“มหาชัย” ชื่อคลอง-ตำบลในสมุทรสาคร เกี่ยวอะไรกับพระเจ้าเสือ-พระเจ้าท้ายสระ?

มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
บริเวณสถานีรถไฟมหาชัย (ภาพจาก “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง” )

“มหาชัย” ชื่อคลองและชื่อตำบลใน จังหวัดสมุทรสาคร เกี่ยวอะไรกับ “พระเจ้าเสือ” และ “พระเจ้าท้ายสระ” ?

“มหาชัย” นอกจากจะเป็นชื่อตําบลหนึ่งในอําเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและค้าขาย มหาชัยยังเป็นชื่อ “คลอง” ซึ่งเป็นคลองขุดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ รับสั่งให้ขุดขึ้น เพื่อลดความคดเคี้ยวของ “คลองโคกขาม” ที่ พันท้ายนรสิงห์(?) แสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างซื่อตรง และจงรักภักดีด้วยชีวิตอย่างที่ทราบกันทั่วไป

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า “คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรจะขุดให้ลัดตัดตรงจึงจะชอบ…แล้วมีพระราชโองการตรัสสั่งพระสมุหนายกให้เกณฑ์เลกหัวเมือง 30,000 ไปขุดคลองโคกขามและให้ขุดลัดให้ตรงตลอดไป โดยลึกหกศอก ปากคลองกว้างแปดศอก พื้นคลองกว้างสามวา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กองคุมพล…”

แรงงาน 30,000 คนข้างต้น เกณฑ์มาจากเมืองนนทบุรี, เมืองธนบุรี, เมืองนครไชยศรี, เมืองสาครบุรี (สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสมุทรสาคร”) เมืองสมุทรสงคราม, เมืองเพชรบุรี, เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการ เริ่มขุดในปี 2248 ถึงปี 2251 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะ พระเจ้าเสือ เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ปี 2264 พระเจ้าท้ายสระ เสด็จประพาสปากอ่าวสาครบุรี (ปากแม่น้ำท่าจีน) ทอดพระเนตรเห็นคลองที่ขุดยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีรับสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกองเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ 8 หัวเมือง ขุดต่อให้แล้วเสร็จ พระราชสงครามเกณฑ์ไพร่พลได้ 30,000 กว่าคน โดยให้ฝรั่งส่องกล้องให้ตรงกับแนวปากคลอง ขุดเป็นระยะทางยาวประมาณ 340 เส้น ใช้เวลาขุดประมาณ 2 เดือน เมื่อขุดเสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “คลองมหาชัย”

คลองมหาชัย ก็เป็นเส้นทางคมนาคมในการศึกสงคราม, การค้า และเชื่อมเมืองหลวงกับหัวเมืองตะวันตกเรื่อยมา

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ก็ทรงใช้คลองมหาชัยและเมืองสาครบุรี เป็นเส้นทางเดินทัพของพระองค์ คราวรบกับพม่าที่บางกุ้ง ในปี 2310

ในรัชกาลที่ 1 เมื่อปี 2329 พม่ายกทัพเข้ามาที่ด่านเจดีย์ 3 องค์ รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปตั้งรับ พระองค์ทรงจัดขบวนทัพเรือเป็นทัพหลวง เส้นทางทัพพอสรุปได้ดังนี้ ผ่านคลองมหาชัยไปแม่กลองราชบุรี ถึงไทรโยค แล้วจัดทัพบกทัพหลวงตีพม่าที่ท่าดินแดง ซึ่งในนิราศท่าดินแดงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

ครั้นถึงโขลนทวารยิ่งลานแล   ให้หวาดแหวอารมณ์ดังจะล้มไข้
จนลุล่วงคลองมหาชัย   ย่านไกลสุดสายนัยน์ตาแล
เหมือนอกเราที่นิรามาทุเรศ   เหลือสังเกตมุ่งหามาห่างแห
ระกำเดียวเปลี่ยวดิ้นฤดีแด   จนล่วงกระแสสาครบุรีไป

[เน้นโดยผู้เขียน]

สมัยรัชกาลที่ 2 เกิดศึกพม่ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาราชเสนานุรักษ์ เสด็จไปราชการสงคราม ครั้งนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กหุ้มแพรโดยเสด็จราชการทัพด้วย ได้แต่งนิราศนรินทร์กล่าวถึงจังหวัดสมุทรสาครและคลองมหาชัย ตอนหนึ่งว่า

โคกขามดอนโคกคล้าย   สัณฐาน
ขามรุ่นริมธารสนาน   สนุกนี้
พูนเพียงโคกฟ้าลาน   แลโลก ลิ่วแม่
ถนัดหนึ่งโคกขามชี้   เล่ห์ให้เรียมเห็น

……..

มหาชัยชัยฤกษ์น้อง   นาฏลง โรงฤา
รับร่วมพุทธมนต์สงฆ์   เสกซ้อม
เสียดเศียรแม่ทัดมง-   คลคู่ เรียมเอย
ชเยศชุมญาติห้อม   มอบให้สองสม

[เน้นโดยผู้เขียน]

ปี 2371 รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างป้อมที่ปากคลองมหาชัย เนื่องจากเกิดข้อพิพาทกับญวนเรื่องเจ้าอนุวงศ์ ทรงเกรงว่าญวนจะยกกำลังทางเรือมารุกราน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า

“ที่เมืองสาครบุรีก็โปรดให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ไปทำป้อมที่ทางร่วมริมปากคลองมหาชัยป้อม 1 ครั้นแล้วโปรดให้ชื่อป้อมวิเชียรโชฏก ค่าแรงจีนถือปูนเงิน 47 ชั่ง 15 ตำลึง 3 บาท 2 สลึง 1 เฟื้อง” [เน้นโดยผู้เขียน]

ปัจจุบัน ตัวเมืองสมุทรสาครซึ่งอยู่ริมฝั่งซ้ายของคลองมหาชัยเจริญขึ้น ประชาชนจึงนิยมเรียก จังหวัดสมุทรสาคร ว่า “มหาชัย” ตามชื่อคลองมหาชัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศษสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรสาคร, จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2563