“คอคอดกระ”โครงการอมตะนิรันดร์กาลตั้งแต่สมัย “พระนารายณ์” ที่ไม่ได้ลงมือสักที

แผนที่ แผนภูมิ คอคอดกระ นายเอดลองก์ วิศวกร ชาวฝรั่งเศส
แผนที่ต้นแบบและแผนภูมิคอคอดกระ ฉบับนายเอดลองก์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สำรวจคอคอดกระอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2424

รู้หรือไม่ โครงการขุด “คอคอดกระ” เพื่อเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เป็นหนึ่งในโครงการอมตะนิรันดร์กาล ที่มีความคิดจะสร้างครั้งแรกเมื่อ 300 กว่าปีก่อน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดิน “สมเด็จพระนารายณ์” แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากกว่าการสำรวจ ที่จบลงด้วยการยุติ และล้มเลิก

โครงการขุดคอคอดกระมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) เคยมีพระราชดำริขุดคลองเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เพื่อรองรับการเดินเรือไปมาระหว่างกรุงศรีอยุธยาและประเทศตะวันตก (โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส) แทนที่จะต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมักถูกโจรสลัดดักปล้น นักเดินเรือก็จะเลี่ยงไปใช้เส้นทางลัดทางบก ข้ามคาบสมุทรมลายู ตรง “คอคอดกระ” หรือบริเวณใกล้เคียงแทน

รัชกาลที่ 1 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระราชดำริการขุดคลองลัดเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามันไว้ใน “เพลงยาวนิราศ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปตีเมืองพม่า พ.ศ. 2336” ตอนหนึ่งที่ว่า

จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา เป็นทัพหน้านาวายกไป

ตามทางทะเลไปสงขลา จะขุดพสุธาเป็นคลองใหญ่

ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร ปากใต้ฝ่ายทะเลให้พร้อมกัน

จึงจะยกไปตีเอามะริด จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]

รัชกาลที่ 3 ทรงมีความคิดขุด “คอคอดกระ” โดยนักสำรวจชาวอังกฤษจากบริษัทอินเดียตะวันออก เสนอแนวคิดเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเดินเรือ และเศรษฐกิจของอังกฤษ แต่กัปตันทรีเมนเฮียร์ (Captain G. B. Tremenhere) วิศวกรชาวอังกฤษแย้งว่า การขุดคอคอดกระทำได้ยาก เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหินแข็งพาดผ่านภูเขาหลายลูก ทั้งติดขัดเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และปัญหาเรื่องโครงสร้างธรณีวิทยาของพื้นที่

รัชกาลที่ 4 อังกฤษได้ทูลขอขุดคอคอดกระแนวระนองหลังสวน พระองค์ก็มีพระบรมราชานุญาต แต่โครงการยุติ เพราะปัญหาเดิมคือขาดเงินทุน และเทคโนโลยีในการดำเนินการ ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสทูลขอขุดคอคอดกระหลังจากประสบความสำเร็จในการขุดคลองสุเอซสำเร็จ แต่ครั้งนี้ไม่ทรงอนุญาต เนื่องจากเกรงจะเสียพระราชอาณาจักร

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นายเดอลองก์ (M. Francois Deloncle) วิศวกรชาวฝรั่งเศสสำรวจคอคอดกระอย่างเป็นทางการ จนมีข้อมูลทำแผนที่คอคอดกระตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2424 แต่ก็ยังคงไม่ได้ขุด

รัชกาลที่ 8 ในช่วงรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.ศ. 2478 นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รื้อฟื้นโครงการคลองกระอีกครั้ง โดยพิจารณาว่า เพื่อให้สยามจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือคลองกระ ไม่ควรพึ่งพาต่างชาติ จึงต้องเป็นผู้ลงทุนดำเนินการเอง แต่ขณะนั้นประเทศมีเงินทุนไม่เพียงพอ โครงการคลองกระจึงต้องระงับไปอีกครั้ง

รัชกาลที่ 9 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) ยุติ สยามต้องลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษใน พ.ศ. 2489 โดยเงื่อนไขหนึ่งในข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า “ห้ามไทยขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย หากมิได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษ” ซึ่งยืนยันความสำคัญของคลองกระต่อแหลมมลายู (ความตกลงสมบูรณ์แบบนี้ยกเลิกใน พ.ศ. 2493)

พ.ศ. 2503 นายเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ในนามบริษัทแหลมทองพัฒนา จำกัด เสนอรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขออนุญาตทำการศึกษากิจการคลองกระและท่าเรือ คณะรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอ แต่ใน พ.ศ. 2507 สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้สั่งระงับการดำเนินการ ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง เพราะมีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ บริษัทเสนอโครงการขุดคลองโดยแนบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐบาลพิจารณาใน พ.ศ. 2516 แต่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ขึ้นเสียก่อน โครงการจึงระงับไป

สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ พลโท หาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2524-2526) เสนอให้มีการทบทวนโครงการขุดคลองกระ เพื่อสร้างความเจริญแก่พื้นที่ภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นศึกษาโครงการขุดคลองกระ แต่ได้มีการยุบสภาเสียก่อน

พ.ศ. 2529 รัฐบาลเปรม 2 ดำเนินการโครงการขุดคอคอดกระใหม่ มีประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาขอเป็นผู้ลงทุนขุดคอคอดกระ แต่ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ หัวหน้ากลุ่มนักวิชาการ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้ โดยทำรายงานให้การขุดคอคอดกระเป็นโครงการความร่วมมือในระดับคาบสมุทร โดยเฉพาะในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี แต่ต้องดำเนินการโดยคนไทยและประเทศเป็นหลักสำคัญ และเปลี่ยนชื่อจากโครงการเป็น “โครงการพัฒนาคาบสมุทรแหลมทอง” ซึ่งก้าวหน้าด้วยดี มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐไปศึกษาดูงานคลองสุเอซ และคลองปานามา ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ในโครงการขุดคอคอดกระ แต่เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ ลดค่าเงินบาท ทำให้เกิดปัญหาเงินลงทุน โครงการจึงหยุดชะงักไป

พ.ศ. 2544 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสิงห์บุรี เสนอโครงการขุดคลองคอดกระ และได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ใช้ชื่อว่า “คลองไทย” แต่เกิดการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 โครงการจึงยกเลิกไป

ถึงวันนี้ “คอคอดกระ” ก็ยังเป็นโครงการวาดฝันในอากาศ

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 28 สิงหาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 2 พฤศจิกายน 2564