“คลองกระ” (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคงสมัย ร.4 ไฉนเปลี่ยนใจสมัย ร.5

นายเดอ เลสเซป ผู้อำนวยการ ขุดคลองสุเอซ
นายเดอ เลสเซป ผู้อำนวยการขุดคลองสุเอซ ได้รับการต้อนรับจากประชาคมชาติต่าง ๆ ในอียิปต์ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2559)

ความคิดเรื่องการขุด คลองกระ” หรือบริเวณ คอคอดกระ เป็นกระแสมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว ก่อนจะจริงจังมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษผลักดันให้เกิดโครงการนี้อย่างจริงจังถึงขั้นเขียนจดหมายเสนอตัวเข้ามาถวายคำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งประสบความสำเร็จจากการขุดคลองสุเอซตามมาติด ๆ แต่เป็นไทยเองที่สงวนท่าทีต่อการรบเร้าทั้งหมด แม้จะมีข่าวลือว่าอังกฤษนั้นพาลเชื่อว่าไทยสนับสนุนฝรั่งเศสก็ตาม

อ่าน “ความพยายามเสนอโครงการขุด ‘คอคอดกระ’ อย่างจริงจังครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ 4” (คลิก)

……..

ไทยซื้อเวลาแลกการเสียดินแดน

อุบายของไทยคือต้องไม่ผิดใจกับอังกฤษ แต่ก็ต้องไม่ให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าใจผิด ดังสุภาษิตว่า บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น วิธีที่แยบยลที่สุดก็คือแต่งตั้งเจ้าเมืองลงไปคลี่คลายสถานการณ์ที่เมืองกระ คน ๆ นั้นต้องเป็นที่ไว้วางใจของทางราชสำนักและชาวต่างชาติ ในที่สุดก็ทรงเลือกชาวจีนคนหนึ่งที่เป็นคนในบังคับอังกฤษและเป็นนักธุรกิจใหญ่ ส่งลงไปเป็นเจ้าเมืองกระ แต่ที่จริงต้องการส่งลงไปขัดตาทัพมิให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยทอดทิ้งคอคอดกระ เพราะอยู่ไกลหูไกลตาและเป็นเพียงหัวเมืองบ้านนอก

เถ้าแก่ผู้นี้ชื่อ ตันกิมเจ๋ง เป็นเอเย่นต์ส่วนพระองค์อยู่ที่สิงคโปร์ และเป็นคนไว้ใจได้ แต่ที่สำคัญคือแน่พระราชหฤทัยว่า ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสไม่เคยมีความจริงใจต่อสยามในเรื่องขุด คลองกระ มีพระราชดำรัสว่า “ถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้นฝรั่งเศสก็พาลชิงเอาเป็นอาณาเขต จะอย่างไรไทยก็ไม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้”

เหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งเถ้าแก่คนจีนชื่อตันกิมเจ๋งเป็นเจ้าเมืองกระบุรี แล้วพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนนางไทยเต็มขั้น โดยในขั้นแรกทรงตั้งเป็นพระพิเทศพานิช ต่อมาก็พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษาสยามประชานุกูลกิจ ใน พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) โดยมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่ดังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงในสาส์นสมเด็จว่า

“เรื่องประวัติเมืองกระบุรีนั้น เดิมมีเศรษฐีจีนที่เมืองสิงคโปร์คนหนึ่ง แซ่ตัน ชื่อกิมจิ๋ง เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ได้เฝ้าแหนคุ้นเคยชอบพระอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีความสวามิภักดิ์จึงทรงตั้งเป็นพระพิเทศพานิช ตำแหน่งกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ ครั้นถึงสมัยเมื่อดีบุกขึ้นราคาด้วยขายดีในยุโรป มีพวกฝรั่งและจีนพากันทำการขุดแร่ดีบุกในเมืองมลายูแดนอังกฤษมากขึ้น

พระพิเทศพานิชสืบทราบว่าที่เมืองกระมีแร่ดีบุก จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำเหมืองขุดหาแร่ดีบุกที่เมืองนั้น ประจวบเวลามีเหตุสำคัญในทางการเมืองเกิดขึ้น ด้วยเมื่อฝรั่งเศสขุดคลองสุเอชเห็นว่าจะสำเร็จได้ คิดจะขุดคลองลัดแหลมมลายูที่เมืองกระอีกคลอง 1 เอมเปอเรอนโปเลียนที่ 3 ให้มาทาบทามรัฐบาลสยาม พอรัฐบาลอังกฤษทราบข่าว ก็ให้มาทาบทามจะขอเกาะสองแขวงเมืองระนอง เป็นเกาะเปล่าไม่มีบ้านเรือนผู้คน แต่อยู่ตรงทางเข้าลำน้ำ ‘ปากจั่น’ อันจะเป็นต้นคลองที่ขุดใหม่

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้นฝรั่งเศสก็คงพาลชิงเอาเป็นอาณาเขต จะอย่างไรไทยก็ไม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้ จึงโปรดฯ อนุญาตให้เกาะสองเป็นของอังกฤษ ๆ เปลี่ยนชื่อเรียกกันว่า เกาะวิกตอเรียอยู่บัดนี้ แต่ยังทรงพระราชวิตกเกรงว่า ฝรั่งเศสจะใช้อุบายอย่างอื่นมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกระ

จึงโปรดฯ ให้ยกเมืองกระขึ้นเป็นหัวเมือง และทรงตั้งพระพิเทศพานิชเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี เข้าใจว่าเพราะทรงพระราชดำริว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษ ถ้าพวกฝรั่งเศสบังอาจมาข่มเหงประการใด ก็คงต้องกระเทือนถึงอังกฤษ แต่จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม การที่ฝรั่งเศสจะมาขุดคลองกระในครั้งนั้น สงบไปได้ดังพระราชประสงค์”

แผนการขุด “คลองกระ” ที่เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 กลายเป็นเรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคง การฉกฉวยผลประโยชน์ และการปกป้องชาติบ้านเมืองมากกว่าผลกำไรทางการค้า และความพัฒนาถาวร เพียงฝรั่งออกปากจะขอขุดคลอง ไทยก็ตั้งการ์ดรับอย่างเสียขวัญและครั่นคร้ามใจ

ในยุคนั้นอังกฤษมีอำนาจมาก แม้แต่เมืองจีนยังเอาไม่อยู่ ประเทศที่เล็กกว่าจีนย่อมไม่ใช่ข้อต่อรองสำหรับอังกฤษ ต่อมาเมื่ออังกฤษออกปากขอเกาะสองไว้กันท่าฝรั่งเศส ไทยก็จำใจยกให้โดยไม่ขัดขืน เพื่อไม่ให้อังกฤษพาลหาเรื่องที่ใหญ่โตไปกว่านี้

การขุดคอคอดกระในสมัยนี้อาจมองว่าเป็นช่องทางไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย และแสวงหาผลกำไรทางการค้าของประเทศเจ้าภาพในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ในสมัยนั้นเป็นแต่ความเสียเปรียบของสยามและหนทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งยังเป็นการกอบโกยผลประโยชน์ของนายทุนต่างชาติในขณะที่ประเทศเจ้าภาพยังใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง พออยู่พอกิน และมิใช่ผู้กำหนดนโยบายระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นรองชาติมหาอำนาจในทุก ๆ ด้าน

เดิมพันแรกของการรักษาฐานะความเป็นกลางของสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเนื่องมาจากการรบเร้าของอังกฤษ ในการขอสัมปทานขุดคอคอดกระ กดดันให้สยามยอมยกดินแดนผืนน้อย (คือเกาะสอง) ปากแม่น้ำปากจั่นแลกกับการซื้อเวลาจากอังกฤษ

“คลองกระ” โดยทีมงานผู้ขุดคลองสุเอซ

ทั้งที่ชาวอังกฤษเป็นผู้มีภาษีและอิทธิพลมากกว่าชาติอื่น ๆ ที่จะเกลี้ยกล่อมชาวสยามให้คล้อยตามความคิดของพวกตนก็ตาม แต่ทีมงานที่เหนือเมฆกว่าของฝรั่งเศสกลับเป็นตัวแปรที่บดบังกระแสของพวกอังกฤษ พวกฝรั่งเศสเข้ามาพร้อมกับชื่อเสียงของวิศวกรเอกผู้ขุดคลองสุเอซ ซึ่งเป็นคลองลัดนานาชาติแห่งแรกของโลกที่คนทั่วไปรู้จักจุดกำเนิดของคลองสุเอซอันเป็นคลองลัดที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ทวีปยุโรป) กับทะเลแดง (ทวีปเอเชีย)

และเป็นคลองลัดที่ยาวที่สุดแห่งแรกในโลกจะปฏิวัติการเดินทางในอดีตที่ดำเนินมานาน 2,000 ปี อ้อมแหลมกู๊ดโฮป (แอฟริกาใต้) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย สิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และเสียเวลา เพราะคลองสุเอซช่วยให้ระยะการเดินทางจากจากยุโรปมาเอเชียสั้นลงกว่าครึ่งเหลือ 1 ใน 3 คือใช้เวลาเพียง 1 เดือน แทนที่จะเป็น 3 เดือน ดังที่เคยเป็นมา

คนงาน ชาวอียิปต์ ขุดคลองสุเอซ
คนงานชาวอียิปต์นับหมื่นคนถูกระดมมาขุดคลองสุเอซภายใต้การกำกับดูแลของทีมงานฝรั่งเศส
คลองสุเอซ เชื่อม ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ภาพวาดมุมสูงของคลองสุเอซเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (มุมล่างซ้าย) กับทะเลแดงและโลกกว้าง (มุมบนขวา) มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๙ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่นิยมใช้อยู่ของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่

……..

รัฐบาลฝรั่งเศสมีเครดิตดีกว่าชาติอื่น ๆ ในการรณรงค์ขุดคลองสุเอซ เพราะเมื่อขึ้นรัชกาล จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาณานิคม และเศรษฐกิจที่เติบโตขนานใหญ่ อีกทั้งองค์จักรพรรดิก็มิได้สนพระราชหฤทัยในการศึกสงครามเหมือนในสมัยพระราชปิตุลา (จักรพรรดินโปเลียนที่ 1) ทำให้ทรงทุ่มเทงบประมาณและเวลากับโครงการคลองสุเอซได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่สำคัญคือ นายช่างใหญ่เจ้าของโครงการนี้คือ นายเดอ เลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) เคยดำรงตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1830 และเป็นพระสหายสนิทของเจ้าผู้ครองนครอียิปต์ในสมัยนั้นคือ Sa-ld Pasha ช่วยให้ นายเดอ เลสเซป มีช่องทางทำมาหากินพิเศษและเอื้ออำนวยให้เขาได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาลอียิปต์โดยไม่ลำบากนัก

นายเดอ เลสเซป ได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company หรือ Compagnie Universelle du Canal Maritime de Suez) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1858 (พ.ศ. 2401) และเริ่มขุดคลองทันทีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1859 (พ.ศ. 2402) … ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น 10 ปีจึงแล้วเสร็จ (ค.ศ. 1859-69)

และเพราะความสำเร็จของฝรั่งเศสจากคลองสุเอซนี่เองที่มัดใจชาวโลกรวมทั้งชาวสยามอย่างดิ้นไม่หลุด ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าโครงการที่มีชาวฝรั่งเศสดำเนินการอยู่มักจะมีอิทธิพลของรัฐบาลรวมทั้งนายทุนและนักการเมืองหนุนหลังอยู่ด้วยเสมอ แต่กระแสแห่งภาพลักษณ์ของประสบการณ์และเทคโนโลยีอันล้ำหน้าก็พิสูจน์ว่า ฝรั่งเศสมีอุดมการณ์และแนวคิดที่เปิดเผยกว่าอังกฤษในเรื่องการสร้างหลักประกันและเปิดโอกาสมากกว่าต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวม

ชื่อเสียงของคนฝรั่งเศสในโครงการนี้จึงกลบกระแสนักล่าอาณานิคม ซึ่งทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างก็เป็นจำเลยของสังคมลงได้บ้าง ดังจะเห็นว่ารัฐบาลสยามเริ่มมีทัศนคติที่ดีและไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศส โดยปิดตาข้างเดียวให้กับการพิจารณาคำขอของคนฝรั่งเศส

สถานการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากสมัยรัชกาลที่ 4 จากการที่เราเคยปกป้อง คอคอดกระอย่างหวงแหน และเคยยึดภาษิตประจำใจอยู่เสมอว่า กันไว้ดีกว่าแก้ และไม่เห็นน้ำตัดกระบอก กลายมาเป็นโยนหินถามทาง และน้ำขึ้นให้รีบตักอย่างรวดเร็ว

พระราชดำรัสบางตอนของรัชกาลที่ 5 ต่อคำขอของนักสำรวจจากฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1880 โดยการนำของ ม. เดอลองก์ (M. Deloncle) ชี้ว่าทรงให้ความไว้วางใจต่อข้อเสนอของทางฝรั่งเศส ที่เปิดตัวว่า นายเดอ เลสเซป รู้เห็นและสนับสนุนอยู่ ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากกว่าอังกฤษ

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5

ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 1 ว่าด้วยจดหมายถ้อยคำซึ่งมองซิเออร์ฟรังซัว เดอลองก์ กราบบังคมทูลและมีพระราชดำรัสตอบในวันเสาร์ เดือน 7 แรม 9 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244

“เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาบ่าย 4 โมง มองซิเออร์ เลอด็อกเตออาร์มอง กงซุลและคอมมิสแซฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นกรุงเวียตนามทูลเกล้าฯ ถวายแล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มองซิเออร์ เดลอง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว มองซิเออร์เดลอง เข้ามาเฝ้า ผู้ซึ่งอยู่ในโต๊ะที่เสด็จออกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ กงซุลฝรั่งเศสมองซิเออร์ลอยู แต่เจ้าพนักงานกรมท่าและมหาดเล็กเฝ้าอยู่ห่าง แต่พอได้ยินความถนัด

มองซิเออร์เดลอง ถวายสำเนาหนังสือซึ่งมองซิเออร์เดอเลสเสปมีมาถึงตัว และหนังสือมองซิเออร์เดลองเอง ทรงทอดพระเนตรแล้ว มองซิเออร์เดลองกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตที่จะขุดคลองในชื่อของมองซิเออร์เดอเลสเสป

ดำรัสว่า การซึ่งจะขุดคลองนี้ ทรงเห็นว่าฝ่ายอังกฤษก็คงจะอยากขุดเหมือนกัน ก็ไม่อยากที่จะให้เป็นการขัดขวางกับอังกฤษ ฝ่ายมองซิเออร์เดอเลสเสปเล่า ก็เป็นคนเคยทำการเห็นปรากฏว่าเป็นคนเคยทำสำเร็จ เราก็ไม่อยากจะขัดขวาง ถ้าการคลองนี้จำเป็นต้องขุดเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์เดอเลสเสปจะเป็นผู้ขุด เราก็จะมีความยินดี ด้วยได้เห็นการที่ทำมาแล้ว

แต่การตกลงซึ่งจะทำให้คอนเสสชั่นให้เป็นการตกลงแน่ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะเหตุที่ยังไม่รู้การตลอด ในแผนที่และการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เรา และจะต้องรู้แน่ว่าคอวเวอนเมนต์ต่าง ๆ ทั้งปวงซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มีอังกฤษซึ่งเป็นผู้มีผลประโยชน์ใหญ่ เป็นต้น ได้เข้าใจดีตกลงพร้อมกัน เพราะเป็นการสำคัญซึ่งเราจะต้องระวังให้เป็นการเรียบร้อยตลอดไป

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า การซึ่งจะพูดกับคอวเวอนเมนต์ต่างประเทศนั้นมองซิเออร์เดอเลสเสปจะรับเป็นธุระพูดจาเอง ไม่ต้องให้ไทยพูด ถึงเมื่อครั้งคลองสุเอซและคลองปานามา เจ้าของก็ไม่พูดจาอันใด มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดทั้งสิ้น

ทรงตอบว่า ดีแล้ว ถ้าดังนั้นให้มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดจาเสียให้ตกลงก่อน จึงค่อยเอาคอนเสสชั่น

ทีมงาน ชาวฝรั่งเศส สำรวจ คลองกระ คอคอดกระ
ทีมงานผู้ชำนาญการชาวฝรั่งเศสสำรวจคอคอดกระใน ค.ศ. 1881 และสร้างแผนที่ตามมาตรฐานสากลฉบับแรกของบริเวณคลองกระที่จะขุด (ภายในเส้นกรอบ) ก่อนเกิดความขัดแย้งกันเองในคณะนักสำรวจชุดนั้น

ทว่า แม้นว่าฝรั่งเศสจะถือไพ่เหนือกว่าอังกฤษในทุกด้าน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือยังไม่ทรงยินดีที่จะให้สัมปทานในการขุดทันทีทันใด (คอนเสสชั่น = สัมปทาน) จนกว่าจะมีการสำรวจ (เซอร์เวย์) พื้นที่อย่างละเอียดก่อนจึงจะรู้แน่ชัดว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

“ดำรัสถามถึงที่ซึ่งจะขุดและการที่ทำนั้นอย่างไร มองซิเออร์เดลองทูลชี้แจงบ้าง และรวมความลงขอพระราชทานคอนเสสชั่น จึงดำรัสว่า การเรื่องที่จะขุดคลองนี้มีข้อขัดขวาง ซึ่งจะยอมให้คอนเสสชั่นไม่ได้เดี๋ยวนี้ 2 ประการ ประการ 1 นั้น ยังไม่ทรงทราบว่าการที่ขุดนั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กันแน่ เพราะที่นั่นยังไม่ได้เซอรเวดู ให้รู้ว่าจะทำยากทำง่ายเป็นประการใด และเรือซึ่งจะมาเดินทางนั้น จะมากน้อยประการใด ก็ยังไม่ได้คิดกะประมาณการเป็นแน่

รวมใจความว่า เมื่อคอวเวอนเมนต์สยามยังไม่ได้พิจารณาการเรื่องนี้โดยละเอียดถ้วนถี่ ให้เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แน่แล้ว จะยอมให้คอนเสสชั่นยังไม่ได้

มองซิเออร์เดลองได้กราบทูลว่า แผนที่และประมาณการเรื่องนี้ เขามีพร้อมที่จะยื่นถวายให้ทราบได้ แต่ซึ่งจะเอาเป็นแน่ละเอียดลออ เมื่อก่อนยังไม่ได้เซอรเวนั้นไม่ได้อยู่เอง มองซิเออร์เดอเลสเสปได้คิดไปว่า เมื่อใดได้คอนเสสชั่นแล้วจึงจะประชุมผู้ซึ่งชำนาญในการเซอรเว มาเซอรเวตรวจการให้ได้โดยละเอียดต่อเมื่อตรวจแล้วเห็นว่าควรจะทำ จึงจะทำได้

จึงดำรัสว่า ส่วนกัมปนีจะต้องตรวจให้เห็นว่าควรทำได้แล้วจึงจะทำ ส่วนเราก็ต้องขอตรวจให้รู้ก่อนว่า ควรจะอนุญาตแล้วจึงจะอนุญาตเหมือนกัน เพราะที่เหล่านี้เป็นที่มีบ่อแร่เป็นต้น และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ของแผ่นดินและของราษฎรอย่างไรบ้าง เราต้องรู้ก่อนที่จะตกลง”

ทีมงานฝรั่งเศสจึงได้เริ่มการสำรวจ เกิดเป็นแผนที่การสำรวจคอคอดกระของนายเดอลองก์ฉบับ ค.ศ. 1881 ภายใต้พระบรมราชานุญาตของรัชกาลที่ 5 ในการนี้ทรงมีหมายรับสั่งให้ทีมงานของทางราชสำนักติดตามไปด้วยเพื่อจะได้เปิดเผยและตรวจสอบได้ แต่บังเอิญผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยดันเป็นคนอังกฤษ แผนงานของพวกฝรั่งเศสจึงไม่ค่อยจะราบรื่นนัก

อ่าน พบแล้ว! ตัวการผู้ทำให้ไทยยกเลิก โครงการขุดคอคอดกระ ในสมัยรัชกาลที่ 5(คลิก)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิก โครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2566