ทีมผู้ขุด “คลองสุเอซ” จากฝรั่งเศส เกือบมาขุดคลองโครงการยักษ์ของไทยสมัยร.5

นาย เดอ เลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) ฉากหลังด้านบนเป็นเรือ Ever Given เกยตื้นคลองสุเอซ ค.ศ. 2021 (ภาพจาก SUEZ CANAL / AFP) ด้านล่างเป็นภาพวาดเหตุการณ์เปิดคลองสุเอซ เมื่อ ค.ศ. 1869 ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด (ภาพจาก AFP)

คลองสุเอซ ไม่เพียงเป็นเส้นทางเดินทางที่สำคัญ คลองแห่งนี้ยังมีความเป็นมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกินอาณาเขตเชื่อมโยงไปหลายภูมิภาค อีกทั้งยังเกี่ยวข้องในทางอ้อมกับเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ของชาวไทยที่มีต่อชาวฝรั่งเศสในฐานะผู้ที่เดินหน้าโครงการขุดคลองสุเอซจนประสบความสำเร็จ

คลองสุเอซ

เรื่องคลองสุเอซนี้ ไกรฤกษ์ นานา เคยเขียนอธิบายความเป็นมาไว้ในบทความ “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิกโครงการขุดคอคอดกระข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2559 เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…ชื่อเสียงของวิศวกรเอกผู้ขุดคลองสุเอซซึ่งเป็นคลองลัดนานาชาติแห่งแรกของโลกที่คนทั่วไปรู้จักจุดกำเนิดของคลองสุเอซอันเป็นคลองลัดที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ทวีปยุโรป) กับทะเลแดง (ทวีปเอเชีย) และเป็นคลองลัดที่ยาวที่สุดแห่งแรกในโลกจะปฏิวัติการเดินทางในอดีตที่ดำเนินมานาน 2,000 ปี อ้อมแหลมกู๊ดโฮป (แอฟริกาใต้) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย สิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และเสียเวลา เพราะคลองสุเอซช่วยให้ระยะการเดินทางจากจากยุโรปมาเอเชียสั้นลงกว่าครึ่งเหลือ 1 ใน 3 คือใช้เวลาเพียง 1 เดือน แทนที่จะเป็น 3 เดือน ดังที่เคยเป็นมา

ผู้ที่จุดประกายเรื่องคลองสุเอซคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (ค.ศ. 1769-1821) แห่งฝรั่งเศส ผู้ออกแบบสร้างและดำเนินการขุดก็เป็นวิศวกรฝรั่งเศส เงินลงทุนก็มาจากฝรั่งเศส แถมผู้ที่รับช่วงต่อก็เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ (คือจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ค.ศ. 1808-73) และสามารถบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์อันแท้จริงจนได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นต้นแบบของคลองลัดที่ดีที่สุดในโลก

แต่ความฝันของพระองค์ก็ต้องดับวูบลงเพราะมีอุปสรรคเฉพาะหน้าขวางทางอยู่ คือ 1. ระดับน้ำในทะเลแดงสูงกว่าระดับน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึง 10 เมตร และต้องใช้เวลาหาทางแก้ปัญหาอีกนาน

2. จะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเกินกว่าที่จำเป็นในการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์กั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้ามายังทะเลฝั่งยุโรป ถ้าผิดพลาดก็จะเกิดความหายนะอย่างมิอาจประเมินค่าได้ 

และ 3. เกิดสงครามนโปเลียน (ค.ศ. 1804-14) เสียก่อน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำให้โครงการคลองสุเอซมีอันต้องระงับไปชั่วคราว

พอขึ้นรัชกาลจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (ค.ศ. 1848) พระองค์ทรงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของพระราชปิตุลา (จักรพรรดินโปเลียนที่ 1) จึงทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สร้างคลองสุเอซขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเต็มรูปแบบ

รัฐบาลฝรั่งเศสมีเครดิตดีกว่าชาติอื่นๆ ในการรณรงค์ขุดคลองสุเอซ เพราะเมื่อขึ้นรัชกาลจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาณานิคม และเศรษฐกิจที่เติบโตขนานใหญ่ อีกทั้งองค์จักรพรรดิก็มิได้สนพระราชหฤทัยในการศึกสงครามเหมือนในสมัยพระราชปิตุลา ทำให้ทรงทุ่มเทงบประมาณและเวลากับโครงการคลองสุเอซได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่สำคัญคือนายช่างใหญ่เจ้าของโครงการนี้คือ นาย เดอ เลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) เคยดำรงตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1830 และเป็นพระสหายสนิทของเจ้าผู้ครองนครอียิปต์ในสมัยนั้นคือ Sa-ld Pasha ช่วยให้ นาย เดอ เลสเซป มีช่องทางทำมาหากินพิเศษและเอื้ออำนวยให้เขาได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาลอียิปต์โดยไม่ลำบากนัก

นาย เดอ เลสเซป ได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company หรือ Compagnie Universelle du Canal Maritime de Suez) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1858 (พ.ศ. 2401) และเริ่มขุดคลองทันทีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1859 (พ.ศ. 2402) โดยเริ่มขุดจากเมืองท่า Port Said บนฝั่งทะเลด้านเอเชียก่อน เรียกต้นทางนี้ว่าด้านเหนือ ปลายทางอยู่ที่เมืองท่า Port Tawfik คือด้านใต้ที่บรรจบกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป เมื่อแรกขุดเสร็จคลองนี้มีความยาว 164 กิโลเมตร กว้าง 205 เมตร ลึก 24 เมตร (ในภายหลังถูกปรับแต่งให้สั้นลงเหลือความยาวเพียง 162.25 กิโลเมตร – ผู้เขียน) ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น 10 ปีจึงแล้วเสร็จ (ค.ศ. 1859-69)…”

ภาพวาดเหตุการณ์เปิดคลองสุเอซ เมื่อ ค.ศ. 1869 ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด (ภาพจาก AFP)

ชื่อเสียงของคณะจากฝรั่งเศส
กับอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของไทย

ชื่อเสียงของชาวฝรั่งเศสในฐานะผู้เดินหน้าโครงการจนประสบความสำเร็จส่งอิทธิพลต่อมาถึงบ้านเราในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า ในช่วงประมาณรัชกาลที่ 3 คือช่วงที่เริ่มต้นปรากฏกระแสแนวคิดเรื่องขุดคอคอดกระเกิดเป็นกระแสขึ้น โดยเริ่มมาจากชาวอังกฤษก่อน นักสำรวจชาวอังกฤษหลายคนของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เสนอแนวคิดที่จะหาผลประโยชน์ทางด้านการเดินเรือและเศรษฐกิจของอังกฤษ ดังที่ไกรฤกษ์ อธิบายว่า

“…อังกฤษเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่จู่โจมเข้ามาออกตัวว่าสนใจที่จะขุดคอคอดกระโดยยกแม่น้ำทั้งห้ามาให้รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์คลองลัดนี้จะมีต่อการค้าและการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้พระองค์และประเทศสยามเป็นที่ปรากฏตามนโยบายเปิดประเทศของพระองค์” [1]

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็เป็นอีกกลุ่มที่พุ่งความสนใจมายังคอคอดกระเช่นกันภายหลังขุดคลองสุเอซเชื่อมยุโรปและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า

“…และเพราะความสำเร็จของฝรั่งเศสจากคลองสุเอซนี่เองที่มัดใจชาวโลกรวมทั้งชาวสยามอย่างดิ้นไม่หลุดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าโครงการที่มีชาวฝรั่งเศสดำเนินการอยู่มักจะมีอิทธิพลของรัฐบาลรวมทั้งนายทุนและนักการเมืองหนุนหลังอยู่ด้วยเสมอ แต่กระแสแห่งภาพลักษณ์ของประสบการณ์และเทคโนโลยีอันล้ำหน้าก็พิสูจน์ว่าฝรั่งเศสมีอุดมการณ์และแนวคิดที่เปิดเผยกว่าอังกฤษในเรื่องการสร้างหลักประกันและเปิดโอกาสมากกว่าต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวม [2]

ชื่อเสียงของคนฝรั่งเศสในโครงการนี้จึงกลบกระแสนักล่าอาณานิคมซึ่งทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างก็เป็นจำเลยของสังคมลงได้บ้าง ดังจะเห็นว่ารัฐบาลสยามเริ่มมีทัศนคติที่ดีและไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศสโดยปิดตาข้างเดียวให้กับการพิจารณาคำขอของคนฝรั่งเศส

สถานการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากสมัยรัชกาลที่ 4 จากการที่เราเคยปกป้องคอคอดกระอย่างหวงแหน และเคยยึดภาษิตประจำใจอยู่เสมอว่ากันไว้ดีกว่าแก้ และไม่เห็นน้ำตัดกระบอก กลายมาเป็นโยนหินถามทาง และน้ำขึ้นให้รีบตักอย่างรวดเร็ว[1]

พระราชดำรัสบางตอนของรัชกาลที่ 5 ต่อคำขอของนักสำรวจจากฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1880 โดยการนำของ ม. เดลองก์ (M. Deloncle) ชี้ว่าทรงให้ความไว้วางใจต่อข้อเสนอของทางฝรั่งเศส ที่เปิดตัวว่า นาย เดอ เลสเซป รู้เห็นและสนับสนุนอยู่ ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากกว่าอังกฤษ”

เอกสารที่ไกรฤกษ์ นานา ยกมาเป็นหลักฐานในกรณีนี้คือ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส เนื้อหามีดังนี้

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5

ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 1 ว่าด้วยจดหมายถ้อยคำซึ่งมองซิเออร์ฟรังซัว เดอลองก์ กราบบังคมทูลและมีพระราชดำรัสตอบในวันเสาร์ เดือน 7 แรม 9 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244

“เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาบ่าย 1 โมง มองซิเออร์ เลอด็อกเตออาร์มอง กงซุลและคอมมิสแซฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นกรุงเวียตนามทูลเกล้าฯ ถวายแล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มองซิเออร์ เดลอง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว มองซิเออร์เดลอง เข้ามาเฝ้า ผู้ซึ่งอยู่ในโต๊ะที่เสด็จออกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ กงซุลฝรั่งเศสมองซิเออร์ลอยู แต่เจ้าพนักงานกรมท่าและมหาดเล็กเฝ้าอยู่ห่าง แต่พอได้ยินความถนัด มองซิเออร์เดลอง ถวายสำเนาหนังสือซึ่งมองซิเออร์เดอเลสเสปมีมาถึงตัว และหนังสือมองซิเออร์เดลองเอง ทรงทอดพระเนตรแล้ว มองซิเออร์เดลองกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตที่จะขุดคลองในชื่อของมองซิเออร์เดอเลสเสป

ดำรัสว่า การซึ่งจะขุดคลองนี้ ทรงเห็นว่าฝ่ายอังกฤษก็คงจะอยากขุดเหมือนกัน ก็ไม่อยากที่จะให้เป็นการ
ขัดขวางกับอังกฤษ ฝ่ายมองซิเออร์เดอเลสเสปเล่า ก็เป็นคนเคยทำการเห็นปรากฏว่าเป็นคนเคยทำสำเร็จ เราก็ไม่อยากจะขัดขวาง ถ้าการคลองนี้จำเป็นต้องขุดเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์เดอเลสเสปจะเป็นผู้ขุด เราก็จะมีความยินดี ด้วยได้เห็นการที่ทำมาแล้ว แต่การตกลงซึ่งจะทำให้คอนเสสชั่นให้เป็นการตกลงแน่ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะเหตุที่ยังไม่รู้การตลอด ในแผนที่และการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เรา และจะต้องรู้แน่ว่าคอวเวอนเมนต์ต่างๆ ทั้งปวงซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มีอังกฤษซึ่งเป็นผู้มีผลประโยชน์ใหญ่ เป็นต้น ได้เข้าใจดีตกลงพร้อมกัน เพราะเป็นการสำคัญซึ่งเราจะต้องระวังให้เป็นการเรียบร้อยตลอดไป

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า การซึ่งจะพูดกับคอวเวอนเมนต์ต่างประเทศนั้นมองซิเออร์เดอเลสเสปจะรับเป็นธุระพูดจาเอง ไม่ต้องให้ไทยพูด ถึงเมื่อครั้งคลองสุเอซและคลองปานามา เจ้าของก็ไม่พูดจาอันใด มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดทั้งสิ้น

ทรงตอบว่า ดีแล้ว ถ้าดังนั้นให้มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดจาเสียให้ตกลงก่อน จึงค่อยเอาคอนเสสชั่น[1]

ทว่า แม้นว่าฝรั่งเศสจะถือไพ่เหนือกว่าอังกฤษในทุกด้าน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือยังไม่ทรงยินดีที่จะให้สัมปทานในการขุดทันทีทันใด (คอนเสสชั่น = สัมปทาน) จนกว่าจะมีการสำรวจ (เซอร์เวย์) พื้นที่อย่างละเอียดก่อนจึงจะรู้แน่ชัดว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

“ดำรัสถามถึงที่ซึ่งจะขุดและการที่ทำนั้นอย่างไร มองซิเออร์เดลองทูลชี้แจงบ้าง และรวมความลงขอ
พระราชทานคอนเสสชั่น จึงดำรัสว่า การเรื่องที่จะขุดคลองนี้มีข้อขัดขวาง ซึ่งจะยอมให้คอนเสสชั่นไม่ได้เดี๋ยวนี้ 2 ประการ ประการ 1 นั้น ยังไม่ทรงทราบว่าการที่ขุดนั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กันแน่ เพราะที่นั่นยังไม่ได้เซอรเวดู ให้รู้ว่าจะทำยากทำง่ายเป็นประการใด และเรือซึ่งจะมาเดินทางนั้น จะมากน้อยประการใด ก็ยังไม่ได้คิดกะประมาณการเป็นแน่ รวมใจความว่า เมื่อคอวเวอนเมนต์สยามยังไม่ได้พิจารณาการเรื่องนี้โดยละเอียดถ้วนถี่ ให้เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แน่แล้ว จะยอมให้คอนเสสชั่นยังไม่ได้

มองซิเออร์เดลองได้กราบทูลว่า แผนที่และประมาณการเรื่องนี้ เขามีพร้อมที่จะยื่นถวายให้ทราบได้ แต่ซึ่งจะเอาเป็นแน่ละเอียดลออ เมื่อก่อนยังไม่ได้เซอรเวนั้นไม่ได้อยู่เอง มองซิเออร์เดอเลสเสปได้คิดไปว่า เมื่อใดได้คอนเสสชั่นแล้วจึงจะประชุมผู้ซึ่งชำนาญในการเซอรเว มาเซอรเวตรวจการให้ได้โดยละเอียดต่อเมื่อตรวจแล้วเห็นว่าควรจะทำ จึงจะทำได้

จึงดำรัสว่า ส่วนกัมปนีจะต้องตรวจให้เห็นว่าควรทำได้แล้วจึงจะทำ ส่วนเราก็ต้องขอตรวจให้รู้ก่อนว่า ควรจะอนุญาตแล้วจึงจะอนุญาตเหมือนกัน เพราะที่เหล่านี้เป็นที่มีบ่อแร่เป็นต้น และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ของแผ่นดินและของราษฎรอย่างไรบ้าง เราต้องรู้ก่อนที่จะตกลง” [2]

ทีมงานฝรั่งเศสจึงได้เริ่มการสำรวจ เกิดเป็นแผนที่การสำรวจคอคอดกระของนายเดอลองก์ฉบับ ค.ศ. 1881 ภายใต้พระบรมราชานุญาตของรัชกาลที่ 5 ในการนี้ทรงมีหมายรับสั่งให้ทีมงานของทางราชสำนักติดตามไปด้วยเพื่อจะได้เปิดเผยและตรวจสอบได้ แต่บังเอิญผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยดันเป็นคนอังกฤษ แผนงานของพวกฝรั่งเศสจึงไม่ค่อยจะราบรื่นนัก [4]

ยุบโครงการ สู่การปลอบใจทีมงานฝรั่งเศส

แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้ทีมงานชาวฝรั่งเศสสำรวจและจัดทำแผนที่พร้อมผลักดันโครงการดังกล่าว แต่แล้วคนในสมัยนั้นกลับหยุดยั้งแผนขุดคลองกระโดยกะทันหันเสียเอง ประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุของเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา เขียนเล่าการค้นคว้าครั้งใหม่ที่พบว่าผู้เกี่ยวข้องโดยตรงต่างหากที่คัดค้านมิให้แผนการสำเร็จลงได้ไว้ในบทความ “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิกโครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” (คลิกอ่านที่นี่)

เมื่อการยุบโครงการขุดคลองกระโดยกะทันหันทำให้ทีมงานฝรั่งเศสเสียหน้ามิใช่น้อย โครงการขุดคลองปานามาที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกมายังผสมสร้างความปวดร้าวให้ นาย เดอ เลสเซป เป็นอย่างมากอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชบัญชาให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส หาทางรักษาน้ำใจทีมงานชาวฝรั่งเศสเพื่อผดุงมิตรภาพระหว่างกัน ไกรฤกษ์ นานา เล่าถึงแนวทางปฏิบัตินั้นว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเขียนบันทึกว่าเพื่อเป็นการซื้อใจพวกฝรั่งเศส ทางรัฐบาลสยามได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นที่สถานทูตประจำกรุงปารีสเพื่อเรียกขวัญและเป็นกำลังใจให้แก่ทีมงานวิศวกรชาวฝรั่งเศส [8]

โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 1884 (พ.ศ. 2427) นาย เดอ เลสเซป วิศวกรผู้ออกแบบและขุดคลองสุเอซพร้อมด้วยนายเดลองก์ วิศวกรและเพื่อนร่วมงานผู้เสนอโครงการขุดคลองกระและชาวคณะทุกคนมีอาทิ กัปตันเบลลิอง (Captain Bellion) นายดรู (Mr.Léon Dru) และ นายเกรอัง (Mr. Grehan) อดีตกงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในงาน [8]

ในการนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้อ่านสุนทรพจน์กล่าวขอบคุณทีมงานสำรวจคอคอดกระของนายเดลองก์และความสำเร็จของการสำรวจครั้งแรกและข้อมูลที่ได้จากใจจริงของราชสำนักสยาม

ทั้งยังได้อ้างถึงพระพรชัยมงคลและพระราชสดุดีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานมาเป็นพิเศษแก่ นาย เดอ เลสเซป ว่าผลงานจากคลองสุเอซของท่านเป็นผลงานอันโดดเด่นที่น่ายกย่องชื่นชม และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

พระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของพระราชอาณาจักรแห่งเอเชียตระหนักถึงความสำเร็จและคุณูปการของ นาย เดอ เลสเซป จึงได้ถือโอกาสนี้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งแห่งกรุงสยามนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม” ชั้นสูงสุด (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยมีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ นาย เดอ เลสเซป ได้รับพระราชทานมีนามว่า Knight Commander of the Crown of Siam (Grand Cross of the Most Honourable Order of the Crown of Siam) ให้ นาย เดอ เลสเซป เป็นเกียรติยศด้วย[9]

โครงการขุดคอคอดกระในสมัยกาลที่ 5 ยุติลงโดยสันติวิธีใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) และไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกอีกเลยจนตลอดรัชกาล[2]…”

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “ตะลึง! Blue Print คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนที่ 1 ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงยอมให้ฝรั่งเศสสำรวจเมืองไทย,” ใน หน้าหนึ่งสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2556.

[2] ___________. “ตะลึง! Blue Print คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนจบ ระทึกเหตุที่โครงการถูกยุบ,” ใน หน้าหนึ่งสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2556.

[4] แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. ประวัติการทหารเรือไทย. โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, 2509.

[8] Comte A. Mahé de la Bourdonnais. A French Engineer in Burma and Siam (1880). White Lotus, 2003.

[9] Manich Jumsai, M.L. Prince Prisdang’s Files on His Diplomatic Activities in Europe, 1880-1886. Chalermnit, 1977.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2564