ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณรัชกาลที่ 3) ความคิดเรื่องขุด “คอคอดกระ” เกิดเป็นกระแสขึ้น เริ่มจากชาวอังกฤษก่อน โดยนักสำรวจชาวอังกฤษ หลายคนของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เสนอแนวคิดที่จะหาผลประโยชน์ทางด้านการเดินเรือและเศรษฐกิจของ “อังกฤษ” แต่กัปตันทรีเมนเฮียร์ (Captain G. B. Tremenhere) วิศวกรชาวอังกฤษกลับโต้แย้งว่า การขุดคอคอดกระทำได้ยาก เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหินแข็งพาดผ่านภูเขาหลายลูก ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการขุดเจาะและกินเวลายาวนาน
ต่อมา นายไรลีย์ (O. Riley) ผู้แทนข้าหลวงอังกฤษเมืองพะโคได้เข้ามาสำรวจคอคอดกระ ใน พ.ศ. 2392 (ค.ศ. 1849) และได้เสนอให้ขุดคลองเชื่อมสาขาของแม่น้ำปากจั่นเข้ากับแม่น้ำชุมพรเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ภูเขาพร้อมกับรายงานว่า พื้นที่ดังกล่าวอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด เช่น ดีบุก ถ่านหิน ฯลฯ รายงานดังกล่าวทำให้บริเวณคอคอดกระได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และชาวอังกฤษพยายามที่จะครอบครองมันก่อนคู่แข่งอื่น ๆ จากยุโรปเพราะรู้ความตื้นลึกหนาบางของภูมิภาคนี้ดี
กัปตันริชาร์ด (Captain Richard) เป็นชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งที่เข้ามาสำรวจอีกครั้งใน พ.ศ. 2399 และเป็นอีกผู้หนึ่งที่กระตุ้นให้รัฐบาลของตนเห็นความสำคัญของ คอคอดกระ เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้ารัชกาลที่ 4 ของไทย หมายถึงก่อนหน้า พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) นั้นเป้าหมายของทางรัฐบาลอังกฤษยังมี เหตุผลทางเศรษฐกิจอยู่เหนือเหตุผลทางการเมือง แต่เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 4 แล้วสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เพราะ 1. อังกฤษ เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับฝรั่งมากขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน ๆ และทรงเกรงใจอังกฤษมากกว่าชาติใด ๆ และ 2. ทรงเชื้อเชิญให้ฝรั่งทุกชาติเข้ามาติดต่อทำสัญญากับสยามอย่างจริงจัง อังกฤษจึงเสนอแนวคิดแบบจู่โจมเรื่องคอคอดกระเพื่อความได้เปรียบก่อนฝรั่งชาติอื่น เหตุผลของอังกฤษเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุผลทางการเมืองเหนือเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยได้จัดส่ง นายไวส์ (Mr. H. Wise) แห่งบริษัทลอยด์ (Lloyd Company) เข้ามาเร่งรัดเพราะเห็นว่าคลองนี้จะส่งเสริมแสนยานุภาพของอังกฤษ
ดังนั้น หากพิเคราะห์ดี ๆ ก็จะพบว่า เป้าหมายสูงสุดของโครงการขุดคอคอดกระนั้นมิใช่ความต้องการของราชสำนักไทยเลย แต่เป็นแรงกดดันและความต้องการของชาติมหาอำนาจจากตะวันตก ที่มีปัจจัยด้านผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจล่อใจอยู่ตั้งแต่ต้น
อังกฤษเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่จู่โจมเข้ามาออกตัวว่าสนใจที่จะขุดคอคอดกระ โดยยกแม่น้ำทั้งห้ามาให้รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์คลองลัดนี้ที่จะมีต่อการค้าและการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้พระองค์และประเทศสยามเป็นที่ปรากฏตามนโยบายเปิดประเทศของพระองค์
นายไวส์ตัวแทนห้างลอยด์แห่งลอนดอนได้เขียนจดหมายเสนอตัวเข้ามาถวายคำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2402 (ค.ศ. 1859) ซึ่งนับว่าเป็นจดหมายทางการฉบับแรกต่อรัฐบาลสยามเกี่ยวกับโครงการนี้
“ถวาย โยสมายิศตี พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระองค์เอกข้าพเจ้าได้มียศ เมื่อราชทูตของพระองค์ออกไปอยู่ที่เมืองอังกฤษ ความคิดของบริติชกาวแมนต์ ถึงเรื่องอันจะทำคลองทางเรือเดินทะเลแหลมเมืองกระ เพื่อจะให้ทางเมล์ถึงเมืองจีนสั้นเข้า ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวด้วยความยินดีเป็นอันมากว่า โยสมายิศตีมีพระทัยเห็นดีด้วยอย่างนั้น ซึ่งจะให้บ้านเมืองของพระองค์มาชิดใกล้เข้ากับอินเดียและยุโรป แต่บัดนี้ดูเหมือนเพราะราคามาก ที่คาดเป็นค่าที่ทำคลองเดินเรือนั้น คนมีทุนไม่มีใจจะจับแล่นเข้าในการสำคัญนั้น แต่เป็นที่คิดอยู่ว่าทางเล็กจะได้ตลอดแหลมนั้น ถ้าโยสมายิศตีพระองค์จะช่วยสงเคราะห์ในการอันนั้นเป็นอันมาก
ใต้อำนาจการเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้ากล้าวางใจว่า โยสมายิศตีพระองค์จะยกโทษซึ่งข้าพเจ้าแต่งเรื่องราวฝากมาถึงพระองค์ ด้วยเห็นแก่พวกที่คิดจะตั้งตัวขึ้นด้วยชื่อสยามเรลเวลกัมปนีเพื่อจะได้รู้ว่าเพียงไหนการซึ่งจะตั้งขึ้นเป็นที่ถูกพระทัยและเพียงไหน โยสมายิศตีพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วย จะพระราชทานให้แผ่นดิน หรือจะโปรดให้มีคนทำหรือประการใด
มีความคิดแทรกเข้ามาว่า โยสมายิศตีพระองค์จะไม่ขัดขวาง แต่จะพระราชทานให้แก่เจ้าพนักงานกัมปนีเป็นนิจ คิดเอาราคาแผ่นดินประมาณสัก 5 ไมล์หรือสักโยชน์หนึ่งทั้งสองข้างทางเล็กนั้น ให้เขามีอำนาจสำเร็จ จะบังคับพื้นแผ่นดินและการแร่ในแผ่นดินนั้นด้วย เมื่อจะให้เจ้าพนักงานกัมปนีนั้นมีกำลังเกลี้ยกล่อมเก็บเงินให้สมแก่การนั้นด้วยเร็วมิให้เนิ่นช้า
ฝ่ายหนึ่งเล่า ถ้าโยสมายิศตีพระองค์จะต้องพระราชประสงค์การแห่งพวกแอนไชนีย์ของกัมปนีนั้นได้มาช่วยทำทางเล็กใกล้เคียงกันกับกรุงเทพฯ นั้น และเวลาใดจะมีความปรารถนาอยากจะได้อินจเนียอย่างเอกและแท่งเหล็กอันเตรียมเป็นสำรับแล้ว ข้าพเจ้าจะวางใจแน่ว่าต้องพระราชประสงค์ในการนี้หรือการอื่นจะถูกรับด้วยความคิดอันเป็นที่ไว้วางใจ ว่าเรื่องความนี้จะได้ยกเป็นเรื่องอันโยสมายิศตีพระองค์ได้คิดทำความสัญญาตามธรรมเนียมอย่างนอกเป็นความ 10 ข้อ กับหนังสือซึ่งจะตอบออกไปถึงมิศแหนรไวมีความแจ้งอยู่ในนี้ แล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”
รัชกาลที่ 4 ไม่แน่พระราชหฤทัยถึงความมุ่งหมายที่แท้จริงของอังกฤษจึงมิได้ตัดสินพระราชหฤทัยทันทีทันใด เดชะบุญที่ในระยะนั้นอังกฤษยังหาผู้ลงทุนไม่ได้ ทำให้แผนของอังกฤษชะงักไปชั่วคราว
แต่แม้นว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงสามารถถ่วงเวลามิให้พวกอังกฤษที่ชอบทำเป็นเจ้ากี้เจ้าการเข้ามาขุดคลอง แต่การเร่งเร้าของอังกฤษก็มิได้หมดสิ้นไป กลับปรากฏชัดยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อพวกฝรั่งเศสพุ่งความสนใจมายังคอคอดกระเช่นกัน ภายหลังประสบความสำเร็จจากการขุดคลองสุเอซเชื่อมยุโรปและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้ชื่อเสียงและเทคโนโลยีของฝรั่งเศสแซงหน้าอังกฤษ และเป็นตัวแปรใหม่ที่สร้างความหนักใจให้ไทย
ชาวฝรั่งเศสกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่สร้างความหวาดระแวงไม่เฉพาะกับไทยเท่านั้นแต่กับอังกฤษด้วย เพราะฝรั่งเศสเพิ่งจะมีผลงานมาสด ๆ ร้อน ๆ จากคลองสุเอซที่พิสูจน์ว่าคุ้มค่าคุ้มเวลากับผืนดินที่ขุดออกไป
พวกฝรั่งเศสมีประสบการณ์ขุดคลองมากกว่าอังกฤษ ได้วางแผนแม่บท และตั้งชื่อคลองใหม่อย่างเพราะพริ้งว่า คลองกระ (Kra Isthmus) แต่บางทีก็เรียกว่าคลองตระ ล้วนแต่เป็นคลองเดียวกัน ความคิดของฝรั่งเศสในเรื่องขุดคลองกระเป็นที่เลื่องลือวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าไทยถูกฝรั่งเศสบังคับ บ้างก็ว่าไทยจะใช้ฝรั่งเศสถ่วงดุลอำนาจอังกฤษ บ้างก็ว่าไทยสนับสนุนฝรั่งเศส เพราะมีผลงานขุดคลองสุเอซมาแล้ว
ทว่า นักประวัติศาสตร์ไทยกลับไม่เชื่อเรื่องพวกนั้นเลย คิดแต่ว่า 1. ไม่ว่าฝรั่งเศสหรืออังกฤษได้สัมปทานไทยก็จะเสียดินแดนทางภาคใต้ (แหลมมลายู) ไปอย่างแน่นอน และ 2. ถ้าฝรั่งเศสได้สัมปทานอังกฤษก็ต้องไม่พอใจ เพราะนอกจากจะเสียเพื่อนแล้วยังหมายความว่า ไทยจงใจทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์ทางการค้า เพราะจะไม่มีเรือลงไปค้าขายที่เกาะหมาก (ปีนัง) และสิงคโปร์อีกเนื่องจากเรือหันมาใช้คลองกระ
ทว่า ที่จริงแล้วไทยไม่สนับสนุนทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ข่าวลือนี้กลับทำให้ไทยเสียหาย เพราะอังกฤษต้องพาลเชื่อว่าไทยสนับสนุนฝรั่งเศสอย่างแน่นอน
อ่าน “‘คลองกระ’ (คอคอดกระ) เรื่องล่อแหลมด้านความมั่นคงสมัย ร.4 ไฉนเปลี่ยนใจสมัย ร.5” (คลิก)
อ่านเพิ่มเติม :
- คอคอดกระ-โครงการอมตะนิรันดร์กาลตั้งแต่สมัยพระรายณ์ที่ไม่ได้ลงมือสักที
- ทีมผู้ขุด “คลองสุเอซ” จากฝรั่งเศส เกือบมาขุดคลองโครงการยักษ์ของไทยสมัยร.5
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิก โครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” เขียนโดยไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2566