ที่มา | หนังสือ "กรุงเทพฯ ในอดีต" |
---|---|
ผู้เขียน | เทพชู ทับทอง |
เผยแพร่ |
คลอง ที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง “คลองหลอด” เดิมเป็น คลองคูเมือง ในสมัย “กรุงธนบุรี” (กรุงธนบุรีได้เอาแม่น้ำเจ้าพระยาไว้กลางเมืองเช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก กำแพงเมืองกรุงธนบุรีจึงมีทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2326 (จ.ศ. 1145) โปรดฯ ให้รื้อกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออกริมคลองหลอดเสีย เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปอีก
ความจริงแต่เดิมคลองนี้ไม่ได้เรียกว่าคลองหลอด ทางด้านใต้ชาวบ้านเรียกว่า “คลองตลาด” เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ ทั้งทางบกทางน้ำตั้งอยู่ (คือปากคลองตลาดในปัจจุบัน) ทางด้านเหนือเรียกว่า “คลองโรงไหม” เพราะมีโรงไหมของหลวงตั้งอยู่ (คือท่าช้างวังหน้า ซึ่งปัจจุบันสร้างเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า)
ส่วนคลองหลอดจริงๆ ก็คือ คลองที่โปรดให้ขุด 2 คลอง จากคลองคูเมืองเดิมออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) คือ ขุดคลองหลอดที่ข้างวัดบูรณศิริอมาตยารามคลองหนึ่ง กับขุดคลองหลอดที่ข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามคลองหนึ่ง
คำว่าคลองหลอด นั้น หมายความว่า เป็นคลองขนาดเล็กที่ขุดตรงไปทะลุออกคลองใหญ่ แต่ตามชนบทเวลานี้ถึงจะเป็นคลองที่ขุดคดเคี้ยวไม่ตรง ชาวนาก็เรียกว่า “คลองหลอด” หรือ “ลำหลอด” หรือ “หลอด” เหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “คลองกระ” (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลม ด้านความมั่นคงสมัย ร.4 ไฉนเปลี่ยนใจ สมัย ร.5
- ความเสื่อม ของ คลองรังสิต ที่ “เอาไม่อยู่” ไม่ว่าฝนแล้ง หรือน้ำหลาก
- เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทอง ย่าน “คูจาม” คลองตะเคียน อยุธยา ขุมกำลังกลุ่มสยาม รัฐสุพรรณภูมิ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2560