ตำนาน “พันท้ายนรสิงห์” กับกำเนิด “คลองมหาชัย” เรื่องแต่งให้ร้ายพระเจ้าเสือ?

พระเจ้าเสือ สั่ง ประหาร พันท้ายนรสิงห์ ตำนาน กำเนิด คลองมหาชัย
ภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา บันทึกเรื่องราวคล้ายตำนานหรือนิทานของ “พันท้ายนรสิงห์” ในแผ่นดิน พระเจ้าเสือ (เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเพทราชาระหว่าง พ.ศ. 2245-2251) ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2247 (จุลศักราช 1066 ปีวอก ฉศก) สมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัยจะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี

“ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม แลคลองที่นั่นคดเคี้ยวนัก แลพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที แลศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงไปในน้ำ” [1]

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่คัดมาจาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ …

Advertisement

พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง แลขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า พระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้า กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นมาบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทอัยการเถิด”

จึ่งมีราชโองการตรัสว่า “ไอ้พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้นก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้น กูจะทำต่อเอาใหม่แล้ว เอ็งอย่าวิตกเลย”

พันท้ายนรสิงห์จึ่งกราบทูลว่า “ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า มิได้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป แลซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ดูมิบังควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ และพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ถึงแก่มรณะโทษนี้เลย จงพระอาลัยถึงพระราชประเพณี อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า

อันพระราชกำหนดมีมาแต่โบราณนั้นว่า ถ้าแลพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าผู้นั้นถึงมรณะโทษ ให้ตัดศีรษะเสีย แลพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสีย ตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด”

จึ่งมีพระราชดำรัสให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้นแล้ว ก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่า “ไอ้พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายแล้วนั้น กูประหารชีวิตเอ็งเสียพอเป็นเหตุแทนตัวเอ็งแล้ว เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกับกูเถิด”

พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้น ก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวว่าจะเสียพระราชกำหนดโดยขนบธรรมเนียมโบราณไป เกรงคนทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตของตนมิได้อาลัย จึ่งกราบทูลว่า

“ขอพระราชซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าครั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าซึ่งตัดศีรษะรูปดินแทนตัวข้าพระพุทธเจ้าดังนี้ ดูทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรด ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้า โดยฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมในพระราชกำหนดเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลฝากบุตรภรรยา แล้วก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณะยถาโทษอันทราบทูลไว้นั้น”

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัสวิงวอนไปหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยอมอยู่

พระเจ้าเสือ กับ พันท้ายนรสิงห์
“พระเจ้าเสือ” กับ “พันท้ายนรสิงห์” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาการุญภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึ่งดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงประมาณเพียงตา แลให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์ กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมือสาครบุรี แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร

แล้วศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขาม ก็มีปรากฏมาตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์แล้ว พระราชพงศาวดารบันทึกเอาไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือ “ก็ทรงดำริว่า ณ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวมาก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึงจะชอบ”

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเกือบทุกฉบับกล่าวทำนองเดียวกันว่า หลังจากแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงพันท้ายนรสิงห์เรียบร้อยแล้ว “มีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้กะเกณฑ์เลขหัวเมืองให้ได้สามหมื่นไปขุดคลองโคกขาม และให้ขุดลัดตัดให้ตรงตลอดไปโดยลึกหกศอก ปากคลองกว้างแปดวา พื้นคลองกว้างห้าวา และให้พระราชสงครามเป็นแม่กองคุมพลหัวเมืองทั้งปวงขุดคลองจนแล้วสำเร็จดุจพระราชกำหนด”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเจ้าเสือยังทรงมีพระราชดำริอีกว่า “แลครั้งนี้เราจะขุดคลองโคกขามให้เป็นเกียรติยศไว้ตราบเท่ากัลปาวสาน ซึ่งเจ้าพระยาจักรีก็เกณฑ์เอาเลขหัวเมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสมุทรปราการ ได้พลหัวเมืองทั้งปวงนั้นสามหมื่นเศษ มอบให้พระราชสงครามผู้เป็นนายกอง และพระราชสงครามก็กราบถวายบังคมลาถือพลหัวเมืองทั้งปวงทำการขุดคลองโคกขาม

แลที่ซึ่งจะขุดไปทะลุออกแม่น้ำเมืองสาครบุรีนั้นให้รังวัดได้ทางไกล ๓๔๐ เส้น แลให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางให้ตรงแล้ว จึงให้ปักกรุยหน้าที่กันขุดตามหมวดตามกอง แลปันหน้าที่ให้ขุดคนหนึ่ง โดยยาวคืบหนึ่งกว้างลึกนั้นโดยขนาดคลอง”

หนังสือพระราชพงศาวดารระบุว่า เริ่มลงมือขุดคลองเมื่อ พ.ศ. 2248 (ตรงกับจุลศักราช 1067 ปีระกา สัปตศก) แต่ยังขุดไม่เสร็จก็เสด็จสวรรคต

ภายหลัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนแล้ว พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเบ็ดที่ปากน้ำท่าจีน

“เมื่อไปถึง คลองมหาชัย เห็นคลองนั้นขุดยังไม่แล้วค้างอยู่ ครั้นทรงเบ็ดแล้ว กลับคืนมาถึงพระนคร จึ่งทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกอง ให้กะเกณฑ์คนหัวเมืองปากใต้แปดหัวเมืองให้ได้คนสามหมื่นเศษ สี่หมื่นไปขุดคลองมหาชัย”

นี่เป็นเหตุการณ์ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2264 (ตรงกับจุลศักราช 1083 ปัฉลู ตรีศก)

ครั้งถึงที่จะขุดคลองมหาชัย พระราชสงคราม “จึ่งให้ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้วดูให้ตรงปากคลอง” ระยะทางทั้งหมด 340 เส้น ขุดไปเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าเสือเพียง 6 เส้นเศษ ๆ จึงเหลือระยะทางอีกมากซึ่งต้องใช้ “คนสามหมื่นเศษขุดสองเดือนเศษจึ่งแล้ว”

พระราชพงศาวดารเขียนไว้อีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปีติปราโมทย์เป็นอันมาก “จึ่งตั้งพระราชสงครามให้เป็นพระยาราชสงคราม…คลองนั้นชื่อคลองมหาชัยมาตราบเท่าทุกวันนี้” [2]

ที่นำมาเสนอทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยมีจุดเริ่มต้นเกี่ยวข้องกับ การเสด็จประพาสทรงเบ็ด และ พันท้ายนรสิงห์

ข้อความในพระราชพงศาวดารตามที่คัดมานั้นล้วน “แต่ง” ขึ้นภายหลังเหตุการณ์จริงประมาณ 100 ปี โดยการรวบรวมและเรียบเรียงมาจากที่ต่าง ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผู้แต่งเพิ่มเติมรายละเอียดขึ้นเองบ้าง

ดังนั้น ที่จะพากันเชื่อถือทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารตอนนี้จึงออกจะอันตราย แต่ก็ไม่อาจละเลยสาระสำคัญที่สอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดได้

หนทางที่ดีก็คือจะต้องพิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง

“พระเจ้าเสือ” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์”
“พระเจ้าเสือ” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์”

ยกตัวอย่างกรณีสมเด็จพระเจ้าเสือ ที่มักจะมีเรื่องราวกล่าวขวัญพาดพิงไปในทางเสียหาย จนดูราวกับว่ามิได้เอาพระทัยใส่ใจกิจการบริหารราชอาณาจักร ดังจะเห็นว่า แม้เรื่อง “คลองมหาชัย” ก็เนื่องมาจาก “บังเอิญ” เสด็จประพาสทรงเบ็ด ทั้ง ๆ ที่ความจริงจะเป็นเช่นไรก็ยังมิได้มีการตรวจสอบอย่างถ่องแท้

แต่ถ้าหากพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในสมัยนั้นแล้วก็จะเห็นว่า การขุดซ่อมคลองอย่างนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ที่เสด็จไปทรงเบ็ด แต่ควรจะต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีมาก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของราชอาณาจักร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ : 2515 : หน้า 567-577.

[2] แหล่งเดิม. หน้า 595


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เศรษฐกิจการเมืองของพระเจ้าเสือและ ‘พันท้ายนรสิงห์’” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2532 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2566