ปัญหาการจัดสรรที่ดิน-การถือครอง และคดีวิวาท คลองรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5

สภาพบ้านเรือนและการอยู่อาศัยในคลองรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เนื่องจากสัญญาพระบรมราชานุญาต (วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431) ได้ให้สิทธิ์บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม [1] จับจอง และ ขายที่ดินริมฝั่งคลองได้ นับตั้งแต่วันที่ลงมือขุดคลอง ธุรกิจที่สําคัญของบริษัท ในอีกด้านหนึ่งได้แก่การจัดสรรที่ดินเพื่อขาย ในทางปฏิบัติธุรกิจการจัดสรรที่ดินของบริษัทได้เริ่มต้นขึ้นแล้วก่อนที่จะมีการขุดคลอง วิธีที่บริษัททําก็คือ การประกาศชี้ชวนให้ผู้ซื้อมาจองซื้อที่ดินตามแผนที่ของบริษัทโดยจ่ายเงินล่วงหน้า เรียกว่า “ช่วยเสียค่าขุดคลองกรอกที่ดิน” โดยบริษัทออกหนังสือสําคัญสําหรับที่ดินของบริษัทให้เรียกว่า “ใบกรอก (ตรอก) หรือ ตั๋วกรอก” เพื่อใช้เป็นหนังสือสําคัญแสดงสิทธิ์ของผู้ซื้อ

วิธีเรียกเก็บเงิน “ช่วยเสียค่าขุดคลอง” นี้อันที่จริงได้เริ่มมีขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว เห็นได้จากกรณีการขายที่ดินฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ขุดใน พ.ศ. 2421 นั้น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรลงชื่อเสียค่าขุดคลอง เพียงแต่ว่าในกรณีของโครงการรังสิตนั้นผู้ซื้อต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานขุดคลอง โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้จัดการออกโฉนดสําหรับที่ดินให้ในภายหลัง

การจัดสรรที่ดินที่นำไปสู่การวิวาท

ก่อนที่รัฐบาลจัดให้มีการออกโฉนดแผนที่ อันเป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่สำคัญมั่นคง ซึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2444 พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นหลายประการ เหตุสำคัญที่นำไปสู่การวิวาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการรังสิตพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีลักษณะทั้ง ๆ ที่เหมือนและต่างจากเขตอื่นดังนี้

1. หนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่ใช้ได้ค่อนข้างมั่นคงคือ “ตราจอง” รัฐบาลจะตอบให้ปีละ 1 ครั้ง เมื่อข้าหลวงเสนาออกเดินประเมินนาเพื่อเรียกเก็บภาษี เมื่อการเก็บภาษีสิ้นสุดก็หยุดออกตราจอง ราษฎรที่ต้องการหนังสือสำคัญของทางการสำหรับที่ดินจึงทำได้เพียง “ใบเหยียบย่ำ” ของกำนัลซึ่งมีอายุเพียง 1 ปี หรือไม่ก็ทำมาหากินโดยไม่มีหนังสือ ทำให้ราษฎรขาดหลักฐานอ้างสิทธิ์ในที่ดินกับบริษัท

2. ระบบธรรมเนียมที่ดิน รัฐบาลมิได้มีระบบการเก็บหลักฐานทะเบียนที่ดิน เมื่อข้าหลวงออกตราจองไปแล้วก็เป็นอันแล้วกัน มิได้มีหลักฐานเก็บไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อถึงปีใหม่รัฐบาลส่งข้าหลวงคนใหม่ออกไปจึงมีการออกการจองซ้ำที่เก่า ปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนจากรายงานของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงกล่าวว่า

“สารบัญชีที่ดินก็ไม่ได้มีหลักฐานพอที่จะสอบอ้างได้ และผู้ซึ่งถือที่ดินโดยหนังสือสำคัญของรัฐที่กระทำไปก่อนแล้ว ก็ไม่เป็นหลักฐานซึ่งถือจะถือมั่นว่า ที่นั้นจะเป็นของผู้ใดโดยไม่มีผู้อื่นซึ่งมีสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันเข้ามากล่าวอ้างได้… ด้วยเหตุว่าสิ่งสำคัญสำหรับที่ดินเช่นนั้นไม่ได้มีบาญชีอยู่ในมือเจ้าพนักงาน และหนังสือเช่นนี้จะหาที่ใดก็ได้”

3. การทำงานของราชการ ทำให้เกิดความบกพร่อง ความบกพร่องในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของข้าราชการ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้กระทำตรงตามนั้น

คดีวิวาทเรื่องที่และการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ปัญหาในการจัดสรรที่ดินดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิวาทระหว่างบริษัทกับราษฎร หรือระหว่างบริษัทกับรัฐบาลเอง ขณะเดียวกันคดีที่เกิดขึ้นก็พบว่ามีความยุ่งเหยิงซับซ้อนและกินเวลาหลายปีกว่าจะยุติลงได้ ช่วงที่นับว่าเกิดคดีวิวาทมากที่สุด คือระหว่าง พ.ศ. 2436-41 ตัวอย่างเช่น คดีหลวงวาทิศบรเทศ (พ.ศ. 2433-42)

คดีเกิดขึ้นบริเวณทุ่งแสนแสบ ซึ่งอยู่ทางเหนือของคลองแสนแสบ หรือระหว่างคลองรังสิตกับคลองหกวาสายล่าง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การอ้างสิทธิ์ทับที่กันเมื่อเริ่มมีการจับจอง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ขาดหลักฐานที่ใช้แสดงกรรมสิทธิ์อย่างทั่วถึง ดังปรากฏในรายงานของพระยาอินทราธิบดีว่า

“ที่ดินราษฎรถือเอาว่าเป็นที่ของตน ได้ทำเป็นนาฟางแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำบ้างนั้น ปรากฏว่า 8 ส่วนไม่มีตราจอง จะมีตราจองไม่เกิน 1 ส่วน แต่คลองสกัดน้ำ ได้ขุดมาในที่ซึ่งเป็นฟางแล้วโดยมาก ราษฎรหวงแหนอยากได้ที่นาของตนไว้ จึงได้อุบายหาตราจอง โดยถือเอาตราจองเป็นหลักฐาน”

กระทรวงตั้งข้าหลวงไปชำระความ ปรากฏว่าส่ง นายษร แม่กองกษิการ เป็นข้าหลวงไปตรวจสอบตามหนังสือลงวันที่ 7 มิถุนยายน พ.ศ. 2473 พบว่า

กลุ่มที่วิวาทกันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของผู้มีบรรดศักดิ์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่และข้าราชการ มีหลวงวาทิศบรเทศเป็นผู้นำสำคัญ, กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มราษฎรถือใบตรอกของบริษัท มีบริษัทช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ และกลุ่มที่ 3 เป็นราษฎรสามัญที่ไม่มีพรรคพวก ขณะที่การวิวาทเกิดขึ้นทั้ง 3 กลุ่มมีการขับไล่และทำร้ายร่างกายกัน

“นายเอี่ยม นายศรี นายกองของหลวงวาทิศ นายพยอม นายกองนาของหม่อมเจ้าปรีดา ให้บ่าวตบตีราษฎร และเข้าทำนาในที่ราษฎรซึ่งเป็นพวกของบริษัท… นายน่วมปลัดกรมในพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจกับพวก 18-19 คน เข้าไปไถนาในที่เพาะกล้าของอำแดงทรับ อำแดงทรับเชิญโต๊ะพุ่มมาเป็นพยาน แล้วออกไปห้ามถูกนายนวมโดนตีศีรษะแตก”

ชาวนาเตรียมพื้นที่ไถนาในทุ่งโล่งสุดลูกหูลูกตา สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การกระทำของผู้มีบรรดาศักดิ์ได้ทำความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรมาก ต้องทนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ที่ทนไม่ได้ก็ต้องอพยพหลบหนีจากที่นา หรือไม่ก็ต้องยอมเช่าที่นาผู้มีบรรดาศักดิ์ทำ มีอยู่บ้างที่ราษฎรฟ้องร้องต่อศาล แต่มักไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะผู้พิพากษาเข้ากับฝ่ายผู้มีบรรดาศักดิ์ เช่นไม่รับฟ้อง สืบสวนคดีเนิ่นนานไม่มีเวลากำหนด พิจารณาโดยไม่ละเอียดถ่องแท้บ้าง สภาพความทุกข์ยากของผู้ทำนาเห็นได้ชัดจากรายงานของนายษรที่ว่า

“ราษฎรพวกนั้นมีความกลัวผู้มีบรรดาศักดิ์ดังหนูกับแมว ราษฎรพูดว่าหน้าซึ่งได้ทำเป็นฟางไว้แล้วในปี พ.ศ. 2437 นี้ต้องถูกริบหาได้ทำนาในที่นั้นไม่  ผู้ที่ดื้อดึงไม่ออกจากที่นา ผู้มีบรรดาศักดิ์จับตัวมาเค้นเสียก็มี คนที่ขืนอยู่ชั้นแต่กระบือก็ไม่มีทางออกจากโลกได้”

ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่คัดย่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทว่าฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จากการที่มีการอ้างสิทธิ์และก่อเหตุวิวาทกันหลายฝ่าย รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้นให้ออกไปสอบสวนประกอบด้วยพระยาวรเดชศักดาวุธ พระยาประชีพบริบาล และหลวงสุนทรโกษา

ขณะที่รัฐบาลก็เริ่มเข้าไปจัดการคลี่คลายปัญหาการวิวาทแย่งชิงที่ดินและจัดการออกโฉนดตราจองให้กับบริษัท มาตรการต่าง ๆ ของบริษัทและรัฐบาล เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ ทําให้กิจการจัดสรรที่ดินของบริษัทประสบความสําเร็จ โดยเฉพาะความสําเร็จในแง่ของการขายที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ให้แก่ผู้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ อันเป็นที่มาของการเกิดเจ้าของที่ดินนอกเขตเช่า (absentee landlord) ในเขตโครงการรังสิต ซึ่งเป็นลักษณะที่ชัดเจนของเขตนี้ที่แตกต่างจากเขตอื่น ๆ ในที่ราบภาคกลาง

ธุรกิจการค้าที่ดิน และให้เช่านา

จากการศึกษาข้อมูลตัวเลขจํานวนที่ดินที่มีการตกลงซื้อขายและถือครองในระหว่าง พ.ศ. 2435-2444 ระหว่างบริษัทกับผู้ซื้อ ในจํานวนเจ้าของที่ดินที่รวบรวมได้ 694 ราย มีที่ดินรวมกันจํานวน 235,822 ไร่ ในจํานวนนี้ร้อยละ 5 ของผู้ที่มีที่ดินจํานวนมากที่สุดมีที่ดินรวมกัน 113,539 ไร่ หรือเท่ากับร้อยละ 48.10 ของเนื้อที่ทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายชื่อของบุคคลกลุ่มนี้ก็พบว่าเป็นกลุ่มของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มของพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ และพ่อค้า คหบดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ

มูลเหตุสําคัญของการซื้อที่ดินของคนกลุ่มนี้เนื่องมาจากแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างกว้างขวางของการผลิตและการค้าข้าวในช่วงทศวรรษ 2423-2443 ก่อให้เกิดการตื่นตัวลงทุนในที่ดิน มีการเก็งกําไรในธุรกิจการค้าที่ดิน และมีการสะสมที่ดินไว้เพื่อให้เช่าอย่างแพร่หลาย สะท้อนให้เห็นชัดจากพระดําริของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งทรงเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งของรังสิตได้ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เพื่อทรงขอขุดคลองนาทํานองเดียวกับบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ในบริเวณทุ่งฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ตําบลตะไน แขวงเมืองนนทบุรีไปออกแม่น้ำสุพรรณ ทรงกล่าวว่า

“ได้ใคร่ครวญและทดลองการค้าขายมาหลายประการแล้ว เห็นด้วยเกล้าว่าบันดากิจใด ๆ ในกรุงสยามสําหรับผู้ดีไทยที่ควรจะทําเพื่อหาเลี้ยงชีพ ฤาเพื่อใช้ทุนให้สืบผลอันมั่นคงในปัจจุบันนี้ ยากจะมีดีเสมอการค้าที่ดิน และที่ดินในสมัยนี้ก็ยากจะมีผลเสมือนมีที่นา ให้ชาวนาเช่าทํา ด้วยราคาข้าวขึ้นอยู่เสมอมากส่วนกว่าค่าแรง ฤาเสบียงอาหารที่ราคาขึ้น และเป็นการทําง่าย ทั้งเคยทําและรู้วิธีทํามาแต่ดั้งเดิม แม้แต่คนที่คร้านเขลายังสามารถจะทําให้เป็นผลได้ การทํานาจึงเพื่องฟู และมีแต่จะทวีขึ้น”

เฉพาะกรณีที่เจ้านายซื้อที่ดินจากบริษัทเอกชนถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สําคัญ ในทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม โดยแท้ที่จริงแล้วที่ดินได้เริ่มมีค่าในทางเศรษฐกิจแทนที่แรงงานและระบบการให้เช่าได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การลงทุนขุดคลองเพื่อพัฒนาที่ดินในรัชสมัยดังกล่าว ดังเช่นการขุดคลองมหาสวัสดิ์เป็นการลงทุนโดยหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสองฝั่งคลองดังกล่าวเพื่อให้เป็นทุนในการเลี้ยงชีพพระเจ้าลูกเธอพระองค์ต่าง ๆ โดยให้บ่าวไพร่ไปตั้งทํานาหรือให้ผู้อื่นเช่า

แต่เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กรณีการขุดคลองในโครงการรังสิตเป็นการลงทุนโดยบริษัทเอกชนนั้น ได้มีผลเป็นครั้งแรกที่ทําให้เจ้านายต้องซื้อที่ดินไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จากหลักฐานพบว่ามีเจ้านายในรุ่นที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ จนถึงพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 เป็นกลุ่มลูกค้าสําคัญที่ได้ติดต่อซื้อที่ดินจากบริษัท

ส่วนคลองรังสิตนั้น บริษัทต้องการจะขายที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ดังปรากฏในแจ้งความของบริษัทในการขายที่นาริมคลองรังสิตและคลองซอยในปี พ.ศ. 2453 ข้อ 3 บอกว่า ที่นาที่บริษัทจะขายนั้นจะมาน้อยกว่า 120 ไร่ จึงเป็นเรื่องเกินกำลังของชาวนา จึงหันมาเช่าที่นาจากเจ้าของที่ดินซึ่งสามารถซื้อกับบริษัทได้แทน

(ภาพจาก “ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457”)

เชิงอรรถ

[1]  การจัดตั้งบริษัทขึ้นในปี พ.ศ. 2431  มีผู้ร่วมหุ้นในระยะแรก 4 คน คือ 1.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์  2.พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) 3.นายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) 4.นายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือ หลวงสาธรราชายุตถ์ แต่สุดท้าย เจ้าสัวยมไม่ได้เข้าร่วมงาน ม.ร.ว. สุวพรรณธ์ สนิทวงศ์ (บุตรคนโตของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) เข้าเป็นหุ้นส่วนแทน ทั้งนี้โดยมีนายโยคิม แกรซีเป็นผู้จัดการบริษัท


ข้อมูลจาก

สุนทรี อาสะไวย์. ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530

ร้อยปีคลองรังสิต, โครงการวิจัยนำร่องเฉลิมฉลองวโรกาสกาญจนาภิเษก สถาบันไทยคดีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2562