พบแล้ว! ตัวการผู้ทำให้ไทยยกเลิก “โครงการขุดคอคอดกระ” ในสมัยรัชกาลที่ 5

แผนที่ คลองกระ คอคอดกระ ทีมทำแผนที่ ชาวฝรั่งเศส โครงการขุดคอคอดกระ
ทีมงานผู้ชำนาญการฝรั่งเศสสำรวจคอคอดกระใน ค.ศ. 1881 และสร้างแผนที่ตามมาตรฐานสากล ฉบับแรกของบริเวณครองกระที่จะขุด (ภายในเส้นกรอบ) ก่อนเกิดความขัดแย้งกันเองในคณะสำรวจชุดนั้น (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2559)

กัปตันลอฟตัส ตัวการผู้ทำให้ไทยยกเลิก “โครงการขุดคอคอดกระ” ในสมัยรัชกาลที่ 5

แผนการขุด “คลองกระ” ที่เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคง สยามยอมยกเกาะสอง ปากแม่น้ำปากจั่น แลกกับการซื้อเวลาจากอังกฤษ แต่ทีมงานเหนือเมฆของฝรั่งเศสมาพร้อมกับชื่อเสียงของวิศวกรเอกผู้ขุดคลองสุเอซ รัฐบาลสยามจึงเริ่มมีทัศนคติที่ดีและไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศส โดยรัชกาลที่ 5 มีดำรัสให้ทีมงานฝรั่งเศสเริ่มการสำรวจ “คอคอดกระ” เสียก่อน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ต่าง ๆ พร้อมส่งผู้แทนรัฐบาลสยามไปสำรวจและประเมินร่วมกับทีมงานฝรั่งเศสด้วย

อ่าน “‘คลองกระ’ (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคงสมัย ร. 4 ไฉนเปลี่ยนใจสมัย ร.5” (คลิก)

กัปตันลอฟตัส ตัวการยับยั้ง คลองกระ

การส่งผู้แทนของรัฐบาลสยามที่เป็นชาวยุโรปไปกับคณะของคนฝรั่งเศส เป็นสิ่งที่ทีมงานฝรั่งเศสกลืนไม่เข้าคายไม่ออก มันเหมือนการส่งสายลับฝ่ายตรงข้ามไปกับคู่กรณีอย่างมีเจตนา และไม่เป็นผลดีต่อแผนการของฝรั่งเศสในระยะยาวเลย

ตัวแทนของฝ่ายไทยผู้นี้มีนามว่า กัปตันลอฟตัส ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและงานวิศวกรรม รับราชการอยู่กับรัฐบาลสยามมานานตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 แต่การเป็นคนอังกฤษย่อมเป็นหอกข้างแคร่สำหรับชาวฝรั่งเศสอย่างช่วยไม่ได้ และทำให้ภารกิจของชาวฝรั่งเศสไม่ใช่ความลับอีกต่อไป

ใครคือกัปตันลอฟตัส? นาวาเอก อัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส (Major Alfred J. Loftus) (ค.ศ. 1834-99) เป็นนายทหารเรือชาวอังกฤษโดยสัญชาติ ท่านได้รับการว่าจ้างให้ทำแผนที่ทางทะเลฉบับแรกให้รัฐบาลสยาม เมื่อ พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1871) ภายใต้บังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ต่อมาท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสอินเดีย (ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2414-16 มีนาคม 2415 - ผู้เขียน) เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษา เป็นผู้ชำนาญการสำรวจทะเลและแม่น้ำของสยาม และเป็นหัวหน้าสำนักงานแผนที่ทางทะเล ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระนิเทศชลธี เจ้ากรมเซอร์เวย์ทางน้ำ สังกัดกรมท่ากลาง เมื่อ พ.ศ. 2429

กัปตันลอฟตัส ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลสยามสำรวจคอคอดกระพร้อมกับคณะวิศวกรฝรั่งเศสที่มีนายเดอลองก์เป็นหัวหน้าทีม ใน พ.ศ. 2423-24 (ค.ศ. 1880-81)

หลังจากลาออกจากราชการไทยท่านก็ยังใช้ชีวิตต่อไปในสยามและได้ก่อตั้งกิจการรถรางเป็นครั้งแรก ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ และเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงมากในกรุงเทพฯ ในช่วงบั้นปลายชีวิตท่านได้เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ แต่ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 แต่งตั้งให้เป็นกงสุลสยามประจำเมืองเบอร์มิงแฮมในอังกฤษอีกด้วย

กัปตันลอฟตัสเป็นผู้ที่รักเมืองไทยมาก เมื่อท่านถึงแก่กรรมคำสั่งสุดท้ายคือขอให้ผู้ประกอบพิธีศพช่วยห่อร่างของท่านด้วยธงชาติไทย (ธงช้าง) ตอนที่นำร่างท่านไปฝังในสุสาน

การที่รัฐบาลสยามวางตัวกัปตันลอฟตัสให้เป็นผู้แทนติดตามไปกับคณะวิศวกรชาวฝรั่งเศส นอกจากจะทำให้ฝ่ายไทยได้ข้อมูลที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่กลุ่มนายทุนแล้ว ยังพิสูจน์ว่าไทยต้องการข้อมูลเบื้องต้นประกอบการพิจารณา ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับชาติมหาอำนาจอย่างเดียว

การสำรวจเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2425 (ค.ศ. 1882) จนถึงวันที่ 4 เมษายน 2426 (ค.ศ. 1882) (ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันขึ้นปีใหม่ตรงกับ 1 เมษายน แต่ยังเป็น ค.ศ. 1882 – ผู้เขียน) โดยเริ่มสำรวจจากเมืองชุมพรลงไปทางใต้ ได้สำรวจแม่น้ำสวีและแม่น้ำหลังสวนในขั้นแรกจนถึงตำบลที่เรือจะขึ้นไปอีกไม่ได้ แล้วขึ้นช้างเดินป่าต่อไปจนถึงเมืองระนอง จากนั้นลงเรือขึ้นไปทางเหนือตามลำแม่น้ำปากจั่นตลอดถึงเมืองกระบุรี

ปรากฏว่าเส้นทางที่ควรจะเป็นแนวคลองนั้นต้องผ่านไปในหมู่เทือกเขาที่มีความสูงไม่สม่ำเสมอกัน และมีลักษณะคดเคี้ยวมากขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นลูกคลื่นและต้องอ้อมไปมาตัดเป็นเส้นตรงไม่ได้ สรุปได้ว่าเส้นทางของแนวคลองที่จะขุดนั้นต้องลัดเลาะไประหว่างหุบเขาของเทือกเขาเหล่านั้น หากจะตกแต่งแนวคลองให้เป็นเส้นตรงแล้วก็จะพบอุปสรรคยิ่งขึ้น เส้นทางตอนสูงที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากถึง 250 เมตร โดยพื้นที่ตามเส้นทางที่จะขุดส่วนมากเป็นหินแข็ง

ส่วนตามแม่น้ำปากจั่นที่คาดว่าเรือใหญ่จะเข้ามาจากมหาสมุทรอินเดียนั้นก็คดเคี้ยวและแคบมาก ทั้งยังเต็มไปด้วยสันดอนทรายและมีหินใต้น้ำอยู่ทั่วไป ในฤดูมรสุมก็มีคลื่นลมแรงและไม่น่าจะปลอดภัยสำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ สรุปแล้วการขุดคลองในแถบนี้ไม่อาจสำเร็จลงได้โดยง่าย

อนึ่ง คณะนักสำรวจได้กะประมาณการไว้ว่าคลองกระน่าจะมีความยาวประมาณ 111 กิโลเมตร โดยส่วนที่จะต้องขุดคลองใหม่จะมีความยาวเพียง 53 กิโลเมตร ถ้าแผนงานเกิดขึ้นจริง

ผลการสำรวจคอคอดกระที่ตอนแรกน่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทีมงานชาวฝรั่งเศสกลับกลายเป็นการสำรวจร่วมของทีมงานผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศส โดยมี กัปตันลอฟตัส เป็นหัวหอกประเมินบทสรุปเสียเอง ซึ่งดูจะไม่ส่งผลดีต่อความตั้งใจของพวกฝรั่งเศสเอาเลย

นอกจากกัปตันลอฟตัสจะต่อต้านความคิดทางทฤษฎีของวิศวกรฝรั่งเศสว่าคอคอดกระเป็นพื้นที่ทุรกันดารไม่เหมาะต่อการขุดคลองลัดแล้วเขาก็ยังเดินหน้าขัดขวางการรายงานผลลัพธ์ในที่ประชุมองค์กรระหว่างประเทศถึงกรุงลอนดอน เหมือนการขโมยซีนทีมงานฝรั่งเศสซึ่ง ๆ หน้า

โดยในราวกลางปี 2426 (ค.ศ. 1883) กัปตันลอฟตัสได้เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมอันทรงเกียรติของ ราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Geographical Society of Great Britain) ตัดหน้านายเดอลองก์โดยโต้แย้งว่า คอคอดกระในสยามมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับพื้นที่เพื่อขุดคลอง เพราะมีเทือกเขาสูงถึง 250 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยากต่อการขุดเจาะและไม่คุ้มทุนที่จะเดินหน้าบุกเบิกพื้นที่ผิดธรรมดาตามวัตถุประสงค์ของฝรั่งเศส

อันว่าราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรนี้ เป็นองค์กรเก่าแก่ของอังกฤษที่ได้รับการเคารพนับถือของนักสำรวจจากทั่วโลกก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2373 (ค.ศ. 1830) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการสำรวจค้นคว้าทางภูมิศาสตร์และวิทยาการ เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงต่อการโน้มน้าวความเชื่อของนักสำรวจโลกที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน

และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาสมาชิกโดยวิชาชีพนักสำรวจและนักทำแผนที่จะรายงานผลสำรวจของตนให้ทางสมาคมทราบเป็นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ในหมู่ชน รวมถึงการค้นพบครั้งล่าสุด การตั้งทฤษฎีใหม่บางทีก็หมายถึงการสรุปผลสำรวจทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

คนรุ่นเราอาจไม่มีทางล่วงรู้เลยว่า ทฤษฎีของกัปตันลอฟตัสเท็จจริงประการใด แต่หากมองในแง่บวกอาจเป็นความจริงก็ได้ ในกรณีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มันเป็นการยากที่จะแยกสมมุติฐานออกจากข้อเท็จจริงพอ ๆ กับที่จะแยกข้อเท็จจริงออกจากสมมุติฐาน ดังนั้น เราจำเป็นต้องยึดหลักฐานที่คนรุ่นก่อนยืนยันไว้เป็นเกณฑ์

เพราะยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่าในระยะเดียวกันนั้นเอง (ค.ศ. 1880-83) คณะนักสำรวจฝรั่งเศสอีกชุดหนึ่งของ นายเดอ เลสเซป ที่กำลังขุด คลองปานามา (Panama Canal) ได้ประสบปัญหาทางธรณีวิทยาของพื้นดินที่อ่อนยุ่ยในเขตที่ขุดคลองและไข้ระบาดอย่างหนักจนทีมงานฝรั่งเศสจำต้องถอนตัวออกจากปานามาอย่างน่าอับอาย

ในทางปฏิบัติแล้ว กัปตันลอฟตัสคือตัวการใหญ่ผู้ยับยั้งแผนงานของพวกฝรั่งเศสอย่างโจ่งแจ้ง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำให้ โครงการขุดคอคอดกระถูกยกเลิกไปโดยปริยายและเป็นมือที่สามที่เราไม่รู้จักมาก่อน คำทัดทานของท่านมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือทั้งจากกลุ่มนายทุนและรัฐบาลสยามเอง (ภาพถ่ายกัปตันลอฟตัส คลิก)

รัชกาลที่ 5 ทรงปลอบใจทีมงานฝรั่งเศสอย่างไร?

การยุบโครงการขุดคลองกระโดยกะทันหันทำให้ทีมงานฝรั่งเศสเสียหน้ามิใช่น้อย โครงการขุด คลองปานามา ที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกมาก็เช่นเดียวกัน ได้สร้างความปวดร้าวให้ นายเดอ เลสเซป เป็นอย่างมาก ในกรณีของคลองปานามานั้นการเดินหน้าขุดคลองทั้งที่เผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น นอกจากข่าวโจมตีพวกฝรั่งเศสว่าติดสินบนสื่อไม่ให้เปิดเผยผลประกอบการต่าง ๆ แล้ว ไข้ป่า (ในปานามาเรียกไข้เหลือง) ยังได้คร่าชีวิตคนงานพื้นเมืองไปกว่า 10,000 คนอีกด้วย

ตามวิสัยชาวสยามผู้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและเห็นอกเห็นใจผู้ประสบเคราะห์กรรมอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชบัญชาให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส หาทางรักษาน้ำใจทีมงานชาวฝรั่งเศสเพื่อผดุงมิตรภาพระหว่างกันเอาไว้

ภาพวาดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นาย เดอ เลสเซป เพื่อเป็นการขอบคุณ

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเขียนบันทึกว่า เพื่อเป็นการซื้อใจพวกฝรั่งเศส ทางรัฐบาลสยามได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นที่สถานทูตประจำกรุงปารีสเพื่อเรียกขวัญและเป็นกำลังใจให้แก่ทีมงานวิศวกรชาวฝรั่งเศส

โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 1884 (พ.ศ. 2427) นายเดอ เลสเซป วิศวกรผู้ออกแบบและขุดคลองสุเอซพร้อมด้วย นายเดอลองก์ วิศวกรและเพื่อนร่วมงานผู้เสนอโครงการขุดคลองกระและชาวคณะทุกคนมีอาทิ กัปตันเบลลิอง (Captain Bellion) นายดรู (Mr. Léon Dru) และ นายเกรอัง (Mr. Grehan) อดีตกงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในงาน

ในการนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้อ่านสุนทรพจน์กล่าวขอบคุณทีมงานสำรวจคอคอดกระของนายเดอลองก์และความสำเร็จของการสำรวจครั้งแรกและข้อมูลที่ได้จากใจจริงของราชสำนักสยาม

ทั้งยังได้อ้างถึงพระพรชัยมงคลและพระราชสดุดีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานมาเป็นพิเศษแก่ นายเดอ เลสเซป ว่าผลงานจากคลองสุเอซของท่านเป็นผลงานอันโดดเด่นที่น่ายกย่องชื่นชม และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

พระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของพระราชอาณาจักรแห่งเอเชียตระหนักถึงความสำเร็จและคุณูปการของ นายเดอ เลสเซป จึงได้ถือโอกาสนี้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งแห่งกรุงสยามนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทย” ชั้นสูงสุด (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยมีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ นายเดอ เลสเซป ได้รับพระราชทานมีนามว่า Knight Commander of the Crown of Siam (Grand Cross of the Most Honourable Order of the Crown of Siam) ให้ นายเดอ เลสเซป เป็นเกียรติยศด้วย

โครงการ ขุดคอคอดกระในสมัยกาลที่ 5 ยุติลงโดยสันติวิธีใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) และไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกอีกเลยจนตลอดรัชกาล…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิก โครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2566