ศรีปราชญ์-พันท้ายนรสิงห์ ขุนนางคนโปรด “พระเจ้าเสือ” กับโทษประหารชีวิตแบบกรุงศรีฯ

พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ ภาพยนตร์ พีเรียด สมัย อยุธยา
“พระเจ้าเสือ” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

“ศรีปราชญ์” และ “พันท้ายนรสิงห์” มีตัวตนจริงในรัชสมัย “พระเจ้าเสือ” หรือไม่? สำหรับในที่นี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่าเรื่องของทั้งสองบอกอะไรแก่เราได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการประหารชีวิตแบบกรุงศรีๆ

ในแง่หลักฐาน, “ศรีปราชญ์” ไม่ปรากฏเรื่องในพระราชพงศาวดาร แต่ปรากฏในเอกสาร “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

“ดาบนี้คืนสนอง”

“คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่าศรีปราชญ์เป็นนักเลงกลอนคนโปรดของพระเจ้าเสือ (ไม่ใช่พระนารายณ์)  วันหนึ่งกระทำความผิดจากการแต่งโคลงส่งให้พระสนม พระเจ้าเสือทรงกริ้ว แต่ไม่ประหาร “ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เปนพหุสูตฉลาดในบทกลอน แลมิได้คิดร้ายอย่างร้ายแรงอะไร” [1] จึงให้เนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช แต่ที่นครก็เกิดเรื่องขึ้นอีกว่าไปแต่งโคลงส่งให้ภรรยาของเจ้านคร เจ้านครโกรธให้นำตัวไปประหารชีวิต

“พระเจ้าเสือ” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์”

“คำให้การชาวกรุงเก่า” ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนการประหารจะเกิดขึ้น ขุนนางชาวเมืองนครและบรรดาคนที่ชอบพอกับเจ้านคร ต่างห้ามปรามว่า “ท่านอย่าให้ฆ่าศรีปราชญ์เสียเลย จะเกิดเหตุใหญ่ แต่เมื่อศรีปราชญ์ยังอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาลอบให้เพลงยาวแก่นางนักสนม พระเจ้าแผ่นดินๆ จับได้ยังไม่ให้ประหารชีวิตร ด้วยทรงพระอาไลยว่าเปนคนฉลาดในการแต่ง เพียงแต่ให้เนรเทศมาชั่วคราว ถ้าท่านฆ่าศรีปราชญ์เสีย เห็นว่าจะมีความผิดเปนแน่” [2] แต่เจ้านครก็หาได้ฟังไม่ ยังคงยืนกรานให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต แต่ก่อนตายศรีปราชญ์ได้ประกาศแก่เทพยดาแช่งว่า “ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด” [3]

ส่วนเอกสาร “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ก็มีเนื้อความโดยมากตรงกัน ต่างกันบ้างก็ตรงที่ไม่ได้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุตรของพระโหราธิบดี (เหมือนคำให้การชาวกรุงเก่า) [4] ระบุเพียงเป็นมหาดเล็กในราชสำนักสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) อีกทั้ง “ศรีปราชญ์” เป็นนามพระราชทานแก่ผู้ชำนาญทางการแต่งโคลง ไม่ใช่นามบุคคล เช่นว่า “อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น พระองค์พอพระทัยเล่นกาพย์โคลงฉันท์  ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ดี จึงมีมหาดเล็กคนหนึ่งเป็นนักปราชญ์ ช่างทำกาพย์โคลงฉันท์ดีนัก  พระองค์โปรดปรานแล้วพระราชทานชื่อเสียงเรียกว่า ศรีปราชญ์” [5]

เกี่ยวกับถ้อยคำทิ้งท้ายก่อนถูกประหาร “คำให้ขุนหลวงหาวัด” กล่าวตรงกับ “คำให้การชาวกรุงเก่า” แต่มีข้อความยืดยาวขึ้นหน่อยตรงที่ระบุว่า “เมื่อจักฆ่าศรีปราชญ์นั้น ศรีปราชญ์จึงว่าเรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด” [6]

และชะตากรรมของเจ้านครหลังประหารศรีปราชญ์ เอกสารทั้งสอง (ซึ่งมาจากคำให้สัมภาษณ์คนละคนกัน) ก็ระบุตรงกันอีกว่า ภายหลังเมื่อพระเจ้าเสือทรงหายกริ้ว รับสั่งให้ตามตัวศรีปราชญ์กลับมาจากนครศรีธรรมราช เมื่อทรงทราบว่าศรีปราชญ์ถูกเจ้านครประหารชีวิตเสียแล้ว ก็ทรงพิโรธรับสั่งให้จับกุมตัวเจ้านคร แล้วประหารด้วยดาบเดียวกับที่ประหารศรีปราชญ์

ตามนี้ความไม่พอใจของศรีปราชญ์ต่อโทษประหาร ก็คือความคิดที่ว่าตนเป็นคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดินที่เมืองหลวง ทำผิดอย่างเดียวกันที่เมืองหลวง พระเจ้าแผ่นดินยังไม่ประหาร แต่เจ้านครเป็นเพียงเจ้าเมืองทางใต้กลับมาสั่งประหารตน สรุปคือผู้เล่าคำให้การได้ตัดสินคดีความแก่ศรีปราชญ์ ว่าศรีปราชญ์เป็นผู้ผิดจริง แต่โทษก็ไม่ควรถึงตาย

ศรีปราชญ์ ตายเพราะ “การเมือง”?

ภายหลังเกิดมุมมองและคำตัดสินใหม่คดีขึ้นใหม่ แก้ต่างให้ศรีปราชญ์เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดโดยสิ้นเชิง แต่ต้องมาตายเพราะการกลั่นแกล้งทางการเมือง ถึงแม้ว่าคำตัดสินของเจ้าเมืองถือเป็นสิ้นสุด แต่เมื่อมันกลายเป็นตำนานประวัติศาสตร์ ผู้คนก็จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาตัดสินใหม่ได้เสมอ เพราะคำตัดสินของนักประวัติศาสตร์ไม่ใช่จุดสิ้นสุดอยู่แล้ว และนั่นก็เป็นที่มาของโคลงที่ว่า :

“ธรณีนี่นี้   เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์   หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร   เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง   ดาบนี้คืนสนองฯ”

อาจารย์ปิยชาติ สึงตี ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของเมืองท่าปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ระหว่างพ.ศ.2133-2231” [7] ได้วินิจฉัยมูลเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การประหารคนที่ถูกส่งตัวไปจาก อยุธยา อย่างเช่นศรีปราชญ์หรือใครก็ตาม ก็เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่าง อยุธยา (ส่วนกลาง) กับนครศรีธรรมราช (หัวเมืองชายขอบ) คือการต่อต้านกรุงศรีรูปแบบหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำในหัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งก็ดูจะสมเหตุสมผลเมื่อมองย้อนกลับไปถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ผู้สถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนครราชสีมาและนครศรีธรรมราช

การที่พระเจ้าเสือให้ประหารเจ้านคร จากกรณีศรีปราชญ์ จึงถือเป็นการกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือผู้ที่ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจในเรื่องความจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง ด้วยเกรงจะทำเยี่ยงอย่างเหมือนเจ้านครคนก่อน แง่นี้ศรีปราชญ์ก็จึงคือผู้บริสุทธิ์แต่ถูกกลั่นแกล้งมากขึ้นไปอีก ตายเพราะ “ความซวย” ที่ดันมาอยู่ตรงกลางระหว่างอำนาจของศูนย์กลางกับชายขอบ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการประหารชีวิตศรีปราชญ์ จะมีเหตุมาจากความ “เจ้าชู้ทำโคลง” หรือเพราะความขัดแย้งระหว่างกรุงศรีกับหัวเมือง หากเจ้านครไม่ลงโทษประหารศรีปราชญ์ ให้จำคุกไว้ เจ้านครก็ไม่ต้องโดนประหารเช่นเดียวกัน จะเป็นดาบเล่มเดียวกันจริงหรือไม่ ก็ไม่สำคัญอีก เพราะ “ดาบ” ในวัฒนธรรมแบบไทยถือเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจต่อชีวิตอยู่แล้ว “ดาบ” ที่ว่าอาจหมายถึงโทษประหารนั่นเอง

พันท้ายนรสิงห์ กับการปรากฏตัวในพระราชพงศาวดาร

อีกกรณีที่น่าเปรียบเทียบกัน คือกรณีของ “พันท้ายนรสิงห์”

เรื่องของพันท้ายนรสิงห์ ต่างจากเรื่องของศรีปราชญ์ทั้งด้านเอกสารหลักฐานและเนื้อเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ไม่มีหลักฐานในเอกสารคำให้การ แม้เรื่องจะดูเป็นตำนานมากกว่าประวัติศาสตร์ แต่ก็กลับปรากฏในพระราชพงศาวดาร ที่ร้ายกว่านั้นก็คือการปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับชำระสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว  ไม่มีเรื่องในพระราชพงศาวดารฉบับสมัย อยุธยา

ภาพยนตร์ พันท้ายนรสิงห์
ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

กรณีพันท้ายนรสิงห์ตามเนื้อเรื่องพระราชพงศาวดาร ระบุว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือเช่นเดียวกับเรื่องของศรีปราชญ์ จะเพราะเหตุว่าพระเจ้าเสือเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นที่ไม่โปรดปรานแก่ชนชั้นนำในต้นรัตนโกสินทร์ จึงหยิบยกเอาเรื่องนี้มาบั่นทอนบุญบารมีของพระเจ้าเสือที่ไปประหารคนดี  ผลักให้พระเจ้าเสือเป็นผู้ร้ายไปอย่างสมบูรณ์

เรื่องอะไรที่ดูเป็นเกียรติประวัติในรัชกาล ผู้ชำระพระราชพงศาวดารก็พอใจจะ“ก็อปปี เพสต์” ไปยกให้เป็นของช่วงสมัยก่อนสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดยเฉพาะในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ไปเสียหมด  ไม่เว้นแม้แต่เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา จึงกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่พระเจ้าแผ่นดินจะมาทรงแต่งเพลงยาวกล่าวถึงความวิบัติล่มสลายต่างๆ นานาในยุคสมัยของพระองค์

ว่าตามความในพระราชพงศาวดาร พันท้ายนรสิงห์เป็นผู้ผิดทำเรือพระที่นั่งเอกชัยหักจริง เพราะคลองโคกขามที่ทรงเสด็จจะไปออกปากน้ำสาครบุรีนั้น “คลองที่นั่นคดเคี้ยวนักแลพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที และศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระแทกกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ” [8]

หลังกรณีพันท้ายนรสิงห์ ก็มีการขุดลอกคลองโคกขาม โดยประเด็นเหตุผลของการขุดปรับปรุงคลองนี้ไม่ให้คดเคี้ยวและตื้นเขินก็เพื่อประโยชน์ต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก เพราะใช้เป็นทางออกไปสู่ย่านบริเวณปากน้ำสาครบุรี แต่เหตุผลเรื่องนี้ก็ไม่เป็นที่ทราบแพร่หลาย จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการเติมเหตุผลเข้าไปให้แก่การขุดคลอง คือวีรบุรุษบ้านๆ ซื่อๆ อย่างพันท้ายนรสิงห์ ทั้งๆ ที่ความผิดฐานทำหัวเรือพระที่นั่งหักนั้น  ไม่ถือเป็นความผิดของนายท้ายเรือเพียงคนเดียว เพราะคนคัดเรือนั้นมีหลายคน (ไม่เชื่อก็ลองพลิกดูในประชุมกฎหมายตราสามดวงเอาเองเถิด)

แต่แม้จะมีความผิดจริง ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์หรือไม่ใช่ความผิดร้ายแรงเหมือนศรีปราชญ์ พันท้ายนรสิงห์สมควรถูกประหารเพื่อผดุงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทกฎหมาย หรือตัวบทกฎหมายนั้นมันมีปัญหากันแน่  การทำเรือหักจึงต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงเอาผิดแล้วก็ตาม และแม้พระราชพงศาวดารอันเป็นผลจากการชำระอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่ต้องการ “ถล่มพระเกียรติ” ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงอย่างใดก็ตาม สิ่งที่ประหารคนดีเช่นพันท้ายนรสิงห์ ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน หากแต่เป็น “บทพระอัยการ”

สมมติว่าไม่มีโทษประหาร คนดีเช่นพันท้ายนรสิงห์ก็ไม่ต้องตาย พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีก็อาจได้คนดีคนซื่อสัตย์ไว้ในแผ่นดิน ดีกว่าตายกลายเป็นศาลอยู่ริมคลอง พันท้ายนรสิงห์ไม่ขอใช้สิทธิพิเศษในฐานะขุนนางคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน ขณะที่ศรีปราชญ์มีการขอใช้สิทธิลดหย่อนโทษ แต่ไม่เป็นผล

ทั้งศรีปราชญ์และพันท้ายนรสิงห์ ต่างเป็นขุนนางคนโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีเรื่องปรากฏเป็นที่ทรงจำรับรู้ แต่หากเป็นคนธรรมดาสามัญก็คงเลือนหายไปกับกาลเวลา กระนั้นแม้ในยุคที่ไม่มีสื่อ ไม่มีโซเชียลมีเดีย ศรีปราชญ์ก็ยังต้องโพสต์สเตตัสก่อนตาย โดยการใช้หัวแม่เท้าเขียนโคลงลงบนพื้นดิน ยืนยันว่าตนไม่ผิด ในขณะที่พันท้ายนรสิงห์ก็เปิดอินสตาแกรมเซลฟีและเช็คอินไว้ริมคลอง เพื่อบอกกล่าวถึงความผิดของตนเอง คุณธรรมที่เด่นชัดของพันท้ายนรสิงห์ไม่ใช่ความซื่อสัตย์ หากแต่คือความจงรักภักดี ที่ต้องการตายเพื่อให้พระเจ้าเสือมีกิติศัพท์ว่ามีความเที่ยงธรรม ให้ความสำคัญแก่การยึดถือขื่อแปของบ้านเมืองเหนือพวกพ้อง

สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถตัดสินใครเป็นคนดีหรือเลวเต็มขั้นได้จากความผิดที่ทำหรือไม่ทำได้จริงๆ หรอก เพราะความผิดบางอย่างโดยเฉพาะขั้นร้ายแรงนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาในสังคมแวดล้อมบุคคลผู้นั้นด้วย ไม่อาจถือเป็นความผิดของปัจเจกบุคคลล้วนๆ แต่อย่างใด การประหารชีวิตจึงไม่เพียงไม่แก้ปัญหา ยังเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหานั้นยังคงอยู่และสืบทอดเป็น “วัฏจักรความรุนแรง” ในสังคมต่อไป บางเรื่องก็ควรแก้ไขตามความเหมาะสมของยุคสมัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

[1] คำให้การชาวกรุงเก่า. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546), หน้า 115.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 115-116.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 116.

[4] กรณีนี้เคยทำให้เกิดความสับสนขึ้นว่า  ศรีปราชญ์เป็นคนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์หรือพระเจ้าเสือกันแน่  เพราะตำแหน่งนาม “พระโหราธิบดี” ชวนให้ระลึกถึงพระโหราธิบดีผู้เป็น 1 ใน 4 อาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์  และเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ  แต่ด้วยความที่ “พระโหราธิบดี” ก็เป็นชื่อตำแหน่งไปอีก  ก็จึงอาจเป็นพระโหราธิบดีในรัชกาลพระเจ้าเสือก็ได้

ที่แน่ๆ หลักฐานที่มีคือ เอกสารคำให้การฯ ระบุแน่ชัดว่าศรีปราชญ์เป็นคนในรัชกาลพระเจ้าเสือ  ยังไม่นับปัญหาว่า ศรีปราชญ์ในตำนานกับศรีปราชญ์ผู้แต่งโคลง “กำสรวลสมุทร” เป็นคนเดียวกันหรือไม่  และศรีปราชญ์ผู้แต่งโคลงดังกล่าวนี้เป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือคือเจ้าฟ้าน้อย (พระเยาวราช) ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์กันแน่  ที่แน่ๆ จากเอกสารคำให้การฯ ก็ให้ร่องรอยอยู่โดยนัยถึงเรื่องนี้อยู่ว่า  ศรีปราชญ์เป็นสมญานามที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน  สำหรับคนที่มีความสามารถทางโคลงกลอน

ดังนั้น จึงอาจมีทั้งศรีปราชญ์สมัยอยุธยาตอนต้น ศรีปราชญ์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ และศรีปราชญ์ในรัชกาลพระเจ้าเสือ  ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น  แต่ศรีปราชญ์ตามเรื่องที่เรารู้จักกันนั้น  คือคนในรัชกาลพระเจ้าเสือ

[5] คำให้การขุนหลวงหาวัด. (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549), หน้า 77.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 77.

[7] ปิยชาติ สึงตี. “การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของเมืองท่าปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ระหว่างพ.ศ.2133-2231” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, 2550.

[8] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเลย์. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โฆษิต, 2549), หน้า 381.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2561