสวงผลประโยชน์จากที่นาที่บุกเบิกใหม่ ทำให้มีทั้งคนดีและไม่ดีเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางกลุ่มมีอำนาจ มีพวกพ้อง ทำให้ในเวลานั้นในเขตทุ่งรังสิตมีคดีความฟ้องร้องกันมากมาย ผลผลิตข้าวที่ได้จะมีคนจีนเข้ามารับซื้อโดยมีบทบาทในฐานะพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงเพื่อนำไปขายต่อให้กับโรงสีข้าวในรังสิตหรือกรุงเทพฯ (สุนทรี อาสะไวย์, 2521 ข : 157-158)

นอกจากปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่จากการแย่งพื้นที่นา การขโมยข้าวกันแล้ว ในเขตรังสิตยังมีปัญหาการลักขโมยควายกันมาก เพราะควายมีราคาสูง พวกขโมยจะขโมยควายไปขายต่อ และทางการควบคุมได้ยากเพราะบ้านเรือนราษฎรชาวนามักจะตั้งอยู่ห่างกันมาก ทำให้ขโมยควายได้สะดวก (สุนทรี อาสะไวย์, 2521 ข)

ดังนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการปกครองในเขตนี้ใหม่ในปี พ.ศ. 2445 ด้วยการตั้งเป็นเมืองขึ้นมา ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “เมืองธัญญบุรี” (ปัจจุบันเขียนว่า ธัญบุรี) คือเมืองข้าว ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา โดยถือว่าเมืองธัญบุรีนี้เป็นเมืองคู่กันกับเมือง “มีนบุรี” แปลว่า เมืองปลา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตคลองแสนแสบทางตอนล่าง…

ผลจากการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพาะปลูกข้าวในรังสิตดึงดูดคนให้อพยพเข้าไปทำนาเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้เกิดปัญหาความสกปรกในพื้นที่ขึ้น เพราะขาดระบบการจัดการด้านสุขาภิบาลและสาธารณสุขที่ดีพอ

หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ผู้อํานวยการขุดคลองแลคูนาสยามได้ทำบันทึกถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ความว่า

“…ด้วยเดี๋ยวนี้เกิดโรคกาฬชุกชุมที่ตำบลรังสิต ตั้งแต่คลอง 5 ถึงคลอง 10 และคลองที่ 11 ใต้รังสิตด้วย แรกทีจะเป็นก็มีสัตว์หนูตายมาก แล้วคนก็เป็นติดต่อกันหลายคนแล้ว โรคกาฬที่ได้เกิดขึ้นนี้มักเกิดในตามตลาดที่เป็นที่โสโครกทุกแห่ง เพราะฉะนั้นถ้าไม่รีบบังคับให้ชำระตลาดต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามปากคลองซอยต่าง ๆ ที่คลองรังสิต แลที่อื่น ๆ โดยเร็วแล้ว ก็จะลุกลามใหญ่ พวกลาวลูกจ้างก็พากันหนีหมด การนาก็จะพลอยเสียหายยับเยินทั้งรัฐบาลแลราษฎร” (อ้างจาก วรนารถ แก้วคีรี, 2535 : 98-99)

โรคระบาดที่พบมากในเขตนี้นอกจากโรคกาฬแล้วยังมีโรคไข้พยุห อหิวาตกโรค โรคระบาดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีมากไม่เพียงเฉพาะในเขตรังสิตเท่านั้น แต่แพร่ระบาดไปหลายท้องที่ เช่น นครสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเป็นโรคที่มักจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในเขตชุมชนที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ตามชุมชนทางการค้า และชุมชนที่ขาดการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดีนัก จากผลกระทบโรคระบาดนี้เองทำให้บางครั้งไม่มีลูกจ้างลาวเข้ามาในเขตรังสิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โจร โรคระบาด ชีวิตชาวนา และการจัดระบบชลประทาน ในทุ่งรังสิตสมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563