ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“คลองรังสิต” เป็น “เมกะโปรเจกต์” ที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าว เปลี่ยน “ป่า” เป็น “นา” นับล้านไร่ มีภาคเอกชนคือ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินงาน สอดคล้องกับความต้องการของรัฐที่ต้องการให้มีการผลิตข้าวเพิ่มขึ้น
การขุด “คลองรังสิต” ของ “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” [1] ทั้งที่ใช้เครื่องจักรและแรงงานคนนั้นพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2433-2439 บริษัทขุดคลองได้น้อยและไม่สม่ำเสมอ จนถึง พ.ศ. 2440 การขุดคลองเริ่มเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยระหว่าง พ.ศ. 2440-2443 ขุดได้ประมาณปีละ 1,000 เส้น ระหว่างปี 2444-2447 สามารถขุดคลองได้มากเพิ่มขึ้นอีกเป็นเฉลี่ยปีละ 3,000 เส้น จากนั้นปริมาณการขุดคลองก็ลดลง
การที่บริษัทขุดคลองเป็นจำนวนมาก มีผลให้บริษัทได้รับที่ดินสองฝั่งตามสัญญาจำนวนมหาศาล หนังสือประวัติพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กล่าวว่า มีเนื้อที่นาสองฝั่งคลองที่ขุดทั้งหมด 1,337,225 ไร่ ต่อมาปี 2440 บริษัทเริ่มมีการขายที่ดินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ค่าใช้จ่ายและรายได้ในการดำเนินการขุด “คลองรังสิต” สมัยรัชกาลที่ 5
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีทั้งค่าแรงงานกุลี ค่าเครื่องจักรขุดคลอง ค่าพนักงานสำรวจ วิศวกร ค่าจ้างเสมียนพนักงาน ตลอดจนค่าวัสดุสำหรับก่อสร้างสะพานประตู ฯลฯ ฉะนั้นเมื่อมีการขุดทุกครั้ง ฝ่ายรัฐบาล และ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ต่างก็พยายามที่จะกลับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการปกครองและผลกำไรขาดทุนออกมา ซึ่งประมาณการของทั้งสองฝ่ายมากไม่ตรงกันอยู่เสมอ ฝ่ายรัฐบาลคาดว่าบริษัทร่วมทุนน้อยแต่ได้กำไรมาก ขณะที่บริษัทเห็นว่าต้องลงทุนมาก แต่จะขาดทุนหรือกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดังเช่นใน พ.ศ. 2435 บริษัทได้ประมาณรายรับรายจ่ายจากการขุดคลองรังสิตคลองเดียวดังต่อไปนี้ รายจ่ายจากการขุดคลอง 1,400 เส้น 333,000 บาท, ค่าปลูกบ้านสำหรับกุลี 6,000 บาท, ค่าสำรวจที่ดิน 5,800 บาท, ค่าเช่าเรือและค้าจ้างคน 6,400 บาท, ค่าประตูน้ำ 2 คู่ 24,000 บาท, ค่าดอกเบี้ยเงินต้น 2 ปี 13,464 บาท, และค่าลูกจ้างเสมียน 9,000 บาท รวม 400,664 บาท
ขณะที่มีรายได้จากการขายที่ดิน 369,000 บาท บริษัทจะยังคงขาดทุนอยู่ 31,064 บาท จะได้กำไรก็ต่อเมื่อเริ่มคุ้มครองซอยซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่า ในครั้งนั้นปรากฏว่า พระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ ได้แย้งว่าค่าขุดคลองนั้นแพงมาก เพราะรัฐบาลได้ลองคิดหักค่าใช้จ่ายแล้ว เห็นว่ามีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาท จึงเห็นว่าบริษัทควรลดราคาที่ดินที่จำหน่ายลง
รายได้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม
รายได้จากการขายที่ดิน ถือว่าเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของบริษัท ด้วยบริษัทมีทุนเป็นของตนเองน้อย บริษัทได้ขายที่ดินก่อนขุดคลอง ซึ่งตามข้อบังคับในสัญญาพระบรมราชานุญาต บริษัทไม่มีสิทธิ์ขายจนกว่าการขุดคลองสายนั้นจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อบริษัทต้องการเงิน จึงเลี่ยงโดยการให้ผู้ซื้อจ่ายเงินเป็นค่ามัดจำในที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่บริษัท
บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จะออกหนังสือสำคัญของบริษัทให้เรียกว่า “ใบตรอก” ซึ่งถือเป็นความตกลงระหว่างบริษัทกับผู้ซื้อ โดยรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง จำนวนเงินมัดจำนี้มีตั้งแต่ 1/3 หรือ 1/2 หรือทั้งหมดของราคาที่ดิน แต่นั่นคือยังไม่ได้เป็นการจำหน่ายเด็ดขาด การซื้อขายจะเป็นอันสมบูรณ์เมื่อบริษัทขุดคลองนั้นเสร็จแล้ว ผู้ตรอกจะนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระ แล้วรับตราจองซึ่งเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินทางของทางการไว้เป็นหลักฐาน หากพบว่าราษฎร “ขอตรอกที่ดิน” จากบริษัทไม่มาเท่าใด นอกจากนี้การตรอกที่ดินในระยะแรกประสบปัญหา เนื่องจากมีผู้เข้าไปแย่งจับจองที่ดิน
การขายที่ดินเริ่มดีขึ้นประมาณ พ.ศ. 2440 เนื่องจากบริษัทสามารถขายที่ดินในเขตคลองรังสิตและคลอง 6 วาสายล่าง ให้แก่ผู้ขอตรอกตั้งแต่ พ.ศ. 2435-2439 ได้เป็นการเด็ดขาด ทำให้ผู้ซื้อที่นารู้สึกว่าบริษัทมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ประกอบกับรัฐบาลได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาวิวาทที่นา ที่สำคัญก็คือบริษัทใช้วิธีชักชวนคนให้เข้ามาซื้อที่นา โดยการออกอากาศและแจ้งความต่างๆ ซึ่งได้ผลมาก ดังที่ กรมหลวงราชบุรี ทรงกล่าวว่า “บริษัทได้พยายามหาคนมาตรอกให้มาก เพื่อเก็บเงินใช้วิธีแอดเวอร์ไตส์สมกับเมืองไทยจนชื่อทุ่งรังสิตเปรื่องพระนคร กระทำให้กรมสรรพากรคิดว่าเป็นนาวิเศษตั้งค่านาเป็นนาเอก”
การขายที่ดินยิ่งแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2441-2447 เมื่อมีผู้ซื้อที่ดินขนาดใหญ่เพื่อให้ชาวนาเช่า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เจ้านาย ข้าราชการ บาทหลวงในคริสต์ศาสนา และพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ ซึ่งการขายที่ดินแปลงใหญ่นี้ทำให้ฐานะการเงินเพิ่มความมั่นคงยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในระยะ พ.ศ. 2441-2442 ตัวอย่างเช่น
1. พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ทรงซื้อที่นาของบริษัท บริเวณคลองซอยที่ 6, 8 และ 10 เหนือคลองรังสิตรวมเนื้อที่ 17,945 ไร่
2. พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงซื้อที่นาคลอง 7 ฝั่งใต้คลองรังสิตจำนวน 7,000 ไร่
3. พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ ทรงซื้อที่นาคลอง 10 และ 11 จำนวน 7,000 ไร่
4. บริษัทลำไทร ซึ่งประกอบด้วยหุ้นส่วนคือ บาทหลวงเดซาล นายห้างเคียงฮัวเฮง นายห้างกวางยี่ฮั้ว คีเชียง เคียมฮั้วเส็ง บ้วนฮั่วเส็ง และพรรคพวก ซื้อที่นาคลอง 10- 12 จำนวน 9,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม ในการขายที่ดิน รัฐบาลก็ได้พยายามเข้ามาควบคุมการตั้งราคาของบริษัทด้วย ใน พ.ศ. 2435 พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ทำสัญญาเพิ่มเติม ข้อที่ 1 ระบบถึงการที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมราคาที่นาไม่ให้สูงเกินไป เพราะก่อนหน้านั้น บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้ตั้งราคาไว้สูงมาก คือคลอง 8 วา ไร่ละ 6 บาท, คลอง 6 วา ไร่ละ 5 บาท, คลอง 4 วา ไร่ละ 3 บาท และที่มุมคลองเพิ่มอีกไร่ละ 2 บาท ซึ่งรัฐบาลขอให้ลดลงไร่ละ 1 บาทสำหรับของทุกขนาด สัญญานี้ตกลงกันในปีพ.ศ. 2436 โดยบริษัทมีข้อแม้ว่ายอมให้รัฐบาลตั้งราคาได้แต่ราคานั้นต้องขอเป็นคราวๆ ไป
การที่รัฐบาลเข้ามากำหนดราคานั้น บริษัทไม่พอใจอยู่มากเพราะทำให้เสียประโยชน์ ดังที่ พระปฏิบัติราชประสงค์ [2] กล่าวว่า การทำเช่นนี้จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบริษัท ได้ซื้อที่ดินราคาถูก และนำไปขายราคาแพง เนื่องจากส่วนผู้ที่รับซื้อจากบริษัทขายในราคาเท่าใด รัฐบาลมิได้พยายามควบคุม ซึ่งก็มีความจริงอยู่บ้าง เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมได้เพียงราคาที่บริษัทขายเท่านั้น
นอกจากรายได้จากการขายที่ดินในเขตสัมปทาน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัทแล้ว บริษัทยังมีรายได้จากทางอื่นอีกหลายทางดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมประตูน้ำ ที่รัฐบาลอนุญาตให้เรียกเก็บจากเรือที่ผ่านไปมา ประตูน้ำของบริษัทที่สำคัญมี 3 ประตูคือประตูน้ำจุฬาลงกรณ์, ประตูน้ำเสาวภาปิดกั้นคลองรังสิตทั้งสองด้าน และประตูบริษัทสมบูรณ์กั้นคลอง 6 วาสายล่าง เฉพาะที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ประตูเดียว พระยามหาโยธา ข้าหลวงพิเศษสำรวจนามณฑลกรุงเทพได้รายงานว่า บริษัทเก็บได้ปีหนึ่งประมาณ 40,000 บาท
2. ค่าเช่านา ในที่นาซึ่งบริษัทยังไม่ได้ขาย หรือเป็นที่วิวาทยังไม่ได้ตัดสินตกลงเป็นของฝ่ายใด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ใน พ.ศ. 2433 พบว่ามีอยู่ประมาณ 20,000 ไร่ ซึ่งที่ดินเหล่านี้บริษัทยอมให้คนเข้าไปทำงานได้โดยเรียกค่าเช่าได้ละ 2 บาท หรือเรียกเก็บเป็นข้าวไร่ละ 2 ถัง ตามรายงานของพระมหาโยธากล่าวว่าเงินในส่วนนี้ของบริษัทเก็บได้ประมาณปีละ 40,000 บาท
3. เงินค่าคลอง ที่บริษัทเรียกเก็บจากเจ้าของที่นาที่มีที่นาเป็นของตนเองอยู่แล้ว เมื่อบริษัทได้ขุดคลองผ่าน โดยถือว่าเจ้าของที่นาได้ประโยชน์
ผลประโยชน์ “คลองรังสิต” ที่ต้องตอบแทนให้แก่รัฐบาล
การที่ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้รับการอนุญาตให้ขุด “คลองรังสิต” ตามโครงการรังสิตนั้น สัญญา พ.ศ. 2431 ข้อ 8 ได้ระบุถึงการที่บริษัทจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาล โดยคิดจากส่วนกำไรที่บริษัทได้รับร้อยละ 20 และไขข้อสัญญา พ.ศ. 2436 ข้อ 4 กำหนดว่าเงินซึ่งเรียกว่า “ค่าภาคหลวง” ให้บริษัทจ่ายให้รัฐบาลทุกปีจนกว่าคลองจะเสร็จ
แต่ปรากฏว่า นับตั้งแต่เริ่มขุดคลองและขายที่ไปแล้วเป็นจำนวนมากจนถึง พ.ศ. 2442 บริษัทนี้ไม่แบ่งส่วนกำไรให้แก่รัฐบาลเลย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงยกเลิกสัญญาขั้นต้น เปลี่ยนมาเป็นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตราจอง เมื่อมีการออกโฉนดตราจองที่ให้แก่บริษัท โดยเรียกเก็บไร่ละ 1 สลึง ดังปรากฏในประกาศของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม พ.ศ. 2442 ข้อ 7 ทั้งนี้โดยรัฐบาลอ้างว่าสามารถจัดทำได้ง่ายและสะดวกกว่าการเรียกเก็บค่าภาคหลวง ด้วยเหตุนี้มีผลประโยชน์โดยตรงที่รัฐบาลได้รับจากบริษัทในการอนุญาตให้บริษัทขุดคลองครั้งนี้ จึงมาจากทางเดียว คือค่าธรรมเนียมประจำซึ่งจะเริ่มเก็บใน พ.ศ. 2443 เมื่อรัฐบาลส่งพระยามหาโยธาเป็นข้าหลวงออกไปจัดการที่นาและการออกตราจอง
จากหลักฐานการขายที่ของบริษัทให้แก่ผู้ซื้อเรียกว่า “ตราจองที่ดิน” ซึ่งเป็นหลักฐานที่บริษัทส่งให้กระทรวงเกษตราธิการหลังจากสัญญาหมดอายุ พบว่าบริษัทขายที่ดินในเขตคลองต่างๆ ในโครงการรังสิตจำนวน 798,692 ไร่ (ซึ่งในจำนวน ไม่ได้คิดรวมเนื้อที่ที่ยังไม่ได้ให้ผู้ใดตรอกหรือเหลือจากการขาย) ที่ดินจำนวนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจองเป็นเงิน 199,673 บาท
บริษัทได้ชำระค่าธรรมเนียมตราจองไป ในระหว่าง พ.ศ. 2442-2449 รวมประมาณ 113,000 บาท แต่หลังจาก พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา บริษัทเริ่มไม่เต็มใจที่จะรับตราจองอีก มีหลักฐานว่าบริษัทค้างชำระค่าธรรมเนียมตราจองโดยไม่ได้มารับตราจองเพิ่ม ตามที่กระทรวงเกษตราธิการได้เตือนให้บริษัทมารับดังนี้
1 กันยายน พ.ศ. 2499 พระยาวิเศษโภชนาเจ้าพนักงานกระทรวงเกษตรฯ แจ้งแก่บริษัทว่า ที่ดินคลองซอยที่ 1-3 ท้องที่อำเภอคลองหลวง แขวงธัญบุรี ทำโฉนดเสร็จแล้ว ค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 21,662 บาท 36 อัฐ ขอให้บริษัทมารับโฉนดและเสียค่าโฉนด
20 มีนาคม พ.ศ. 2450 พระยาศรีสุนทรโวหารปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรฯ แจ้งต่อกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า บริษัทค้างเงินค่าธรรมเนียมตราจองในทุ่งรังสิตไม่ต่ำกว่า 202,000 บาท
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 หม่อมราชวงศ์สุวพรรณธ์ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการของบริษัทมีหนังสือถึงพระยาศรีสุนทรโวหารปลัดรุ่นฉลองกระทรวงเกษตราธิการ ชี้แจ้งเรื่องบริษัทค้างชำระค่าโฉนดเป็นเงิน 244,771 บาท
22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 กระทรวงเกษตรมีหนังสือเตือนบริษัท ให้นำค่าธรรมเนียมมาชำระเป็นเงิน 219,053 บาท 98 สตางค์
ขาลง ซื้อขายที่ดิน “คลองรังสิต” ?
เงินที่ค้างชำระดังกล่าวนี้ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ไม่ได้ชำระให้รัฐบาลแต่อย่างใด หากพิจารณาเหตุผลของบริษัทที่ไม่ยอมรับตราจองและค้างค่าธรรมเนียม พบว่ามีเหตุผลประการสำคัญคือ
1. ความนิยมในการซื้อที่ดินเริ่มเสื่อมลง การซื้อขายที่ดินในเขตรังสิตในช่วง พ.ศ. 2440-2447 ระยะที่คนแตกตื่นกันเข้ามาซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งคุณนาง ข้าราชการที่เรียกว่า “ผู้มีบรรดาศักดิ์” และสามัญชนซึ่งเป็น “ผู้มีทรัพย์” ซื้อที่ดินเป็นแปลงขนาดใหญ่โดยมุ่งหมายจะเอาไว้ให้ราษฎรเช่าหาผลประโยชน์ หรือเก็บเอาไว้ขายต่อเมื่อราคาสูงขึ้น แต่เมื่อถึง พ.ศ. 2449-2453 เกิดปัญหาสภาพอากาศไม่ปกติ มีน้ำมากไป ทำให้นาเสียของ คลองตื้นเขิน ดินเปรี้ยว เกิดศัตรูพืช ซ้ำอากรค่านาที่เก็บในพื้นที่ก็สูงขึ้น ทำให้ราษฎรผู้เช่านาพากันอพยพจากถิ่นเดิม ส่งผลราคาที่ดินตกต่ำ
2. บริษัทนำเงินซึ่งเป็นผลกำไรจากทุ่งรังสิตไปลงทุนขุดคลองในโครงการทุ่งนครนายก ซึ่งเริ่มขุดตามสัญญาเดือนมกราคม พ.ศ. 2447 แต่บริษัทประสบปัญหาการขาดทุน เพราะเมื่อขุดไปแล้วไม่มีคนซื้อที่ดิน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาที่ดินตกต่ำ บรรดาผู้มีศักดิ์และมีทรัพย์ที่ในระยะเริ่มขุดได้ขอตรอกที่ดินไว้กับบริษัท ก็ไม่ยอมออกเงินช่วย ขณะที่ราษฎรทำนาอยากได้ที่ดิน แต่ไม่มีสามารถซื้อเป็นเงินสดจากบริษัท เพราะเป็นระยะที่การทำนาไม่ได้ผล
3. นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นเข้ามาประกอบด้วย เช่น การที่ทางรถไฟสายกรุงเทพนครราชสีมาสร้างเสร็จทำให้คนลาวไม่ลงมาเป็นลูกจ้างทำงานเขตรังสิต เพราะรถไฟได้เปิดป่าให้เป็นนาใหม่ๆ
แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่บริษัทไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมตราจอง ก็คือการขายที่ดินของบริษัทได้มาถึงจุดอิ่มตัว ไม่มีการซื้อที่ดินขนาดใหญ่ๆ จากบริษัทอีกต่อไป บริษัทจึงเสนอให้รัฐบาลเอาที่ดินซึ่งราคาตกไปแทนค่าธรรมเนียมตราจองเมื่อรัฐบาลพยายามบีบบังคับบริษัท ดังนี้
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เสนอความเห็นให้ส่งกรมอัยการฟ้องบริษัทเรื่องเงินค้าง จำนวน 244,771 บาท บริษัทได้ใช้เป็นที่ดินแทนจำนวน 70,000 ไร่ ราคาไร่ละ 4 บาท
18 มีนาคม พ.ศ. 2453 รัฐบาลมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่า จะให้บริษัทคืนสัญญาให้รัฐบาล เนื่องจากไม่ชำระเงินค่าตราจองจำนวน 219,053 บาท บริษัทได้เสนอจะใช้ที่ดิน 280,000 ไร่ กับเรือ, รถขุดคลอง,โรงงาน กับทรัพย์สินอื่นๆ รวมราคา 120,000 บาทให้แก่รัฐบาล
2 มีนาคม พ.ศ. 2454 รัฐบาลขู่จะยึดทรัพย์คืนอีกครั้งบริษัทเสนอให้หักที่ดินในทุ่งรังสิตที่บริษัทยังไม่ได้ขายรวมราคา 300,000 บาท (ที่ดินราคาไร่ละ 4 บาท) กับให้รัฐบาลรับซื้อเครื่องจักร โรงกลึง และโรงงาน เพื่อนำไปใช้บำรุงการเพาะปลูก
สิ่งที่น่าสังเกตข้อหนึ่งคือ รัฐบาลมิได้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับบริษัท ทั้งที่เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่รัฐบาลจะทำได้ จนในที่สุด พ.ศ. 2457 เมื่อบริษัทหมดอายุสัมปทาน บริษัทได้ตั้งนาย อี. บรันด์ (E.Brande) เป็นผู้ชำระบัญชีและลงประกาศในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ของบริษัทมาติดต่อกับผู้ชำระบัญชีเพื่อตกลงกัน ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลได้จัดการเรื่องค่าจองค้างแต่อย่างใด ซ้ำผู้ถือใบตรอกของบริษัท เมื่อถึงปีนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งเป็นเสนาธิบดี ได้ออกตราจองให้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะถือว่าตามสัญญาบริษัทต้องเป็นผู้จ่าย
เรื่องตราจองค้างของบริษัทเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการพูดถึงอีก จน พ.ศ. 2463 เมื่อกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ กระทรวงการคลัง ได้ชำระบัญชีบริษัทโดยมีนายบรุกซ์เป็นผู้ชำระ พบว่ามีเงินเหลือพอจะแจกจ่ายให้หุ้นส่วนได้ จึงมีการกลับมาพิจารณาที่จะเรียกเงินค้างค่าตราจองของบริษัท โดยให้นายอาร์. ดี.เครก (R.D.Craig ) เจ้ากรมทะเบียนที่ดินเสนอความเห็น
นายเครกเสนอว่าไม่ควรจะเรียกเงินจากบริษัท เพราะถ้าดูตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ถ้ารัฐบาลฟ้องร้อง บริษัทก็สามารถจะแก้ฟ้องได้ และที่สำคัญถ้ารัฐบาลฟ้อง จะเป็นการฟ้องการตัดสินเกี่ยวกับฐานะอาชญากรสงครามของพระปฏิบัติราชประสงค์[3] ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องน่าละอายมากและไม่สะดวก แม้ว่ารัฐบาลอาจจะได้เงินกลับมาบ้างก็ตาม
ขณะที่ความเห็นของนายดับบลิว.เอ.เกรแฮม (W.A.Graham) ที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ ได้เห็นพ้องกับ นายเครกว่า ควรระงับเรื่องนี้ เพราะจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ซึ่งเขาจำได้จากหนังสือโต้ตอบระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น ถ้านำออกเปิดเผยจะเห็นความแปรปรวนของรัฐบาล และทำให้มหาชนคลายความนับถือรัฐบาล (เช่นปรากฏครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลมีคำสั่งเด็ดขาดให้บริษัทชำระค่าจองค้าง บริษัทกลับแย้งตอบเรียกเงินซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินค่าจองของรัฐบาลนั้นอีก) เขาเสนอว่าไม่สู้จะเป็นการดีกับรัฐบาล ถ้าจะมีการถกเถียงอีกอย่างเปิดเผย และเกรงว่าการที่รัฐบาลบังคับบริษัท แล้วบังคับไม่สำเร็จจะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทยกขึ้นมาพูดแย้งเรียกเงินจากรัฐบาล ในที่สุดเรื่องนี้ก็ถูกระงับไป
โดยสรุปการให้สัมปทานแก่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามตามโครงการรังสิต ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ประโยชน์ทางตรงที่คุ้มเลย ถ้าพิจารณาจากรายได้ของบริษัทที่ได้จากการขายที่ดินจำนวนมาก รวมทั้งยังมีรายได้จากด้านอื่นอีก แต่บริษัทก็เอาเปรียบรัฐบาลมาโดยตลอด เริ่มต้นจากไม่จ่ายค่าภาพรวมเลยเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ.2431-2441) จนในที่สุดต้องหันมาเก็บค่าธรรมเนียมจากตราจองซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ออกให้กับบริษัท เพราะรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถเก็บได้แน่ แต่แล้วบริษัทก็ไม่จ่ายค่าตราจองในระยะหลัง ซ้ำร้ายที่รัฐบาลยินยอมให้บริษัทขุดคลองตามโครงการนครนายก
ผู้ขาดทุนก็คือรัฐบาล เพราะนอกจากจะไม่ได้ค่าตราจอง รัฐบาลก็ต้องเข้าไปจัดการแก้ปัญหาที่บริษัทสร้างขึ้นในเขตนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิวาทที่นา ปัญหาการชลประทาน และปัญหาการเช่าที่นาของราษฎร ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการที่บริษัททำไว้เป็นเวลานาน
อ่านเพิ่มเติม :
- ชีวิตชาวนาที่คลองรังสิตสมัยร.5 เป็นทุกข์จากโจร โรคระบาด และเจ้าของนาทำนาบนหลังคน
- ความเสื่อมของคลองรังสิต ที่ “เอาไม่อยู่” ไม่ว่าฝนแล้ง หรือน้ำหลาก
- ปัญหาการจัดสรรที่ดิน-การถือครอง และคดีวิวาท คลองรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5
เชิงอรรรถ :
[1] บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม มีผู้ถือหุ้น 4 คน คือ 1.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ 2.พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) 3. ม.ร.ว. สุวพรรณธ์ สนิทวงศ์ (บุตรพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ที่เข้ามาแทนนายโยคิม แกรซี) 4.นายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือ หลวงสาธรราชายุตถ์
[2] พระปฏิบัติราชประสงค์ (Erwin Müller) เป็นชาวเยอรมัน(ออสเตรียน) หุ้นส่วนของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามที่เพิ่มเข้มาภายหลัง
[3] ในระยะ พ.ศ. 2460 เปมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับฝ่ายชนชาติศัตรูในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันที่อยู่ในประเทศไทยได้ถูกฟ้องในฐานะอาญชากรสงคราม
ข้อมูลจาก :
สุนทรี อาสะไวย์. ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2562